ผู้แทนยูเอ็น ห่วงสิทธิชุมนุมเยาวชนไทย! แอมเนสตี้เผยเด็กโดนรัฐรังแกสารพัด

ผู้แทนยูเอ็น ห่วงสิทธิชุมนุมเยาวชนไทย! แอมเนสตี้เผยเด็กโดนรัฐรังแกสารพัด

ผู้แทนยูเอ็น ห่วงสิทธิชุมนุมเยาวชนไทย! แอมเนสตี้เผยเด็กโดนรัฐรังแกสารพัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายเกลมองต์ วูล ผู้รายงานพิเศษขององค์กรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการรวมกลุ่ม กล่าวเมื่อวันพุธ (8 ก.พ.) ว่าสิทธิการชุมนุมชองเยาวชนไทยโดยเฉพาะของเยาวชนไทยอยู่ในระดับน่ากังวล

"ประเทศไทยเองเนี่ยเป็นประเทศหนึ่งที่มีสถานการณ์ที่ค่อนข้างน่ากังวล" นายวูล กล่าว

ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นรายนี้ กล่าวในการเสวนาดังกล่าวที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระดับโลก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดขึ้น อีกว่า ที่ผ่านมา โดยเฉพาะระหว่างการชุมนุมของเยาวชนเมื่อปี 2563-2565 พบว่าภาครัฐของไทยนำระเบียบและข้อกฎหมายหลายอย่างมาใช้ต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชน ซึ่งระเบียบและข้อกฎหมายเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความคิดเห็นและสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ

"ผมได้ติดต่อกับภาครัฐเพื่อแสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อมาตรการต่างๆ ที่ทำให้เด็กหรือทำให้คนที่เข้าไปประท้วง ภาคประชาสังคม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับรัฐบาลและสถาบันต่างๆ ไม่ได้ และยังเรียกร้องสิทธิทางสังคมโดยทั่วไป เช่น เรื่องโควิด-19 ไม่ได้ และมีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมเมื่อมีเด็กและนักเรียนเข้าไปชุมนุม เราได้เห็นการจับกุมผู้ชุมนุมและใช้อาวุธต่อผู้ชุมนุม"

นายวูลให้ความเห็นต่อไปว่า การชุมนุมโดยสงบของเยาวชนเป็นสิ่งที่องค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญ เพราะมองว่าเยาวชนเหล่านี้เป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญของสังคม แต่เป็นกลุ่มที่ไม่มีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ดังนั้นการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นวิธีที่คนกลุ่มนี้เลือกใช้ เพื่อส่งเสียงไปยังสังคมและเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง

"เด็กสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและประชาธิปไตยได้ ซึ่งเป็นโอกาสให้เด็กมีโอกาสยืนหยัดเพื่อสิทธิตัวเอง ของผู้ใหญ่ และของสังคม เพราะฉะนั้นจึงควรปกป้องสิทธิของเด็กในการเข้าชุมนุมโดยสงบและจัดการชุมนุมโดยสงบ" นายวูล กล่าว

ภาครัฐกดดันผู้ชุมนุมเยาวชนผ่านสารพัดวิธี

นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เผยรายงานฉบับหนึ่งของแอมเนสตี้ ที่ศึกษาถึงการกดดันหรือกลั่นแกล้งของภาครัฐต่อเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองทั้งทางตรงทางอ้อม

นักวิจัยรายนี้เผยว่า รายงานดังกล่าวได้ข้อมูลมาจากการพูดคุยกับเยาวชน 30 คนที่เข้าร่วมชุมนุม ซึ่งมีความหลากหลายทั้งเพศวิถี ภูมิลำเนา และชาติพันธุ์ จากหน่วยงานของรัฐ และจากทนายความ โดยมีการตรวจสอบคำบอกเล่าเหล่านี้ผ่านเอกสารของรัฐ ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคม และการรายงานข่าวของสื่อมวลชน

หนึ่งในเรื่องที่น่าตกใจที่รับรู้มาและระบุไปในรายงานฉบับดังกล่าว คือ นอกจากรัฐใช้ความรุนแรงหรือละเมิดต่อเยาวชนกลุ่มนี้แล้ว ยังพบว่ามีการกดดันทางอ้อมไปยังสถาบันหรือกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกับเยาวชนกลุ่มนี้ ทั้งครอบครัว และโรงเรียน ซึ่งพบว่าโรงเรียนหนึ่งนำข้อมูลส่วนตัวของเยาวชนไปแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐทราบ

"เราพบว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐนะครับหลายครั้ง มีการใช้แรงกดดันทางอ้อมผ่านครูบ้าง ผ่านผู้ปกครองบาง ในการขัดขวางไม่ให้เด็กเข้าชุมนุม เราพบนะครับในหลายกรณีว่าครูในโรงเรียนเนี่ย ใช้วิธีการข่มขู่นักเรียน อย่างเช่น ข่มขู่จะว่าจะหักคะแนน ข่มขู่ว่าจะไล่ออกนะครับ หรือว่าจะใช้ความรุนแรงลงโทษนักเรียนด้วยซ้ำ โดยบอกว่าถ้าไปร่วมชุมนุมจะถูกลงโทษอย่างนี้ในอนาคตอีก หรือว่าบางทีเนี่ยก็ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลนะครับ หรือว่าอาจจะข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีกับเด็ก" นายชนาธิป กล่าว

นายชนาธิป กล่าวถึงกรณีหนึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ว่า "น้องถูกคุกคามมาตลอดการเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวตอนที่ยังเป็นนักเรียนมัธยมอยู่นะครับ แล้วก็ในช่วงปี 63 เนี่ย ตำรวจมีแม้กระทั่งว่าส่งคลิปวิดีโอที่น้องปราศรัยไปให้คุณแม่ จนเกิดแรงกดดันในครอบครัวอย่างมาก แล้วก็สุดท้ายเนี่ยน้องถูกผู้ปกครองทำร้าย ยึดค่าขนม ยึดโทรศัพท์ จนต้องออกจากบ้านไป"

กฎหมายคุ้มครองเยาวชนมีแล้วแต่รัฐไม่บังคับใช้

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ประธานมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ลงนามอนุสัญญาของยูเอ็นว่าด้วยสิทธิเด็ก และที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายกรณี ส่วนกฎหมายหลายฉบับก็บัญญัติให้ภาครัฐคุ้มครองสิทธิเยาวชนนานแล้ว แต่กลไกเหล่านี้ไม่ได้ทำงานอย่างเต็มที่หรือไม่ได้นำมาบังคับใช้เลย

"ในทางปฏิบัติเนี่ย ไม่ได้มีการเน้นย้ำตรงนี้นะครับ ทำให้ข้อเรียกร้องหลายๆ อย่างเนี่ยของเด็ก อันนี้ผมยกตัวอย่างนักเรียนก็แล้วกันนะ นักเรียนนักศึกษาก็ต้องมาตั้งคำถามกับระเบียบวินัยในการศึกษาว่าจริงๆ แล้วมันเป็นไปเพื่อประโยชน์จริงๆ ของเด็กรึเปล่า ไอ้การที่คุณมายุ่งกับเรื่องเครื่องแต่งตัวนั่นนี่ มันทำให้เด็กได้รับการศึกษาดีขึ้นเหรอ หรือเปล่า หรือเป็นความต้องการของผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง" นายสรรพสิทธิ์ กล่าว

"แต่ตอนเนี้ย รู้สึกภาครัฐไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเด็กที่จะได้รับพัฒนา แต่ไปปฏิบัติต่อเด็กเหมือนประชาชนทั่วไป"

เยาวชนลั่นคดีการเมืองตอกย้ำต้องปฏิรูประบบยุติธรรม

เพชร-ธนกร ภิรบัน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน วัย 20 ปี เผยว่า ตนเป็นคนหนึ่งที่ถูกภาครัฐดำเนินด้วยข้อกล่าวหาในคดีร้ายแรง ในช่วงการชุมนุมที่มีเยาวชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

"ผู้พิพากษาหรือหรือนักจิตวิทยาที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมหรือบทบาทเกี่ยวกับคดีเพชรเนี่ย เขามองว่าสิ่งที่เพชรทำอะ มันเป็นเสรีภาพ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ มันเป็นความเห็นต่าง สุดท้ายมันทำให้เยาวชนอะค่ะเสียเวลาในการมาศาล อันนี้ก็ต้องพูดตรงๆ เลยว่าคดีเด็กและเยาวชนค่อนข้างจะมาศาลบ่อยมากกว่าผู้ใหญ่ที่โดนนะคะ แล้วก็จะมีความกดดันในเรื่องของผู้ปกครองในบางครั้งที่ผู้ปกครองมีความเห็นต่าง" เพชร กล่าว

"หรือในบางเคสก็อาจจะถูกคุกคามตามถึงบ้าน ซึ่งอันนี้ก็เจอมาแล้วโดยส่วนตัว คือตำรวจไปเคาะประตูบ้านนะคะ ก็เจอมาแล้วนะคะ"

เยาวชนอีกคนหนึ่งที่ถูกรัฐดำเนินคดี และมาร่วมเสวนาด้วย เผยว่า จุดเริ่มต้นคือการเรียกร้องกับโรงเรียนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ขอโทษจากการคุกคามผู้เข้าร่วมค่ายด้านสิทธิมนุษยชนที่ตนและเพื่อนจัด

"มีเจ้าหน้าที่ค่ะไปคุกคามเพื่อนหรือผู้เข้าร่วมค่ายในตอนนั้น แล้วมันก็มีการให้ข้อมูลส่วนตัวจากทางโรงเรียนอะไรอย่างเงี้ยค่ะ พอทางเรารับรู้ปัญหาตรงนี้ แล้วเพื่อนเราก็ประสบปัญหาตรงที่ว่าทางเจ้าหน้าที่ไปถึงที่บ้านเอง แล้วก็ได้รับแรงกดดันจากผู้ปกครองด้วย แล้วก็ต้องมารับรู้ด้วยว่าทางโรงเรียนที่มีข้อมูลส่วนตัวของเราอะค่ะ เอาข้อมูลของเราไปเผยแพร่ต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยที่เราไม่ยินยอม" เยาวชนคนดังกล่าว เล่า

"แค่ไปเรียกร้องให้ไปแสดงความรับผิดชอบตอนนั้นก็ถูกดำเนินคดีไปเป็นคดีแรกค่ะ"

"หลังจากนั้นก็โดนมาอีก 11 คดี" ผู้ดำเนินการเสวนา กล่าวเสริม

"ใช่ค่ะ"

เยาวชนรายนี้ กล่าวต่อไปว่า การถูกดำเนินคดีไม่ได้ให้บทเรียนอะไรกับตัวเองเลย เพราะสิ่งที่ตนทำนั้นไม่ผิด การถูกดำเนินคดีไม่ใช่สิ่งที่ตนอยากให้เกิดและมองว่าไร้ประโยชน์ ทั้งยังยืนยันได้ถึงความล้มเหลวของรัฐบาลและระบบยุติธรรมอย่างยิ่ง และการที่เยาวชนถูกกลั่นแกล้งเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

แอมเนสตี้ไทยเดินหน้าดันสิทธิเด็กกับทุกพรรค

นางสาวฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานคณะกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ไทยมีการพูดคุยและผลักดันประเด็นเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมโดยสงบของประชาชนและเยาวชนต่อพรรคการเมืองและหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว เช่น การจัดเวทีดีเบตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2565 และคาดว่าจะใช้รูปแบบคล้ายกันนี้กับการดีเบตก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2566

นางสาวปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เสริมว่า ปี 2566 จะมีกิจกรรมด้านนี้จำนวนมาก แอมเนสตี้ จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองหรือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและผู้สมัคร ส.ส. ของหลายพรรค มาแสดงวิสัยทัศน์หรือพูดคุยเพื่อเสนอข้อเสนอด้วย

ไม่ใช่แค่นั้น นางสาวปิยนุช กล่าวต่อไปว่า ยังมีการทำงานร่วมกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกและเยาวชนที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อดูว่าคนกลุ่มนี้มีข้อเสนอใดบ้าง โดยแอมเนสตี้จะทำงานเป็นตัวกลางเพื่อนำข้อเสนอเหล่านี้ไปให้ถึงภาคการเมืองและผลักดันให้เกิดขึ้นจริง

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ที่ผ่านมาการพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการดูแลเยาวชนหรือเสรีภาพของประชาชนกลับเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด เช่น การจัดเวทีเสวนาของแอมเนสตี้หลายครั้งที่พบว่าตัวแทนหน่วยงานรัฐเหล่านี้แทบไม่มารับฟังข้อความของภาคประชาสังคมและกลุ่มอื่นเลย มีแต่ตัวแทนของสถานทูตต่างๆ ที่ตอบรับอย่างสม่ำเสมอ

นางสาวปิยนุช กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่รัฐทำทั้งการเพิกเฉยต่อเวทีต่างๆ และการเดินหน้าดำเนินคดีต่อเยาวชน แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและผู้มีอำนาจในประเทศมองเยาวชนอย่างไร ตนจึงอยากเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีทั้งหมดต่อเยาวชน

"ขอเถอะค่ะ ขอให้ยกเลิกดำเนินคดีอาญาทั้งปวงต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเด็ก แล้วก็ยุติการข่มขู่และการสอดแนมทุกรูปแบบ รับไม่ได้เลยที่โรงเรียนเอาข้อมูลส่วนตัวของเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วก็ที่สำคัญนะคะ ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่ากดขี่และควบคุมสิทธิในการชุมนุมประท้วงของเด็กแล้วก็การแสดงของเด็กนะคะ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนะคะ" นางสาวปิยนุช กล่าว

"ดิฉันขอแสดงความยินดีกับรัฐบาลไทยที่อยากทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติและทำให้เรามองผ่านเลยไป คุณก็มีความพยายามที่ทำเกือบสำเร็จนะคะ แต่ดิฉันขอแสดงความเสียใจกับรัฐบาลด้วยว่า เราจะไม่ยอมให้มีการลอยนวลพ้นผิด หรือการกระทำต่อเด็กเยี่ยงนี้ต่อไปนะคะ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook