10 ข่าวเด่นต่างประเทศประจำปี 52

10 ข่าวเด่นต่างประเทศประจำปี 52

10 ข่าวเด่นต่างประเทศประจำปี 52
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นการรวบรวมข่าวต่างประเทศที่เด่นที่สุดในรอบปี 52 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป มาทั้งหมด 10 ข่าวเด็ด

1. ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009

โลกในศตวรรษที่ 21 ได้เกิดการระบาดของโรคร้ายชนิดใหม่คือ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เป็นครั้งแรก คร่าชีวิตผู้คนแล้วหลายพันศพ โดยจุดเริ่มต้นของไข้หวัดใหญ่ 2009 หรือเชื้อไวรัส เอช 1 เอ็น 1 อุบัติขึ้นเมื่อช่วงสิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาในประเทศเม็กซิโก และแพร่ลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้ไข้หวัดใหญ่ 2009 กลายเป็นโรคระบาดเมื่อ 11 มิ.ย. และจนถึงช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้เอง องค์การอนามัยโลกประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดดังกล่าวเกิน 11,516 ศพ ท่ามกลางการตื่นตัวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ระดมกำลังฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และรณรงค์ให้ผู้คนรักษาความสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัส โดยเฉพาะรัฐบาลจีน ระดมฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้แก่ประชาชนไปแล้วกว่า 31 ล้านคน และตั้งเป้าจะฉีดให้ครบ 65 ล้านคนในสิ้นปีนี้ ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐประเมินตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไข้ หวัดใหญ่ 2009 ทั่วประเทศเกือบ 10,000 ศพ ซึ่งสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกประมาณการเอา ไว้ โดยแยกเป็นเด็ก 1,100 ศพ และคนวัยหนุ่มสาว 7,500 ศพ

2. เกาหลีเหนือทดลองนิวเคลียร์-ขีปนาวุธ

เมื่อ 25 พ.ค. เกาหลีเหนือสร้างความตึงเครียดให้แก่คาบสมุทรเกาหลีอีกครั้ง ด้วยการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดินเป็นครั้งที่ 2 หลังจากทดลองครั้งแรกเมื่อ 9 ต.ค. 2549 โดยอ้างว่าเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องปรามด้านนิวเคลียร์เพื่อ ป้องกันตนเองในทุกด้าน การกระทำของเกาหลีเหนือได้รับเสียงประณามจากประชาคมโลกและคณะมนตรีความมั่น คงแห่งสหประชาชาติ พร้อมกับการขู่คว่ำบาตรเพิ่มเติมอีก แต่เกาหลีเหนือไม่มีท่าทีที่จะให้ความสนใจ กลับทดลองยิงขีปนาวุธระยะสั้นท้าทาย ขณะที่การเจรจา 6 ฝ่ายเพื่อยุติโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือต้องหยุดชะงักไปด้วย ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงกลางเดือน มี.ค. นักข่าวหญิงชาวอเมริกัน 2 คนคือนางลอร่า หลิง และนางยูน่า ลี ได้ถูกกองกำลังรักษาดินแดนของเกาหลีเหนือจับกุม ขณะทำข่าวเรื่องชาวเกาหลีเหนือที่หลบหนีออกนอกประเทศ และศาลตัดสินว่า ทั้งสองทำผิดฐานกระทำการที่เป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือและเข้าเมืองผิดกฎหมาย จึงมีคำพิพากษาให้ไปใช้แรงงานเป็นเวลา 12 ปี แต่อดีตประธานาธิบดีบิล คลินตัน แห่งสหรัฐ เดินทางไปเกาหลีเหนือ และเข้าเจรจากับนายคิม จอง-อิล ผู้นำสูงสุดของโสมแดงถึงกรุงเปียงยาง จนสามารถนำนักข่าวหญิงชาวอเมริกัน 2 คนกลับสหรัฐได้สำเร็จ

3. ปิดฉากสงครามกลางเมืองศรีลังกา

การสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนพยัคฆ์ทมิฬอี แลมได้จบสิ้นลงไปเมื่อช่วงกลางปี พร้อมกับชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองทัพศรีลังกา และความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกบฏอีแลม ปิดฉากสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 25 ปี และทำให้พื้นที่ภาคเหนือของประเทศประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร ถูกปลดปล่อยจากการยึดครองของกลุ่มกบฏ การประกาศชัยชนะของทางการ ทำให้บรรยากาศภายในกรุงโคลัมโบเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนต่างจุดพลุดอกไม้ไฟเต็มถนน ส่วนนายเวฬุพิลัย ประภาการัน ผู้นำกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้ถูกยิงเสียชีวิต ขณะพยายามหลบหนีการปิดล้อมของทหารรัฐบาลที่รุกคืบเข้าไป จนทำให้ฝ่ายกบฏจนมุม อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา พลเอกซารัธ ฟอนเซกา ผู้บัญชาการทหารบกศรีลังกา ซึ่งเป็นผู้นำกองทัพพิชิตกลุ่มกบฏประกาศลาออกจาก ตำแหน่ง เพื่อลงสมัครเลือกตั้งประธานา ธิบดีในเดือน ม.ค.นี้ พร้อมให้คำมั่นว่าหากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง เขาจะลดอำนาจของประธานาธิบดี จัดการเลือกตั้งรัฐสภา และนำรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย ความยุติธรรมในสังคมและเสรีภาพของสื่อ

4. ศาลพม่าสั่งกักบริเวณออง ซาน ซูจี อีก 18 เดือน

นางออง ซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ถูกศาลในเรือนจำอินเส่งพิพากษาว่ามีความผิด ข้อหาละเมิดกฎการกักบริเวณส่งผลให้ศาลสั่ง จำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่มีคำสั่งจากรัฐบาลทหารให้ลดโทษเหลือเพียง 1 ปี 6 เดือน โดยให้นางซูจี ถูกกักบริเวณอยู่แต่ในบ้านพักในนครย่างกุ้งเหมือนที่ผ่านมา ส่วนนายจอห์น วิลเลียม ยิตตอว์ หนุ่มใหญ่ชาวอเมริกัน ตัวต้นเหตุ ที่ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบเข้าไปหลบในบ้านพักของนางซูจี ถูกศาลตัดสินจำคุก 7 ปี แต่ได้รับการช่วยเหลือจากนายจิม เวบบ์ วุฒิสมาชิกสหรัฐจากพรรคเดโมแครตที่เข้าเจรจากับรัฐบาลทหาร จนนำไปสู่การเนรเทศนายยิตตอว์ออกนอกพม่าหลายฝ่ายระบุว่า รัฐบาลพม่าใช้การบุกรุกของชายอเมริกันเป็นเคนการกักขังนางซูจี ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า อย่างไรก็ตาม คดีนี้รัฐบาลทหารพม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ ซึ่งทั้งสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเพื่อต่อต้านการกักขังนักโทษการเมืองกว่า 2,000 คน รวมถึงนางซูจี ทั้งนี้นางซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญถูกรัฐบาลพม่าคุมขังเป็นเวลา 14 ปี ในช่วงระยะเวลา 20 ปี ของการถูกจับและถูกปล่อยตัว โดยในอดีตรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับชัยชนะของนางซูจีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2533 แต่กลับยึดอำนาจและจับกุมนักการเมือง นักเคลื่อนไหวและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร

5. แอร์ฟรานซ์ประสบเหตุตกในทะเลนอกบราซิล

เครื่องบินโดยสารแอร์บัส รุ่น 330-200 เที่ยวบินเอเอฟ 447 ของสายการบินแอร์ฟรานซ์ในฝรั่งเศส พร้อมผู้โดยสาร 216 คนและพนักงานบนเครื่อง 12 คน รวมเป็น 228 คน มีเส้นทางบินจากนครรีโอเดจาเนโรของบราซิลมุ่งหน้าไปยังกรุงปารีสของฝรั่งเศส ในระยะทาง 9,145 กิโลเมตร ประสบเหตุตกลงในมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อเดือน มิ.ย. ภายหลังหายไปจากจอเรดาร์นอกชายฝั่งห่างจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล 565 กิโลเมตร เบื้องต้นเครื่องบินได้ส่งข้อความกลับมายังสถานีภาคพื้นดินว่า เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร หลังจากนักบินฝ่าพายุท่ามกลางสภาพอากาศแปรปรวน แต่มีการสันนิษฐานว่า เครื่องบินอาจถูกฟ้าผ่าจนตก อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศทั้งของฝรั่งเศสและบราซิล ได้ส่งเครื่องบินออกตามหาเครื่องบินโดยสารลำนี้ พร้อมกับมีการส่งเรือตามหาเช่นกัน จน พบเศษชิ้นส่วน และศพของผู้เสียชีวิต ส่วนสาเหตุการตกของ เครื่องบินแอร์ฟรานซ์ ยังไม่สามารถไขปริศนาได้ แต่นายฌอง- คล็อด ทรัวเดซ หัวหน้าสำนักงานสอบสวนและวิเคราะห์ความปลอดภัย การบินพลเรือนของฝรั่งเศส ประกาศจะค้นหากล่องดำอีกครั้งในเดือน ก.พ.ปีหน้า โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐร่วมในการเก็บกู้กล่องดำด้วย

 

6. ประชุมโลกร้อนที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก

ปีนี้เป็นอีกปีที่โลกเผชิญหายนะภัยจากธรรมชาติที่รุนแรงผิดปกติ โดยฟิลิปปินส์กับไต้หวันถูกพายุไต้ฝุ่นป้าหม่าและมรกตพัดกระหน่ำอย่างหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ขณะที่เวียดนามก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยจากพายุไต้ฝุ่นกิสนา นอกจากนี้ แผ่นดินไหวที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้ขนาด 8.0 ริคเตอร์ ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งของเกาะอเมริกัน ซามัว และเกาะซามัว ด้วยระดับความสูงของคลื่นถึง 5.1 ฟุตจากระดับน้ำทะเล คร่าชีวิต ผู้คนหลายสิบศพ ขณะที่ออสเตรเลีย กลับเผชิญไฟป่าทั่วรัฐ นิวเซาท์เวลส์และพื้นที่ของเมืองซิดนีย์บางส่วน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ออสเตรเลีย เกิดจากภาวะโลกร้อน ส่วนที่ยุโรปและสหรัฐถูกพายุหิมะพัดกระหน่ำ ทำให้การจราจรเป็นอัมพาต โดยเฉพาะที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐประสบกับภัยพายุหิมะครั้งร้ายแรงที่สุดใน รอบ 77 ปี แต่การประชุมว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่กรุงโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ซึ่งผู้นำประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมกว่า 100 ชาติ กลับไม่บรรลุข้อตกลงที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย มีแต่คำสัญญาควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นเพียงลมปากเท่านั้น

7. เหตุจลาจลซินเจียงอุยกูร์

เกิดเหตุการณ์จลาจลที่อุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อ 5 ก.ค. โดยกลุ่มผู้ประท้วงได้ปิดถนนและเผายวดยานพาหนะต่าง ๆ และเกิด การปะทะกันอย่างรุนแรงกับตำรวจปราบจลาจล ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 184 ศพ โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชาวฮั่น หรือชาวจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 800 คน ตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุจลาจลหลายร้อยคน ซึ่งการประท้วงครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุปะทะกันระหว่างคนงานชาวฮั่น กับคนงานชาวมุสลิมอุยกูร์ที่โรงงานผลิตของเล่นแห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้งเมื่อ ช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ส่งผลให้ชาวอุยกูร์เสียชีวิต 2 ศพ นำไปสู่การแก้แค้นของชาวอุยกูร์ต่อชาวฮั่นในเมืองอุรุมชี จากนั้น 4 ก.ย. มีเหตุการณ์ไม่สงบปะทุขึ้นอีกครั้งในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เมื่อชาวฮั่นในเมืองอุรุมชีออกมาชุมนุมประท้วงเหตุโจมตี ด้วยการใช้เข็มฉีดยาไล่แทงผู้คนซึ่งพวกเขาคาดว่าเป็นฝีมือของชาวอุยกูร์ และต่อมาตำรวจจับกุมผู้ก่อเหตุใช้เข็มฉีดยาไล่แทงได้ 15 คน โดยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ผู้ทำความผิดบางคนถูกพิพากษาโทษประหารไปแล้ว

8. สังหารหมู่นักการเมือง-นักข่าวครั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์

นับเหตุการณ์ช็อกโลกเลยทีเดียวสำหรับการฆาตกรรมหมู่ครั้งใหญ่ใน ฟิลิปปินส์ เมื่อคนร้ายติดอาวุธกว่า 100 คนบุกปิดล้อมขบวนรถญาติของเอสมาเอล มันกูดาดาตู นักการเมืองท้องถิ่นคนดังของจังหวัดมากินดาเนา รวมทั้งทนายความ และผู้สื่อข่าวชาวฟิลิปปินส์ในเมืองอัมปาตวน บนเกาะมินดาเนา ทางใต้ของประเทศ พร้อมกับสังหารหมู่ 57 ศพ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นนักข่าวมากถึง 27 ศพ ถือเป็นการสังหารผู้สื่อข่าวรวมกันในคราวเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นความรุนแรงทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในฟิลิปปินส์ ตำรวจเชื่อว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการเมือง เพราะนายมันกูดาดาตู ส่งภรรยาไปยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนา แทนตัวเองที่ไม่ได้เดินทางไปเพราะถูกขู่ฆ่า ส่วนผู้ต้องสงสัยคนสำคัญในคดีนี้คือนายอันดาล อัมปาตวน จูเนียร์ นายกเทศมนตรีเมืองอัมปาตวน บุตรชายของนายอันดาล อัมปาตวน ซีเนียร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมากินดาเนา นักการเมืองทรงอิทธิพลในพื้นที่ที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองกับตระกูลมันกูดา ดาตูมาตลอด อีกทั้งตระกูลอัมปาตวนยังเคยช่วยให้นางกลอเรีย อาร์โรโย ชนะการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีในพื้นที่มาแล้ว อย่างไรก็ตาม อัมปาตวนคนลูกได้ยอมมอบตัวสู้คดี พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์

9. ประธานาธิบดีฮอนดูรัสถูกรัฐประหารโค่นล้มอำนาจ

เหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นในฮอนดูรัส เกิดจากการที่ประธานาธิบดีมานูเอล เซลายา ต้องการให้มีการลงประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตนเองสามารถดำรงตำแหน่งได้อีกสมัยหนึ่งเป็นอย่าง น้อย ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลใช้ข้ออ้างนี้ก่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลเซลายา เมื่อ 28 มิ.ย. ยังผลให้นายเซลายาต้องหนีออกนอกประเทศไปลี้ภัยในคอสตาริกา แล้วผลักดันนาย โรเบอร์โต มิเชเลตติ ขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของฮอนดูรัส พร้อมกับเกิดจลาจลในหลายเมืองของประเทศ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หลายชาติในลาตินอเมริกา รวมถึงสหรัฐ และองค์กรรัฐอเมริกัน ได้กดดันและขู่คว่ำบาตร เพื่อให้รัฐบาลฮอนดูรัสคืนตำแหน่งประธานาธิบดีให้แก่นายเซลายา แต่ต้องคว้าน้ำเหลว สุดท้ายนายเซลายาได้บุกเข้าถึงกรุงเตกูซิกัลปา โดยเข้าไปลี้ภัยในสถานทูตบราซิล เพื่อกดดันอีกทางแต่ก็ยังไม่สำเร็จ จนรัฐบาลได้จัดการเลือกตั้ง และนายปอร์ฟิริโอ โลโบ ก็เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฮอนดูรัส ขณะที่รัฐสภามีมติไม่คืนอำนาจให้นาย เซลายา

10. โอบามาคว้ารางวัลโนเบลสันติภาพประจำปีนี้

การประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ตกเป็นของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐอย่างที่ไม่มี ใครคาดถึง และการขึ้นรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ของโอบามา ท่ามกลางเสียงคัดค้านของผู้คนจำนวนมาก หลังจากที่เขาเพิ่งประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอัฟกานิสถานด้วยการส่งทหาร อเมริกันเข้าตรึงกำลังในประเทศดังกล่าวเพิ่มอีก 30,000 นาย ประธานาธิบดีโอบามากล่าวยอม รับถึงความจริงที่เจ็บปวดว่า บางครั้งสงครามและความรุนแรงก็มีความจำเป็นในการรักษาสันติภาพและปัญหาความ ขัดแย้งด้านกองกำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถกวาดล้างได้หมด แต่สหรัฐจะหาทางใช้กำลังอย่างเป็นธรรม ขณะที่หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการมอบรางวัลโนเบลให้เหตุผลว่า ประธานาธิบดีโอบามาเป็นผู้ที่พยายามสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง และการให้ความร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้น การมอบรางวัล โนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นเสียงเรียกร้องของเราทุกคนที่ ต้องการให้โอบามาดำเนินการสร้างสันติภาพให้เป็นผลสำเร็จ.

ทีมข่าวต่างประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook