วราวุธ โต้ก้าวไกลปมแก้ PM 2.5 เหน็บขอบคุณที่เสนอมาแต่จับต้องได้หรือไม่
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเมื่อวันอังคาร (7 มี.ค.) ตอบโต้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ที่วิจารณ์วิธีแก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของตน
"ก็ต้องขอขอบคุณนะครับแนวทางที่- ข้อสังเกตที่คุณนิติพลเสนอมานะครับ ตัวผมเองคงไม่ได้ทำตัวเป็นฝุ่นนะครับ แล้วก็คงต้องขอฝากนะครับว่าสิ่งที่คุณนิติพลพูดมาก็ขออย่าให้เป็นนโยบายฝุ่นละกัน ก็คือมองเห็นแต่ว่าจับต้องไม่ได้นะครับ" นายวราวุธ กล่าว
เมื่อวันจันทร์ (6 มี.ค.) นายนิติพล ผิวเหมาะ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล โพสต์ผ่านแฟนเพจวิจารณ์นายวราวุธถึงบทบาทและความจริงใจต่อการแก้ปัญหา PM 2.5 และเรียกร้องให้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าผลผลิตทางการเกษตรที่ทำให้เกิดการเผาไร่และป่าในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดการเกิดหมอกควัน ที่ลอยมาปกคลุมพื้นที่หลายส่วนของไทย
"สิ่งที่อยากถามคือ 4 ปีมานี้ คุณวราวุธเคยเสนอมาตรการเรื่องหมอกควันจากการเผาเพื่อทำเกษตรบ้างหรอไม่ เคยเอาแผนที่จุดความร้อนแดงทั้งแผ่นดินไปฟาดหน้า ครม.บ้างหรือไม่ ว่าถ้าปล่อยไปแบบนี้ประชาชนจะทยอยตายเท่าไหร่ สิ่งแวดล้อมเสียหายแค่ไหน หรือเขาจะทำอะไรก็ยอมไปหมด เพื่อหวังจะรักษาเก้าอี้ไว้อย่างเดียว" นายนิติพล โพสต์
นายวราวุธ ตอบโต้ว่า ที่ผ่านมากระทรวงประสานกับทุกหน่วยงานในการแก้ไขเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ไม่เคยกล่าวโทษว่าการเผาป่านี้เกิดจากฝ่ายใดทั้งเกษตรกร พี่น้องชาติพันธุ์ หรือกลุ่มทุนใหญ่ แต่เป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไข เพราะ PM 2.5 ไม่ได้เลือกเกิดกับใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
รัฐมนตรีรายนี้ ที่เป็นหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาด้วย กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ตั้งกำแพงภาษีดังกล่าวว่า เป็นเพียงการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่อาจส่งผลเสียต่อระยะยาว
"และในส่วนของนโยบายพรรคเราเอง เราก็ได้เดินหน้ากันอย่างเต็มที่ ดังเช่นเมื่ออาทิตย์ก่อนเราได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตเซนเตอร์ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนนะครับ ในเรื่องการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตรรวมถึงการเผาไหม้ในพื้นที่ป่านะครับ ถึงได้ย้ำว่านโยบายที่ดี แนวทางที่ดีนั้น ควรจะเป็นการแก้ไขปัญหาปัจจุบันและในอนาคตไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่มองในระยะเพียงแค่ปัจจุบันแล้วไปแก้ปัญหาให้เกษตรกรในอนาคตนะครับ" นายวราวุธ กล่าว
ส่วนสิ่งที่ลงมือทำไปแล้ว นายวราวุธ เผยว่า มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการสั่งปิดอุทยานแห่งชาติในภาคเหนือ 6-7 แห่ง และการระดมกำลังเจ้าหน้าที่ไปควบคุมไฟป่า เรื่อยไปจนถึงขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการต่างๆ แล้ว ให้เข้มงวดในการเฝ้าระวังการเผาในพื้นที่ต่างๆ ที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบ