ครม.ขึ้นค่าแรง71จว.1-8บ.อีก5จว.อาจขึ้น1บาท

ครม.ขึ้นค่าแรง71จว.1-8บ.อีก5จว.อาจขึ้น1บาท

ครม.ขึ้นค่าแรง71จว.1-8บ.อีก5จว.อาจขึ้น1บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ครม.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์เงินชดเชยแรงงาน คนรัฐวิสาหกิจเฮ เข้า รพ.เอกชน รักษาได้สูงสุด 3 แสน หากเสียชีวิตรับค่าทำศพ 3 เท่าเงินเดือนสุดท้าย พร้อมอนุมัติขึ้นค่าจ้าง 1-8 บาทใน 71 จังหวัด ส่วนอีก 5 จังหวัดยังมีลุ้น "มาร์ค" สั่งแรงงานพิจารณาใหม่

การประชุมคณะรัฐมนตรี นัดส่งท้ายปี 2552 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบในเรื่องสวัสดิการและค่าจ้างแรงงานในหลายประเด็น โดย นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินทดแทน เพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การกำหนดอัตราการจ่ายเงินทดแทนของพนักงานรัฐวิสาหกิจครั้งนี้ เพื่อให้พนักงานรัฐวิสาหกิจ ได้รับเงินทดแทนใกล้เคียง หรือเท่ากับภาคเอกชน กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สูญหายหรือตาย อันเนื่องมาจากการทำงาน

ทั้งนี้สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว คือ 1.กำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาล โดยให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายตามความเป็นจริง ซึ่งกรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐให้จ่ายเต็มจำนวน ส่วนกรณีเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเอกชนให้จ่ายได้ไม่เกิน 4.5 หมื่นบาท 2.กรณีที่ค่ารักษาสถานพยาบาลเอกชนไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกได้ แต่ไม่เกิน 6.5 หมื่นบาท แต่หากค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่ม 6.5 หมื่นบาท ยังไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก แต่เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลทั้งหมดต้องไม่เกิน 2 แสนบาท

นอกจากนี้ หากค่ารักษาพยาบาลยังไม่เพียงพออีก ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มได้อีก แต่รวมทั้งหมดต้องไม่เกิน 3 แสนบาท และต้องมีคณะกรรมการแพทย์ที่นายจ้างแต่งตั้งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิชาชีพเวชกรรมไม่น้อยกว่า 3 คนพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เห็นชอบก่อน

และ 3.หลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินค่าฟื้นฟูสมรรถภาพไม่เกิน 2 หมื่นบาท ค่าผ่าตัดฟื้นฟูสมรรถภาพ 2 หมื่นบาท ค่าทำศพไม่เกิน 3 เท่าของค่าจ้างรายเดือนในเดือนสุดท้าย แต่ต้องไม่น้อยกว่า 100 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนด

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบอนุมัติการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2553 ใน 71 จังหวัด ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ โดยนายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2553 มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสุดตั้งแต่วันละ 1 บาท สูงสุดวันละ 8 บาท โดย จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ที่ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มสูงสุดวันละ 8 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่วันละ 173 บาท เป็นวันละ 181 บาท ขณะที่มี 5 จังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำพร้อมกันทั้งหมดทั่วประเทศ อย่างน้อยวันละ 1 บาท จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานและคณะกรรมการค่าจ้างกลับไปศึกษาเรื่องการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ไม่ได้รับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 5 จังหวัดดังกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ มีเหตุผลจากปัจจุบันสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง ส่วนราคาน้ำมันปรับราคาลดลงเป็นระยะๆ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลมีการต่ออายุ 5 มาตรการ 6 เดือน แต่ก็ยังพบว่าราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ค่าพาหนะและค่าขนส่ง รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล

ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น 1-8 บาท จะส่งผลทางจิตวิทยาให้แรงงานรู้สึกว่าได้รับการดูแลมากขึ้น คาดว่าจะกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นหลัก เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวความต้องการแรงงานจะมากขึ้น โดยเอสเอ็มอีต้องหาทางลดต้นทุนส่วนอื่นลงแทน และอาจต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าได้รับผลกระทบ เนื่องจากจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว รวมทั้งมีค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) และสวัสดิการอื่น ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ เดิมอาจมีการจ่ายสูงถึงวันละ 250 บาท

นายทวีกิจ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายอุตสาหกรรมต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ ถ้าผู้ประกอบการไม่ปรับค่าแรงงานเพิ่มจะทำให้แรงงานลาออกไปหางานอื่นที่มีค่าจ้างดีกว่า หากผู้ประกอบการรายใดที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามาก เชื่อว่าจะมีการปรับค่าแรงขึ้นเพื่อจูงใจให้แรงงานทำงานด้วย นอกจากนี้ยังมีภาคเกษตรกรรมที่แย่งแรงงานออกไปจากภาคอุตสาหกรรม เพราะสินค้าเกษตรหลายชนิดราคาดี แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการก็พร้อมที่จะปรับค่าจ้างให้แก่แรงงานมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook