โคแฟคหนุนสร้างความร่วมมือเพื่อต่อต้าน “ข้อมูลลวง” ช่วงการเลือกตั้งของไทย
Highlight
- การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลเลือกตั้ง: บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย” มีจุดประสงค์เพื่อให้ริเริ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมือง สร้างภูมิคุ้มกันของสังคมต่อข่าวปลอม และปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งของไทย
- ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรม แต่ยอมรับว่าการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในช่วงเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
- การจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง การทำลายชื่อเสียงของบุคคล หรือการสร้างความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- การปล่อยข่าวปลอมเกิดขึ้นมานาน จึงเป็นเรื่องยากที่จำกำจัดให้หายไปภายในวันเดียว ดังนั้น สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง แม้การเลือกตั้งจะจบลงไปแล้วก็ตาม
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 นักวิชาการและสื่อมวลชนจากประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เจาะ (อิทธิพล) ปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ (Online Manipulation) กับผลเลือกตั้ง: บทเรียนจากฟิลิปปินส์สู่ไทย” พร้อมสนับสนุนให้ริเริ่มการตรวจสอบข้อเท็จจริงทางการเมือง รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมต่อข่าวปลอม และปฏิบัติการข้อมูลบนโลกออนไลน์ ซึ่งคาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในปีนี้
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ร่วมจัดโดยโคแฟค (ประเทศไทย) และองค์กรภาคีเครือข่าย โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) สื่อมวลชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 50 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาแนวทางในการสร้างความรู้เท่าทันของสังคม และแสวงหาวิธีการรับมือกับปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ บิดเบือนข้อเท็จจริง รวมถึงการสร้างความเข้าใจผิดและความสับสนให้แก่ประชาชน เพื่อประโยชน์ทางการเมืองในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรม
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) กล่าวนำการประชุมว่า ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นจริงคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เป็นธรรม แต่ยอมรับว่าการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในช่วงเลือกตั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปริมาณข้อมูลที่ล้นหลาม และความพยายามในการปั่นและกระพือความขัดแย้งมีความรุนแรงขึ้น
“ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ สันติภาพ และหลักนิติธรรมในการเลือกตั้ง การเผยแพร่ข้อมูลเท็จและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นปัญหาและต้องป้องกันก็จริง แต่เราไม่เห็นด้วยกับการเซนเซอร์ ดังนั้นจึงต้องร่วมกันคิดว่าควรรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร”
ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทั้งที่เป็นประชาธิปไตยและเผด็จการ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อผลการเลือกตั้ง ดังที่เกิดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา
บทเรียนจากการเลือกตั้งฟิลิปปินส์
ควีฟ วี. อาร์เกวยเนส ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และพัฒนาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดอ ลา ซาลล์ ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทความวิชาการในรายงาน “Disinformation in the Global South 2023” ชี้ว่า การจงใจเผยแพร่ข้อมูลเท็จเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเมือง การทำลายชื่อเสียงของบุคคล หรือการสร้างความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อาร์เกวยเนสกล่าวว่า การตรวจสอบข้อเท็จจริง การสกัดข่าวลวง และการรับมือกับปฏิบัติการข้อมูลข่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะปฏิบัติการเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบในหลายระดับ และอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และบั่นทอนความสุจริตของการเลือกตั้ง ดังที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปีที่ผ่านมา
อีวอน ชัว อดีตผู้สื่อข่าว และปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ฟิลิปปินส์ เล่าประสบการณ์การก่อตั้งเว็บไซต์ www.tsek.ph ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นักวิชาการด้านสื่อและสื่อมวลชนหลายสำนักในฟิลิปปินส์ร่วมกันทำ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการเมืองในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ในปี 2019 และ 2022 ว่าเป็นตัวอย่างของความพยายามในการสกัดข่าวลวงในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
ธรรมชาติของสื่อมวลชนนั้นมีการแข่งขันกันสูง จึงเป็นเรื่องยากที่จะสร้างความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ภาควิชาการอย่างวิทยาลัยสื่อสารมวลชนของมหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์จึงเข้ามามีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มและประสานงาน จนเกิดเป็นแพลตฟอร์มตรวจสอบข้อเท็จจริง tsek.ph ขึ้น นับเป็นมิติใหม่ที่สื่อมวลชนจากหลายสำนักมาทำงานร่วมกัน โดยมีทั้งนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และภาคประชาสังคมร่วมให้การผู้สนับสนุน แม้การทำงานของ tsek.ph จะมีอุปสรรคและไม่บรรลุเป้าหมายในบางด้าน แต่เธอเชื่อว่าความริเริ่มนี้ได้พัฒนาทักษะของผู้สื่อข่าวในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลข่าวสารและการหักล้างข้อมูลเท็จ (debunk) รวมทั้งทำให้ประชาชนรู้เท่าทันข้อมูลในโลกออนไลน์มากขึ้น
“เราต้องไม่ลืมว่า การปล่อยข่าวปลอมนั้นเกิดขึ้นมาเป็นสิบปีแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะกำจัดมันได้ภายในวันเดียว สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องอย่ายอมแพ้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง แม้การเลือกตั้งจะสิ้นสุดลงไปแล้วก็ตาม” อาจารย์ชัวให้ความเห็นและย้ำว่าการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลออนไลน์เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่แค่สื่อมวลชน
เจสัน อาร์. กอนซาเลซ ผู้อำนวยการพรรคเสรีนิยม ประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่าเขาได้เห็นถึงอานุภาพของการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางออนไลน์ในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองและเพื่อชักนำทัศนคติของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เมื่อปี 2022
“ชาวฟิลิปปินส์ถูกถล่มด้วยคลื่นข้อมูลข่าวสารที่ถาโถมเข้าใส่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผมพูดได้ว่าการจงใจปล่อยข้อมูลเท็จเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุดในช่วงก่อนการเลือกตั้ง” นายกอนซาเลสกล่าว
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ปี 2022 นายกอนซาเลสเป็นกำลังสำคัญในทีมรณรงค์หาเสียงของนางเลนี โรเบรโด รองประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในขณะนั้น ซึ่งลงชิงตำแหน่งในนามอิสระ ในช่วงนั้นนางเลนีถูกโจมตีจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่นายกอนซาเลสเชื่อว่า “ลงทุนทำอย่างเป็นระบบ” อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งซึ่งผลออกมาว่านายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้รับชัยชนะ นายกอนซาเลสจึงได้ตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า BUILD Pilipinas เพื่อต่อสู้กับปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารทางการเมือง โดยคิดค้นและออกแบบวิธีการทำงานที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความพยายามในการต่อสู้กับข่าวลวงในฟิลิปปินส์
สถานการณ์โซเชียลมีเดียของไทย
ผศ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการศึกษาและสังเกตการณ์ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองในโซเชียลมีเดียของไทยในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสองส่วน คือ ปฏิบัติการควบคุมข้อมูลข่าวสารและการใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน
“เวลาที่เราบอกว่ามีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารและการควบคุมข้อมูลข่าวสาร สิ่งที่เราต้องสนใจคือ อำนาจทางการเมืองอยู่ที่ใคร ในบรรยากาศแบบนี้ อำนาจมันไม่เท่ากัน ทรัพยากรในการจ้าง การผลิต การสนับสนุนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารทางการเมืองของแต่ละฝ่ายไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเมื่อเรากังวลต่อการใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวในบริบทการเลือกตั้งไทย เราต้องถามก่อนว่าใครมีอำนาจในการทำของแบบนี้มากกว่า อำนาจรัฐอยู่ที่ไหน” ผศ.ดร.จันจิรากล่าว
ผศ.ดร.จันจิราคาดการณ์ว่า ในช่วงก่อนการเลือกตั้งปีนี้ สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ “การผสมกันของการดำเนินคดีกับผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ผู้โพสต์ข้อความ และผู้แชร์ข้อมูลที่ไม่ตรงหรือผิดกติกาตามความเห็นของ กกต. ซึ่งมักจะเป็นข้อมูลที่มาจากการตรวจสอบการเลือกตั้งที่ไม่ได้มาจากหน่วยงานรัฐ” พร้อมระบุว่า สงครามข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องปกติของการเมืองและในบริบทการเลือกตั้ง แต่สงครามข้อมูลที่อันตรายคือสงครามข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง เพราะมันนำมาซึ่งการทำลายชื่อเสียง สร้างความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามและการดำเนินคดีกับบุคคล
ดร. สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ว่าการเมืองไทยกับฟิลิปปินส์ มีความคล้ายกันตรงที่เป็นการเมืองแบบ “ตระกูลการเมือง” คือตระกูลการเมืองมีผลต่อการได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นจึงคาดได้ว่าปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่จะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 2566 จะเป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตระกูลการเมือง
ดร.สติธรยอมรับว่าการตรวจสอบความถูกต้องข้อมูลทางการเมืองในช่วงเลือกตั้งนั้นมีความยาก เนื่องจาก “การผลิตความจริง” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยคนทุกกลุ่ม ปริมาณข้อมูลหรือสิ่งที่ทุกฝ่ายต่างอ้างว่าเป็น “ความจริง” นั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ได้หยิบยกงานวิจัยเกี่ยวกับการรับข้อมูลข่าวสารในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่พบว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ความสนใจข่าวสารของผู้คนจะสูงขึ้นเสมอ
งานวิจัยยังพบอีกว่า ช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารนั้น แม้โซเชียลมีเดียจะเป็นช่องทางหลัก แต่การรับข้อมูลโดยตรงจากการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกตั้งและจากคำบอกเล่าของคนที่รู้จักข้อมูลก็มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงคะแนนอย่างมากเช่นกัน ทั้งนี้ สำหรับข้อเสนอต่อการรับมือและสกัดข่าวลวงในช่วงเลือกตั้ง ดร.สติธรกล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่หลายฝ่ายริเริ่มการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นภารกิจที่ภาควิชาการและสถาบันวิจัยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนได้