สถิติ “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้ ชีวิตคนไทยที่ไร้กฎหมายคุ้มครอง

สถิติ “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้ ชีวิตคนไทยที่ไร้กฎหมายคุ้มครอง

สถิติ “ผีน้อย” ในเกาหลีใต้ ชีวิตคนไทยที่ไร้กฎหมายคุ้มครอง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • กระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยสถิติของหน่วยบริการตรวจคนเข้าเมือง พบว่ายอดผู้อพยพเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งหมด 395,068 คน (ยอดล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2565)
  • ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ให้ข้อมูลจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้ โดยเป็นคนไทยที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย จำนวน 42,538 คน และอยู่อย่างผิดกฎหมาย จำนวน 139,245 คน
  • ปี 2563 มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ ได้เผยตัวเลขแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเกาหลีใต้ โดยนับตั้งแต่ปี 2558 มีจำนวน 522 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตกว่า 84% ไม่พบเอกสารการทำงานอย่างถูกต้อง

จากกรณีข่าวการเสียชีวิตของ “ผีน้อย” หรือคนไทยที่ไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเกาหลี ในช่วงที่ผ่านมา จุดประเด็นการถกเถียงอย่างร้อนแรงบนโลกออนไลน์อีกครั้ง มีทั้งฝ่ายที่รู้สึกเห็นใจในชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากและไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ ในยามเจ็บป่วย และฝ่ายที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อพฤติกรรมการทำงานอย่างผิดกฎหมายของคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ ข่าวการเสียชีวิตของผีน้อยไทยในเกาหลีใต้ ได้สะท้อนให้เห็นชีวิตของแรงงานผิดกฎหมาย ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือการดูแลอย่างที่ควรได้รับในฐานะแรงงาน แม้จะได้รับค่าแรงที่มากกว่าในประเทศไทยก็ตาม 

AFP

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ค่าแรง” เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยจำนวนมากตัดสินใจไป “เสี่ยงดวง” แอบทำงานในเกาหลีใต้ และยอมรับสภาพว่าจะไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ จากทางการไทยและเกาหลีใต้ แต่พฤติกรรมของคนไทยกลุ่มนี้อาจสร้างปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายตามมา และอาจกลายเป็น “ปัญหาระดับชาติ” ที่ไม่ว่าภาครัฐจะพยายามเข้ามาช่วยเหลือและแก้ไขมากแค่ไหน ก็ยังไม่สามารถรั้งคนไทยที่ต้องการเดินทางไปขายแรงงานอย่างผิดกฎหมายที่เกาหลีใต้ได้สักที 

แรงงานไทยในเกาหลีใต้

นับตั้งแต่ปี 2531 ประเทศเกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานไทย เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการแรงงานภายในประเทศเพิ่งสูงขึ้น แรงงานหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้จึงเดินหน้าเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม และทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง บริการ และอุตสากรรมการผลิตขนาดเล็ก หรือเป็นงานประเภท “3Ds” ได้แก่ งานลำบาก (Difficult) งานสกปรก (Dirty) และงานเสี่ยงอันตราย (Dangerous) 

AFP

กระทรวงยุติธรรมของประเทศเกาหลีใต้ เปิดเผยสถิติของหน่วยบริการตรวจคนเข้าเมือง พบว่ายอดผู้อพยพเข้าประเทศเกาหลีใต้อย่างผิดกฎหมาย มีจำนวนทั้งหมด 395,068 คน (ยอดล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2565) ซึ่งถือเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ก็ออกมาให้ข้อมูลจำนวนคนไทยที่พำนักอยู่ในเกาหลีใต้ โดยถือเป็นคนไทยที่อยู่อย่างถูกกฎหมาย จำนวน 42,538 คน และอยู่อย่างผิดกฎหมาย จำนวน 139,245 คน 

ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นในหลายประเทศ​ เกาหลีใต้ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยวและแรงงานกลับเข้าประเทศ ซึ่งคนไทยที่ต้องการจะไปทำงานก็หวังจะใช้ช่วงเวลานี้ในการหลบหนีไปตามพื้นที่ทำงานต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้ได้กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศต้องกรอกข้อมูลผ่านระบบ K-ETA เสียก่อน ยกเว้นการเดินทางเข้าเกาะเชจูที่ไม่ต้องกรอกข้อมูล ทำให้เกาะเชจูกลายเป็นจุดหมายปลายทางของคนไทยที่ต้องการเข้าไปทำงาน โดย BBC Thai เปิดเผยว่า มีคนไทยจำนวน 1,504 คน เดินทางไปยังเกาะเชจู ในช่วงวันที่ 2 - 22 สิงหาคม 2565 แต่ในจำนวนนี้ ถูกปฏิเสธการเดินทางเข้าเกาะถึง 855 คน และที่น่าสนใจก็คือ คนไทยที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าเกาะเชจู จำนวน 649 คน มีคนที่ “โดดทัวร์” หรือหลบหนีออกนอกเส้นทาง จำนวน 101 คน

สวัสดิภาพของแรงงานไร้กฎหมาย

สำหรับคนไทยที่ตัดสินใจเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ คงไม่มีใครคาดคิดเรื่องปัญหาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต ทว่า คนไทยมักจะได้เห็นข่าวคราวการเจ็บป่วย เสียชีวิต หรือขอความช่วยเหลือของผีน้อยในต่างแดนอยู่เสมอ ซึ่งในปี 2563 มูลนิธิทอมสัน รอยเตอร์ ได้เผยตัวเลขแรงงานไทยที่เสียชีวิตในเกาหลีใต้ โดยนับตั้งแต่ปี 2558 มีจำนวน 522 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตกว่า 84% ไม่พบเอกสารการทำงานอย่างถูกต้อง และ 4 ใน 10 ของผู้เสียชีวิต ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิต ขณะที่รายอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ อุบัติเหตุ และฆ่าตัวตาย 

AFP

การเสียชีวิตของแรงงานไทยในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ จะเสียชีวิตในสถานที่ทำงานหรือที่พัก แต่กลับไม่มีรายงานผลการชันสูตรศพ ส่วนใหญ่เสียชีวิตแบบไร้สาเหตุขณะนอนหลับ ทั้งนี้ แรงงานหลายหมื่นคนต้องทำงานหนักเกินกว่าเวลากฎหมายกำหนด และต้องทำงานในสถานที่สกปรก อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ หรือถ้าเจ็บป่วยก็ต้องใช้เงินรักษาจำนวนมาก ทำให้แรงงานหลายคนที่เจ็บป่วยต้องทนทรมานจนกว่าจะเสียชีวิต 

จากข้อมูลของบทความเรื่อง “แรงงานไทยผิดกฎหมายในสาธารณรัฐเกาหลี: สาเหตุและแนวทางแก้ไข” ของรองศาสตราจารย์ ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในปี 2560 สถานเอกอัครราชทูตไทยในเกาหลีใต้ มีภาระค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแรงงานไทยผิดกฎหมาย กว่า 100 ล้านวอน (ประมาณ 3 ล้านบาท) สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย เสียชีวิต และกรณีส่งกลับแรงงานไทยผิดกฎหมาย 

AFP

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องการทำงานและไม่มีสวัสดิการในการดูแลสุขภาพของแรงงาน หากไปทำงานอย่างผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ คนไทยมากมายก็ยังเลือกที่จะไป เนื่องจากค่าตอบแทนที่มากกว่าประเทศไทย โดยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 33,000 บาท หรือเกือบ 3 เท่าของเงินที่ได้รับตอนทำงานที่ไทย 

โครงการกลับบ้านโดยสมัครใจ

กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้กับกระทรวงแรงงานของไทย ได้จับมือกันกวาดล้างและผลักดันแรงงานไทยที่ลักลอบเข้าไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยมีโครงการสมัครใจกลับบ้าน ซึ่งทางการเกาหลีใต้จะงดเว้นค่าปรับ ไม่ถูกดำเนินคดี และยังสามารถกลับไปทำงานที่เกาหลีใต้ได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งโครงการครั้งล่าสุด เปิดโอกาสให้คนไทยที่ทำงานอย่างผิดกฎหมาย สามารถรายงานตัวกลับไทยโดยสมัครใจได้ ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 หากไม่รายงานตัวภายในช่วงเวลาที่กำหนด หรือถูกจับกุมในช่วงการกวาดล้าง จะต้องชำระค่าปรับจำนวน 30 ล้านวอน และจะถูกเพิ่มความเข้มงวดในการห้ามเดินทางเข้าเกาหลีใต้ในอนาคต 

AFP

ทั้งนี้ ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า นับตั้งแต่เปิดให้คนไทยออกจากเกาหลีใต้โดยสมัครใจในรอบล่าสุดนี้ มีคนไทยรายงานตัวกลับไทยแล้วกว่า 2,601 คน และเดินทางกลับมาถึงไทยแล้ว จำนวน 2,259 คน 

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังมีความพยายามที่จะจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้อย่างถูกกฎหมาย โดยมีการขอเพิ่มโควตาการส่งจัดแรงงานไทยไปเกาหลีใต้กว่า 600% ซึ่งในอนาคต เกาหลีใต้ก็ยินดีที่จะเพิ่มโควตาให้กับแรงงานไทย เนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานจึงมีความต้องการนำเข้าแรงงานต่างชาติจำนวนมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook