สสส. เปิดตัวมินิซีรีส์ครอบครัวแนวใหม่ ชวนคุยเรื่องเพศกับลูกผ่าน 6 ทักษะ

สสส. เปิดตัวมินิซีรีส์ครอบครัวแนวใหม่ ชวนคุยเรื่องเพศกับลูกผ่าน 6 ทักษะ

สสส. เปิดตัวมินิซีรีส์ครอบครัวแนวใหม่ ชวนคุยเรื่องเพศกับลูกผ่าน 6 ทักษะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ผ่านมา สสส. ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพูดคุยเรื่องเพศในครอบครัว เพราะการที่พ่อแม่ได้คุยเรื่องเพศกับลูกจะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงปัญหาเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่นได้ ซึ่งนอกจากต้องเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ให้พร้อมเปิดใจคุยแล้ว ยังมีส่วนของข้อมูลวิธีคุย ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นคุยกับลูกเรื่องเพศยังไง การให้ความรู้พ่อแม่ถึงวิธีที่จะเข้าไปพูดคุยกับลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็น

แนวคิดของแคมเปญ “คุยเรื่องเพศ ลดโอกาสพลาด” ในปีนี้ จึงมาพร้อมกับการบอกให้พ่อแม่รู้วิธีที่จะทำให้ลูกกล้าเข้ามาคุยเรื่องเพศได้อย่างสบายใจ โดยแนะนำว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ ฟังลูกแบบไม่ตัดสินใจไปก่อน มีสติ และไม่ใช้อารมณ์ ซึ่งเป็นประตูด่านแรกของการเปิดใจคุย โดยทำเป็น มินิซีรีส์ “Sex Talk” ประกอบด้วย ภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ 1 เรื่อง และภาพยนตร์โฆษณาทางออนไลน์อีก 6 ตอน ที่จะบอกเล่า 6 ทักษะที่จะให้พ่อแม่นำไปใช้คุยกับลูก เนื้อหาจะเล่าผ่านครอบครัวที่พ่อแม่ลูกสาม กับคาแรคเตอร์ที่น่าจะเรียกความสนใจได้ โดยสร้างขึ้นมาให้เห็นสถานการณ์ตัวอย่างของบทสนทนาที่เกิดขึ้นบนโต๊ะกินข้าวที่ปกติเป็นพื้นที่ของการพูดคุยเรื่องปกติสัพเพเหระของทุกครอบครัว ให้กลายเป็นพื้นที่ที่พูดเรื่องเพศได้อย่างปกติตรงไปตรงมา แต่ละตอนลูกวัยรุ่นแต่ละคนก็มีปัญหาเรื่องเพศ (ที่มักเกิดขึ้นจริงๆกับวัยรุ่นยุคนี้) ที่แตกต่างกันไป ทั้งพ่อและแม่ก็จะมีวิธีรับมือปัญหา และชี้ให้คนดูเห็นไปพร้อมๆ กันว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ หรืออะไรไม่ควรทำ ซึ่งจะเห็นการพูดคุยอย่างเปิดใจ ง่าย ตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม เพื่อให้คนดูเห็นว่าบ้านนี้คุยเรื่องเพศได้อย่างปกติ ไม่อาย บ้านอื่นๆ ก็น่าจะทำได้เหมือนกัน 

นอกจากนั้นตอนท้ายของโฆษณายังแนะนำให้คนดูได้รู้จักกับ www.คุยเรื่องเพศ.com ที่เป็นเว็บไซต์ที่ สสส. จัดทำขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางที่ให้ความรู้ บอกวิธีที่จะคุยกับลูก และข้อมูลเรื่องเพศที่เป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่ไว้คุยกับลูกอีกด้วย

ภาพยนตร์โฆษณา "คุยเรื่องเพศ เริ่มที่รับฟังไม่ตัดสิน"

ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มี พ่อแม่ และลูกวัยรุ่น ซึ่งลูกวัยรุ่นแต่ละคนก็มีความสงสัยปัญหาเรื่องเพศที่แตกต่างกัน แต่เมื่อลูกชายลูกสาวนำปัญหามาคุยกับพ่อ พ่อกลับมีความคิดในหัวไปในทางลบกับลูก เรียกง่ายๆว่าตัดสินใจไปเองเลยว่า ลูกผิด แต่ด้วยความที่แม่ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์อ่านความคิดพ่อได้ จึงได้เตือนสติพ่อว่า อย่าเพิ่งคิดไปเอง ให้ฟังลูกก่อน พ่อจึงเปิดใจรับฟัง และเริ่มต้นการคุยด้วยใจที่เปิดกว้าง ทำให้ลูกๆ พร้อมที่จะเปิดใจคุยกับพ่อ และทำให้บรรยากาศของการคุยเรื่องเพศในครอบครัวนี้เกิดขึ้นได้

ทักษะข้อที่ 1 รับฟังไม่ตัดสิน ผ่าน Sex talk Ep 1 : ยาคุม

ตอนที่ 1 เป็นการบอกวิธีคุยข้อที่ 1 จาก 6 ข้อ นั่นคือให้พ่อแม่ รับฟังลูกก่อน ก่อนที่จะตัดสินลูกเนื้อหาของเรื่องเกิดจาก พ่อพบว่าลูกสาวคนเล็กที่ยังเพิ่งเป็นวัยรุ่น แอบพกยาคุมเก็บไว้กระเป๋า พ่อโมโหมาก ใช้อารมณ์ตัดสินลูก ดุว่าลูกเลยว่า ที่พกยาคุมเพราะแอบไปมี Sex กับแฟนแน่ๆ  จนทำให้บรรยากาศบนโต๊ะกินข้าวตึงเครียด ลูกสาวจึงพูดให้พ่อฉุกคิดว่า  พ่อกำลังตัดสินลูกแบบที่พ่อคิดไปเอง พ่อน่าจะลองแบบไม่ตัดสินดู และเมื่อพ่อได้ทอลองทำแบบที่ไม่ตัดสิน ก็พบว่าทำให้ลูกนั้นกล้าที่จะพูดคุย หรือบอกเหตุผลที่ตัวเองพกยาคุมได้ ซึ่งเป็นบทสรุปให้คนดูเห็นว่า เมื่อไม่ตัดสินลูกไปก่อน ลูกก็จะกล้าคุยเรื่องเพศต่อได้นั่นเอง

ทักษะข้อที่ 2 สอน ผ่านการตั้งคำถาม ผ่าน Sex talk Ep 2 : แฟนขอมี sex

ตอนที่ 2 จะสอนวิธีคุยในเรื่องของ การเปิดโอกาสให้ลูกคิด เพราะการฝึกให้ลูกรู้จักคิดเองจะช่วยให้เขาได้ทบทวน และค้นพบทางออกของปัญหาได้เอง เรื่องเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวตนโตมาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า แฟนหนุ่มขอมี Sex ด้วย ถ้าไม่ให้จะเลิก แค่ได้ยินพ่อก็หูดับคิดแทนลูกสาวไปหมดว่า ต้องทำยังไง จนลูกสาวขอโอกาสเล่าให้พ่อฟังว่าตัวเองคิดยังไง ซึ่งเมื่อลูกสาวเล่าสิ่งที่คิด ก็แสดงให้เห็นว่าลูกสาวเป็นวัยรุ่นที่คิดเป็น คิดดีอีกต่างหาก 

ทักษะข้อที่ 3 เชื่อมั่น และเคารพในตัวลูก ผ่าน Sex talk Ep 3 : แอบส่องมือถือ

ตอนที่ 3 เป็นการสอนให้พ่อแม่หัดเชื่อใจลูก โดยเล่าผ่านเหตุการณ์ฝันร้ายของพ่อ ที่ลูกสาวคนเล็กจับได้ว่าพ่อแอบส่องมือถือของตัวเอง ทำให้ลูกสาวหมดความเชื่อใจในตัวพ่ออีกต่อไป เมื่อไม่ไว้ใจ เมื่อมีปัญหาเรื่องเพศ ลูกก็ไม่คิดจะมาคุยกับพ่ออีกเลย แต่หันไปถามกับคนแปลกหน้าแทน ซึ่งทำให้พ่อกังวลมาก จนตกใจตื่น และทำให้พ่อได้รับบทเรียนว่าควรที่จะเชื่อใจลูก ลูกก็จะเชื่อใจพ่อแม่เหมือนกัน และพร้อมที่เข้ามาคุยได้ทุกเรื่องได้อย่างสบายใจ

ทักษะข้อที่ 4 เสริมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ผ่าน Sex talk Ep 4 : ช่วยตัวเอง 

ตอนที่ 4 ต้องการสื่อว่า ถ้าพ่อแม่สามารถที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ ลูกก็จะมีความเข้าใจในเรื่องเพศ โดยเล่าเหตุการณ์ระหว่างที่ทุกคนกำลังกินข้าวกันอยู่ ลูกชายคนเล็กไม่ลงมากินข้าวเพราะกำลังช่วยตัวเองอยู่บนห้อง ลูกสาวทั้งสองคนแซวกันเองเล่นๆ บนโต๊ะ ทำให้พ่อรู้ว่าลูกสาวทั้งคู่เข้าใจผิดเรื่องการช่วยตัวเอง พ่อแม่จึงแก้ความเข้าใจผิดให้ถูกต้อง และยังตอบความสงสัยเรื่องอื่นให้ลูกสาวได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลที่ลูกได้นี่เองจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ทักษะข้อที่ 5 ชื่นชมความคิดที่ดี ผ่าน Sex talk Ep 5 : เสม็ด

ตอนที่ 5 เราต้องสื่อให้พ่อแม่รู้จักเคารพการตัดสินใจของลูก เรื่องราวเกิดขึ้นที่โต๊ะกินข้าวเหมือนเดิม ลูกสาวคนโตเอ่ยปากขอพ่อแม่ไปเสม็ดกับเพื่อน แต่สำหรับคนไทยแล้ว มันมีคำที่ติดปากกันมานานแล้วว่า “ไปเสม็ดเสร็จทุกราย” ทำให้พ่อที่ห่วงลูกบังคับให้ลูกสาวต้องใส่กางเกงกันเพศสัมพันธ์ เพราะกลัวลูกสาวไปพลาดไปมีSex ฝ่ายลูกสาวเองก็คิดว่าพ่อทำเกินไปที่จะให้ใส่กางเกงหนักอึ้งแบบนั้น ลูกสาวจึงพูดถึงสิ่งตัวเองคิด และบอกพ่อให้รู้ว่า จริงๆแล้ว เธอรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ และรู้ด้วยว่าถ้าทำอะไรไปจะเกิดผลกระทบที่ตามมายังไง วางแผนที่จะดูแลตัวเองยังไง เมื่อพ่อแม่รู้ว่าลูกตัวเองคิดได้ขนาดนี้ จึงเคารพการตัดสินใจของลูกและยอมให้ลูกสาวไปเสม็ดได้

ทักษะข้อที่ 6 เป็นที่พึ่งเมื่อเกิดปัญหา ผ่านSex talk Ep 6 : ยาคุมฉุกเฉิน

ตอนที่ 6 เป็นข้อสุดท้ายที่พ่อแม่ควรจะเป็นให้ลูก นั่นคือการเป็นที่พึ่ง เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อพ่อสังเกตเห็นว่า ลูกชายคนเล็กสุดมีอาการเหม่อซึมผิดปกติ เมื่อสอบถามจึงแอบรู้ว่าลูกชายไม่สบายใจ เพราะทำถุงยางหลุดตอนมีSex กับแฟน แต่เจ้าลูกชายเล่าว่าให้เหมือนเป็นเรื่องของเพื่อน พ่อกับแม่จึงแกล้งทำเนียนๆไปว่าเป็นเรื่องของเพื่อน แล้วช่วยบอกวิธีแก้ปัญหาให้ ซึ่งทำให้ลูกชายรีบไปจัดการแก้ปัญหา เพื่อแสดงให้คนดูเห็นว่าไม่ว่าจะอย่างไร ถ้าพ่อแม่เป็นที่พึ่งให้ลูกได้ ก็สามารถที่จะแก้ไขปัญหาได้

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส. เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : https://www.facebook.com/socialmarketingth
Line : https://lin.ee/FB5VIKx
Tiktok: https://www.tiktok.com/@thaihealth
Youtube: https://www.youtube.com/SocialMarketingTH
Website : https://socialmarketing.thaihealth.or.th/

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook