ครบรอบ 1 ปีรัสเซียบุกยูเครน “แอมเนสตี้” ร้อง สิทธิเหยื่อต้องเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม

ครบรอบ 1 ปีรัสเซียบุกยูเครน “แอมเนสตี้” ร้อง สิทธิเหยื่อต้องเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม

ครบรอบ 1 ปีรัสเซียบุกยูเครน “แอมเนสตี้” ร้อง สิทธิเหยื่อต้องเป็นหัวใจสำคัญของกระบวนการยุติธรรม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

24 กุมภาพันธ์ 2565 คือวันที่กองทัพรัสเซียเปิดฉากการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกว่า “การกระทำรุกรานและหายนะด้านสิทธิมนุษยชน” นับตั้งแต่นั้นมา กองกำลังรัสเซียได้ก่ออาชญากรรมสงครามและการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ รวมถึงการประหารชีวิตนอกกระบวนการยุติธรรม การโจมตีอย่างรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนและสถานที่พักพิง การเนรเทศและบังคับให้พลเรือนโยกย้ายถิ่นฐาน และการสังหารที่ผิดกฎหมายในวงกว้างด้วยการยิงถล่มเมืองต่าง ๆ ของยูเครน แม้การรุกรานยังคงดำเนินต่อไปและยังไม่ทราบขอบเขตทั้งหมดของอาชญากรรมที่ก่อขึ้นในยูเครน แต่การเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิของเหยื่อและผู้รอดชีวิตจะต้องได้รับความสำคัญ ประชาคมระหว่างประเทศมีหน้าที่ชัดเจนในการประกันว่าผู้ที่รับผิดชอบต่ออาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจะต้องรับรู้ว่าความรับผิดชอบและความยุติธรรมจะมีชัยเหนือการลอยนวลพ้นผิด

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เนื่องจากกองกำลังรัสเซียดูเหมือนกำลังเพิ่มการโจมตีในยูเครน พันธกิจในการนำตัวผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามทั้งหมดมารับผิดจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าที่เคย 

“ผู้คนในยูเครนต้องทนทุกข์กับความน่ากลัวที่เหนือจินตนาการระหว่างสงครามรุกรานนี้มาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา ขอให้เข้าใจตรงกันว่า มือของวลาดิเมียร์ ปูติน และกองกำลังของเขาเปื้อนไปด้วยเลือด ผู้รอดชีวิตสมควรได้รับความยุติธรรมและการเยียวยาสำหรับทุกสิ่งที่พวกเขาต้องทุกข์ทน ประชาคมระหว่างประเทศต้องยืนหยัดอย่างแน่วแน่ในการดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อคืนความยุติธรรม หนึ่งปีผ่านไปแล้ว เห็นได้ชัดว่าต้องทำให้มากกว่านี้”


สิทธิและความต้องการของเหยื่อและผู้เสียหาย

“หลังจากเกิดความขัดแย้งนี้ ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนได้รับความเสียหายจากการถูกลูกหลง เมื่อลูกระเบิดตกลงมา ไม่ได้เพียงแค่สร้างบาดแผล แต่ยังพรากความเป็นอยู่ ทำลายโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และทำให้คนจำนวนมากไม่สามารถอยู่ในซากปรักหักพังของชีวิตในอดีตของพวกเขาได้” คาลามาร์ด กล่าว

ควรมีการตอบสนองต่อความขัดแย้งอย่างทันที รวมถึงการสอบสวนในระดับนานาชาติและระดับชาติเกี่ยวกับอาชญากรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กระทำในยูเครน แต่ความยุติธรรมที่ครอบคลุมสำหรับยูเครนจะเกิดขึ้นได้โดยการให้ความยุติธรรมที่มีความหมายและการเยียวยาแก่เหยื่อเท่านั้น ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อประชาคมระหว่างประเทศให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในกลไกความยุติธรรมที่มีอยู่ นอกจากนี้ ยังต้องมีการพิจารณาของกลไกระดับชาติและระดับนานาชาติใหม่เพื่อความยุติธรรมที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น การตัดสินใจที่น่ายินดีของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนในการจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นอิสระในเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งในท้ายที่สุดจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการตอบสนองด้านความยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีอาชญากรรมสงครามจำนวนมาก ตลอดจนอาชญากรรมรุกรานซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ไม่สามารถสอบสวนได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านเขตอำนาจศาล

การดำเนินคดีอาจมีความซับซ้อน แต่จำเป็นที่การสอบสวนจะต้องไม่พิจารณาเพียงแค่ผู้กระทำความผิดโดยตรงในระดับล่างเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่อยู่ในสายการบังคับบัญชาที่สูงกว่าด้วย ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะเกิดขึ้นที่ใด จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และคำนึงถึงผู้รอดชีวิตและความต้องการของพวกเขา  

ความมุ่งมั่นและการประสานงานอย่างยั่งยืนเป็นหนทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้า  

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มภาคประชาสังคมอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการดำเนินการร่วมกัน เพื่อให้ผู้คนมารวมตัวกันเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งเป็นความจริงที่สุดในกรณีนี้ ทุกสถาบันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาความยุติธรรมระหว่างประเทศต้องทำงานร่วมกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและประสานงานกลยุทธ์ และยังต้องจัดการช่องว่างในด้านความเชี่ยวชาญและความสามารถ ตอนนี้ไม่ใช่เวลาสำหรับการแยกกันทำงาน” 

ประชาคมโลกต้องสนับสนุนการสอบสวนที่ยุติธรรม มีประสิทธิภาพ และไม่ลำเอียง และรัฐต่างๆ ควรเรียกร้องให้ยูเครนให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม โดยปรับกฎหมายของประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมระหว่างประเทศ และเสริมสร้างความร่วมมือกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และท้ายที่สุด ความยุติธรรมสำหรับยูเครนเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีธรรมนูญเขตอำนาจศาลสากลสำรวจว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถคืนความยุติธรรมแก่ชาวยูเครนได้อย่างไร

ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

เมื่อให้ความช่วยเหลือ ประชาคมโลกต้องระบุความต้องการเฉพาะของกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก รวมทั้งตระหนักว่าชาวยูเครนจำนวนมาก รวมทั้งเด็ก ถูกเนรเทศจากยูเครนไปยังรัสเซีย หรือถูกบังคับให้โยกย้ายถิ่นฐานไปยังพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย และไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย กลุ่มคนเหล่านี้ต้องอยู่ในกลุ่มที่ได้รับความสำคัญ และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทั้งหมดที่ให้ควรได้รับการปรับให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของพวกเขา

ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคมของยูเครนยังเป็นสิ่งจำเป็นในการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการของผู้รอดชีวิตเพื่อประกันว่ามีการใช้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ ประชาคมโลกต้องประกันว่าความร่วมมือนี้ดำเนินการในลักษณะที่รับประกันความโปร่งใส ประสิทธิผล และคำนึงถึงความรู้สึกของเหยื่อตลอดกระบวนการ มุ่งเน้นไปที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การฟื้นฟู ความยุติธรรม และการเยียวยา

“การยอมรับความเสียหายทางร่างกาย จิตใจ และเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวงที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในยูเครนตลอดปีที่ผ่านมามีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำความยุติธรรมและการเยียวยามาให้กับผู้รอดชีวิตและเหยื่อการรุกรานของรัสเซียในยูเครน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook