บัญญัติ ค้านแก้ รธน. แนะ ปชป.อย่าทิ้งหลักการ

บัญญัติ ค้านแก้ รธน. แนะ ปชป.อย่าทิ้งหลักการ

บัญญัติ ค้านแก้ รธน. แนะ ปชป.อย่าทิ้งหลักการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บัญญัติ คัดค้านแก้รธน.เหตุเงื่อนไขเปลี่ยน หลังฝ่ายค้านถอนตัว ไม่มีทางสร้างความสมานฉันท์ได้ แนะปชป.อย่าทิ้งหลักการ แลกกับเสถียรภาพของรัฐบาล

การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่บ้านพักของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นตามมติของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยยอมลดเงื่อนไขให้แก้เพียงสองประเด็นในมาตรา 190 และการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก่อน โดยที่ประชุมประเมินว่าเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคร่วมรัฐบาลทีเห็นว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะที่อ่อนแอ มักจะเสนอเงื่อนไขขึ้นมาต่อรองเพื่ออ้างเสถียรภาพของรัฐบาล และเป็นห่วงว่าหากรัฐบาลไม่สามารถประคองสถานการณ์ได้จนถึงขั้นยุบสภา พรรคร่วมรัฐบาลก็จะสู้พรรคการเมืองใหญ่ไม่ได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาที่เข้าชื่อลงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคเพื่อไทยประกาศถอนตัวไม่ร่วมวงด้วย จะทำให้การทำงานลำบากมากขึ้น โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรค ไปทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้ง หากพรรคร่วมยังตีกันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะเข้าทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่พยายามแยกพรรคร่วมรัฐบาลออกจากกัน ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ และหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการให้เร็วที่สุดทั้งเป็นไปตามกฎหมายและนอกกฎหมายไม่ว่าจะเป็นวิธีการไดก็ตาม ดังนั้นพรรคร่วมรัฐบาลต้องช่วยกันประคองสถานการณ์ให้พ้นเดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคมไปให้ได้ก่อน และในระหว่างจะช่วยหาทางออกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่อยากให้เสียแนวร่วมภาคประชาชน ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดง

หลังเทศกาลปีใหม่พรรคประชาธิปัตย์จะมีการนัดประชุม ส.ส.อีกครั้งเพื่อกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเงื่อนไขการแก้ไขครั้งนี้ไม่เป็นไปตามแนวทางของการสมานฉันท์ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ขณะที่ภาคประชาสังคมก็ไม่เห็นด้วย ยิ่งรัฐบาลเดินหน้า ยิ่งเกิดผลประทบต่อพรรคร่วมรัฐบาล

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.สัดส่วน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา บีบให้รัฐบาลเดินหน้าเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ยังคงเดิมคือ 1.ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายการเมืองจะเข้ามาแก้ไขกันเอง โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน เรื่องนี้ได้เสนอผ่านหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่าต้องทำประชามติก่อน

"เดิมเป็นที่เข้าใจของฝ่ายการเมืองคือ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการร่วมกันที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะมีความสมานฉันท์ในระหว่างกันเองในระดับหนึ่ง แต่วันนี้เมื่อเห็นไม่ตรงกันแล้วจะไปทำประชามติได้อย่างไร ผมว่าจุดยืนท่านายกฯ ยังอยู่ตรงนี้ ทีนี้ปัญหามันมีว่า ถ้าอยู่ๆ มีคนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปในสภา ซึ่งเป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ แต่ก็ย่อมหมายความว่าเป็นการเสนอกันเอง โดยเอกเทศไม่เกี่ยวกับความเป็นพรรคร่วมและไม่เกี่ยวกับอะไรทั้งสิ้น เป็นเรื่องของสภา รัฐบาลไม่เกี่ยว กรณีเช่นนี้แต่ละพรรค ย่อมมีเอกสิทธิ์ที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ได้ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร"

เมื่อถามว่าปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า จะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นหรือไม่ เราต้องเข้าใจในจุดยืนของการแก้รัฐธรรมนูญแต่ละพรรคว่าไม่เหมือนกัน เพราะเงื่อนไขเดิม คือ ทุกพรรคต้องเห็นตรงกัน และต้องผ่านการจัดทำประชามติ เมื่อทำประชามติแล้วหากประชาชนมีมติให้แก้ ก็จะแก้ ถือเป็นเงื่อนไขที่ชัดเจนอยู่แล้ว แต่หากอยู่ๆ ฝ่ายการเมืองมาเสนอแก้กันเอง ก็เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนว่าจะคิดอย่างไรก็ได้ หากได้เสียงข้างมากไปแก้ได้ก็จบ แต่หากได้เสียงไม่พอ ก็แก้ไม่ได้ ดังนั้นจะไปบีบบังคับให้ทุกคนเห็นตรงกันย่อมเป็นไปไม่ได้ จะไปบังคับให้คนอื่นเห็นชอบกับตัวเองคงไม่ได้ หากมติประชาชนว่าเอาด้วย ทุกอย่างก็โอเค ทุกคนก็พร้อมจะทำตาม

เมื่อถามว่าที่สุดแล้วหากมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าไปในสภา และพรรคประชาธิปัตย์ไม่เอาด้วย จะกระทบกระเทือนต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ นายบัญญัติ กล่าวว่า " ก่อนเสนอคงต้องทำใจ เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ทิ้งหลักการโดยเห็นแก่เสถียรภาพของรัฐบาลอย่างเดียว เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผมคิดว่าพรรคการเมือง เรื่องของหลักการ และจุดยืน ถือเป็นเรื่องใหญ่ การเปลี่ยนแปลงบ้างต้องไม่ให้เสียหลักการใหญ่ ผมคิดว่าพรรคการเมืองต้องคิดเช่นนั้น เพราะตอนที่จัดตั้งรัฐบาลนายกฯ ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่มีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียงแต่ว่าวันนี้เมื่อมาทำงานร่วมกับเพื่อน แล้วเพื่อนอยากให้แก้ เราก็ใจกว้างพร้อมรับฟังความคิดเห็น"

นายบัญญัติ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาภายใต้ความเห็นพ้องต้องกันของทุกฝ่าย และคณะกรรมการสมานฉันท์ได้สรุปประเด็นการแก้ไขและบอกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความสมานฉันท์ เราก็เอาด้วย และขอฟังเสียงของประชาชนก่อน แต่แล้ววันหนึ่งก็มาถึงจุดที่ไม่สมานฉันท์กันแล้ว เพราะมีบางฝ่ายไม่เอาด้วย การแก้รัฐธรรมนูญจึงไม่ตรงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันเอาไว้ตั้งแต่ต้น

"ผมคิดว่าคนมาร่วมรัฐบาลกันจะไปเอาเรื่องเพียงเรื่องเดียวมาเป็นตัววัดเรื่องเสถียรภาพคงไม่ได้ พรรคประชาธิปัตย์จำเป็นต้องแสดงจุดยืน พรรคร่วมก็น่าจะเข้าใจได้ว่านี่คือจุดยืนของเรานะ เราจะไปล่วงละเมิดเขามากก็ไม่ได้ ยิ่งบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 50 พรรคไม่สามารถครอบงำสมาชิกในการลงมติเรื่องนี้ได้ด้วย ผมยังเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพียงแต่ว่าถ้าแก้ได้ก็ดี ถ้าแก้ไม่ได้ก็คือไม่ได้" นายบัญญัติ ระบุ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook