“เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน” กระตุกคำถามคุณภาพชีวิตคนทำงานในสื่อไทย
อีกหนึ่งข่าวที่ร้อนแรงสนั่นโซเชียลในตอนนี้ คือข่าวการเสียชีวิตของคนเบื้องหลัง “วงการทีวี” ที่แม้จะป่วย แต่ก็ต้องไปทำงาน จนเสียชีวิตที่โต๊ะทำงาน สร้างความสะเทือนใจให้กับคนในแวดวงสื่อมวลชน และเป็นอีกครั้งที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์เรื่องการทำงาน พร้อมตั้งคำถามเรื่องเวลาทำงานที่ “อาจจะ” หนักมากเกินไปหรือเปล่า
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ เฟสบุ๊กแฟนเพจ “จอดับ” ได้โพสต์ข้อความระบุถึงข่าวการเสียชีวิตของคนในวงการโทรทัศน์ท่านหนึ่ง ผู้ทำหน้าที่ในฝ่ายจัดทำผังรายการ ซึ่งต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้นมากในยุคดิจิทัล ต้องคอยปรับแก้ผังรายการที่มีรายละเอียดเยอะ ทั้งยังต้องทำงานนี้อยู่คนเดียว และทำควบช่องทีวีถึง 2 ช่อง โดยไม่เคยมีการหาคนมาช่วยแบ่งเบาภาระงานในมือ โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า
“ในแต่ละวัน เขาต้องทำงานเกินเวลา และแต่ละสัปดาห์ก็ทำงานเกิน 5 วัน บางสัปดาห์ซัดไป 7 วันรวด พอนานไปร่างกายก็เริ่มแย่ มีอาการป่วย พอลาหยุด ลาป่วย ไปได้แค่สองวัน ก็โดนโทรจิกตามให้รีบกลับมาทำผังรายการ”
ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเสียชีวิต แต่ข้อเท็จจริงคือ พนักงานรายดังกล่าวเสียชีวิตที่โต๊ะทำงานของตัวเอง โดยฟุบอยู่ที่โต๊ะตั้งแต่คืนวันศุกร์ คนที่ผ่านไปผ่านมาคิดว่าเขากำลังนอนหลับ จึงไม่มีใครเข้ามาปลุก จนกระทั่งแม่บ้านมาพบตอนเช้ามืดของวันเสาร์ และพบว่าร่างนั้นไม่มีลมหายใจแล้ว จากโพสต์ดังกล่าวของเพจ ก็มีชาวเน็ตเข้ามาคอมเมนต์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานหนักในวงการโทรทัศน์ไทย พร้อมสะท้อนปัญหา “คนน้อยแต่งานหนัก” จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนทำงาน
ต่อมาธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของสื่อมวลชนคนดังกล่าว พร้อมยื่นข้อเรียกร้องต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.ขอให้สำนักข่าวต้นสังกัดของสื่อมวลชนที่เสียชีวิต เยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิตตามสิทธิ์ที่พึงได้รับ พร้อมกับสอบสวนที่มาของเหตุดังกล่าว และออกมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบเหตุที่เกิดขึ้น เพื่อหาข้อสรุปว่ากระบวนการทำงานของสำนักข่าวดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และหลักปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่
จากการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักมากถึง 745,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานมากกว่าสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมง และเป็นผู้ชายมากกว่า 72% อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าคนที่ทำงานหนัก จะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตทันที หรือเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในเวลาไม่นาน เพราะ WHO พบว่าคนที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักในช่วงอายุ 60 - 79 ปี เป็นคนที่เคยทำงานหนักมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตั้งแต่ช่วงอายุ 45 - 74 ปี ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้เสียชีวิต แต่การทำงานหนักก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นกัน โดยการทำงานหนักเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 17% และเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นเส้นเลือดในสมองแตก 35%
ทั้งนี้ ตามกฎหมายแรงงานของประเทศไทย ได้ระบุว่า เวลาทำงานของงานทั่วไป ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในระหว่างทำงานต้องมีเวลาพัก ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน