Rocket Media Lab คำนวณใหม่ เขตเลือกตั้งเปลี่ยนแค่ไหน เมื่อลบผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก
Highlight
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งคำนวณจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต
- ตัวเลขที่ กกต. ใช้คำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัด ในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า มีจำนวนประชากร 66,090,475 คน โดยในจำนวนนี้ ได้รวมประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยไว้ 801,073 คนด้วย
- Rocket Media Lab จึงจำลองการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด โดยใช้ตัวเลขประชากรที่ลบจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยออกไป พบว่าจำนวน ส.ส. ที่ได้ตามหลักการปัดเศษมีเพียง 397 คน จึงนำเอาจังหวัดที่มีตัวเลขทศนิยมใกล้ 0.5 มากที่สุด ซึ่งทำให้ได้ ส.ส. ครบ 400 คน
- เมื่อนำจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดตามการคำนวณของ กกต. และการคำนวณเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย มาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่า มี 6 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แตกต่างกัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครศรีธรรมราช ปัตตานี และอุดรธานี
จากกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งคำนวณจำนวน ส.ส.เขต จากเดิม 350 เขต เป็น 400 เขต โดยต่อมา สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการคำนวณจำนวน ส.ส. ของ กกต. โดยอาจนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วยนั้น ล่าสุด กกต. ออกมาชี้แจงว่า มีการคำนวณเช่นนี้มาโดยตลอด ตั้งแต่ปี 2558 พร้อมอ้างอิงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สอดคล้องกับ กกต. ระบุว่า การคำนวณจำนวนราษฎรนั้น ต้องคิดรวมคนที่อาศัยอยู่โดยชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสัญชาติไทย และไม่ว่าจะมีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่
ด้วยเหตุนี้ Rocket Media Lab จึงได้ทำการคำนวณ ด้วยการนำตัวเลขจำนวนประชากรที่ “ตัดผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย” ออก เพื่อดูความแตกต่างจากเวอร์ชั่นของ กกต.
เวอร์ชันตัดผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก
เมื่อพิจารณาตัวเลขที่ กกต. ใช้คำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัด ในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า มีการนำข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง กระทรววงมหาดไทย เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน โดยในจำนวนนี้ ได้รวมประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยไว้ 801,073 คนด้วย อย่างไรก็ตาม มาตรา 95 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติไว้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย
Rocket Media Lab จึงจำลองการแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด โดยใช้ตัวเลขประชากรที่ลบจำนวนประชากรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยออกไป และพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ ดังนี้
เมื่อคำนวณจำนวน ส.ส. จากการใช้ตัวเลขประชากรเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยทั้งประเทศ จำนวน 65,289,402 คน หารด้วยเขตจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด 400 เขต จะได้ผลลัพธ์ประชากร 163,233.505 คนต่อ ส.ส. 1 เขต
จากนั้นนำผลลัพธ์ประชากร 163,223.505 คน ไปหารจำนวนประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทยแต่ละจังหวัด ก็จะได้ผลลัพธ์เป็นจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตาม เมื่อหารแล้วและใช้วิธีการปัดเศษทศนิยมตามหลักการปัดเศษเพื่อให้ได้จำนวนเต็ม (หลักทศนิยม 0.5 ขึ้นไปถึงจะปัดเป็นจำนวนเต็ม) พบว่าจำนวน ส.ส. ที่ได้ตามหลักการปัดเศษมีเพียง 397 คน
ดังนั้น Rocket Media Lab จึงนำเอาจังหวัดที่มีตัวเลขทศนิยมใกล้ 0.5 มากที่สุด สามจังหวัดแรก มาปัดขึ้น เพื่อให้ได้จำนวนเต็ม คือ แม่ฮ่องสอน จาก 1.48 คน เป็น 2 คน นครศรีธรรมราช จาก 9.45 คน เป็น 10 คน และปัตตานี จาก 4.48 คน เป็น 5 คน ซึ่งทำให้ได้ ส.ส. ครบ 400 คน ตามจำนวน ส.ส. เขตในการเลือกตั้งครั้งนี้
เมื่อนำจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดตามการคำนวณของ กกต. และการคำนวณเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น มาเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏว่า มี 6 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.แตกต่างกัน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ตาก นครศรีธรรมราช ปัตตานี และอุดรธานี
โดยจังหวัดที่คำนวณแล้วได้จำนวน ส.ส.น้อยกว่าการคำนวณของ กกต. มี 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลดลงจาก 11 เป็น 10 คน เชียงรายลดลงจาก 8 เป็น 7 คน ตาก ลดลงจาก 4 เป็น 3 คน โดยทั้งสามจังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่มีจำนวนผู้ที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมากที่สุด ได้แก่ เชียงใหม่มี 152,425 คน เชียงรายมี 130,278 คน และตากมี 133,631 คน
ส่วนจังหวัดที่คำนวณแล้วได้จำนวน ส.ส. มากกว่าการคำนวณของ กกต. มี 3 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี นครศรีธรรมราช และปัตตานี โดยหากคำนวณเฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย จังหวัดอุดรธานีมี ส.ส.เพิ่มขึ้นจากการคำนวณของกกต. เพิ่มจาก 9 เป็น 10 คน นครศรีธรรมราช เพิ่มจาก 9 เป็น 10 คน และปัตตานี เพิ่มจาก 4 เป็น 5 คน
นอกจากนี้ยังมีอีก 1 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน ซึ่งเมื่อคำนวณจากตัวเลขประชากรเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยได้จำนวนเท่ากับของ กกต.
จำนวน ส.ส. ที่ต่างกันจากวิธีการคำนวณ 2 แบบ มีนัยสำคัญหรือไม่
เมื่อย้อนดูผลการเลือกตั้งในปี 2562 (ซึ่งมีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ 350 คน) ในพื้นที่ 6 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส. แตกต่างกันจากการใช้วิธีการคำนวณ ส.ส. สองเวอร์ชั่น พบว่า
กลุ่มที่ 1 ที่การคำนวณในเวอร์ชั่นของ กกต. ทำให้มีจำนวน ส.ส. มากขึ้นกว่าการคำนวณโดยใช้ประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย มีความน่าสนใจดังนี้
เชียงราย
ในการเลือกตั้งปี 2562 จากทั้งหมด 7 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยครอง 5 ที่นั่ง ได้แก่ 1) วิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ 2) วิสาร เตชะธีราวัฒน์ 3) รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ 4) พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน 5) ละออง ติยะไพรัช และพรรคอนาคตใหม่ 2 ที่นั่งได้แก่ 1) เอกภพ เพียรพิเศษ ซึ่ง และพีรเดช คำสมุทร
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 7 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 8 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 7 ที่นั่ง
เชียงใหม่
ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 9 ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ 1) ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ 2) นพคุณ รัฐผไท 3) จักรพล ตั้งสุทธิธรรม 4) วิทยา ทรงคำ 5) สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ 6) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ 7) ประสิทธิ์ วุฒินันชัย 8 ) สุรพล เกียรติไชยากร 9) ศรีเรศ โกฎคำลือ
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 9 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 11 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง
ตาก
ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 3 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐ ครอง 2 ที่นั่ง ได้แก่ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ และภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งคือ ภาคภูมิ บูลย์ประมุข
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 3 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 3 ที่นั่ง
กลุ่มที่ 2 ที่การคำนวณในเวอร์ชั่นของ กกต. ทำให้มีจำนวน ส.ส. น้อยลงกว่าการคำนวณโดยใช้ประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย มีความน่าสนใจดังนี้
อุดรธานี
ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 8 ที่นั่งเป็นของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ 1) ศราวุธ เพชรพนมพร 2) อนันต์ ศรีพันธุ์ 3) ขจิตร ชัยนิคม 4) อาภรณ์ สาราคำ 5) จุฑาพัตธน์ เมนะสวัสดิ์ 6) จักรพรรดิ ไชยสาส์น 7) เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม 8 ) เทียบจุฑา ขาวขำ
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 8 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 9 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง
นครศรีธรรมราช
ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 8 ที่นั่ง แบ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์ 5 ที่นั่ง ได้แก่ 1) เทพไท เสนพงศ์ 2) ประกอบ รัตนพันธ์ 3) ชินวรณ์ บุณยเกียรติ 4) ชัยชนะ เดชเดโช 5) พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และพรรคพลังประชารัฐ 3 ที่นั่งได้แก่ 1) รงค์ บุญสวยขวัญ 2) สัณหพจน์ สุขศรีเมือง 3) สายัณห์ ยุติธรรม
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 8 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 9 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 10 ที่นั่ง
ปัตตานี
ในการเลือกตั้งปี 2562 ทั้งหมด 4 ที่นั่ง แบ่งเป็น พรรคประชาชาติ 2 ที่นั่งได้แก่ 1) อนุมัติ ซูสารอ และ 2) สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ พรรคประชาธิปัตย์ 1 ที่นั่งได้แก่ อันวาร์ สาและ และพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่งได้แก่ อับดุลบาซิม อาบู
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 4 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 4 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 5 ที่นั่ง
กลุ่มที่ 3 ที่การคำนวณในเวอร์ชั่นของ กกต. และเวอร์ชั่นจากการคำนวณโดยใช้ประชากรเฉพาะที่มีสัญชาติไทย ได้จำนวน ส.ส. เท่ากัน มีความน่าสนใจดังนี้
แม่ฮ่องสอน
ในการเลือกตั้งปี 2562 มีจำนวน ส.ส. 1 ที่นั่งเป็นของปัญญา จีนาคำ พรรคพลังประชารัฐ
- จำนวน ส.ส. ‘62 : 1 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น กกต. : 2 ที่นั่ง
- จำนวน ส.ส. ‘66 เวอร์ชั่น เฉพาะสัญชาติไทย : 2 ที่นั่ง
จังหวัดใดมี ส.ส .เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 บ้างถ้ายึดตามเวอร์ชั่นของ กกต.
เมื่อเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน แต่ในปี 2566 มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งสิ้น 400 คน พบว่า มี 43 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น โดยกรุงเทพฯ มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมากที่สุด 3 คน จาก 30 คนเป็น 33 คน รองลงมา เพิ่มขึ้นจังหวัดละ 2 คน คือ นนทบุรี จาก 6 เป็น 8 คน ชลบุรี จาก 8 เป็น 10 คน นครราชสีมา จาก 14 เป็น 16 คน บุรีรัมย์ จาก 8 เป็น 10 คน และเชียงใหม่จาก 9 เป็น 11 คน
และจังหวัดที่มี ส.ส. เพิ่มขึ้น 1 คน มี 37 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย ตรัง ตาก นครนายก นครปฐม นครศรีธรรมราช นราธิวาส บึงกาฬ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระยอง เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี