เกิดอะไรขึ้น ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ธนาคารอันดับ 16 ของสหรัฐ พังยับชั่วข้ามคืน

เกิดอะไรขึ้น ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ธนาคารอันดับ 16 ของสหรัฐ พังยับชั่วข้ามคืน

เกิดอะไรขึ้น ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ธนาคารอันดับ 16 ของสหรัฐ พังยับชั่วข้ามคืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Silicon Vallley Bank (ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 16 ของสหรัฐกลับพังยับในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมง เกิดอะไรขึ้นกับธนาคารแห่งนี้

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของธนาคารแห่งนี้อาจไม่คุ้นหูนัก แต่สำหรับบรรดานักลงทุนจากบริษัทร่วมทุนและสตาร์ตอัปหลายแห่ง ธนาคารแห่งนี้ถือเป็นแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งพบว่ามีบริษัทร่วมทุนมากกว่า 2,500 ราย และผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีจำนวนมากใช้บริการธนาคารแห่งนี้ โดยเฉพาะในช่วงยุคโควิด-19 ที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเติบโตอย่างมาก

เงินฝากที่เคยอยู่ที่ 60,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2563 พุ่งมาอยู่ที่เกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงเดียวกันของปี 2565

เงินเฟ้อฉุดสินทรัพย์ที่ถืออยู่ขาดทุน

ช่วงดังกล่าว เอสวีบี ไฟแนนเชียล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ กว้านซื้อสินทรัพย์ "ที่ดูเหมือนมั่นคง" มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นหลักทรัพย์ระยะยาวที่รัฐบาลสหรัฐค้ำประกัน ทำให้มูลค่าสินทรัพย์ในพอร์ตของเอสวีบีเพิ่มจาก 27,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปี 2563 ทะยานมาอยู่ที่ 128,000 ล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2564

แต่แล้วเมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ จากการแจกเงินช่วยเหลือช่วงโควิด-19 ต่อเนื่องด้วยสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ธนาคารกลางสหรัฐจึงปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอย่างมาก เพื่อสกัดเงินเฟ้อ มูลค่าสินทรัพย์เหล่านี้ในตลาดเสรีจึงลดลงทันที จนเมื่อปลายปี 2565 ขาดทุนไปมากกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์

ลูกค้าสตาร์ตอัปเจอพิษวงการเทคขาลง

เวลาเดียวกันนี้ บรรดาสตาร์ตอัปและบริษัทร่วมทุน ที่ต่างเผชิญชะตากรรมจากการผลาญเงินอย่างหนักและระดมทุนใหม่มาเสริมสภาพคล่องไม่ได้นั้น ก็แห่ถอนเงินออกมาใช้ ทำให้เงินฝากที่มีอยู่เกือบ 200,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นเดือน มี.ค. 2565 เหลืออยู่ 173,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นปี

แต่ปีนี้ยิ่งหนักกว่า เพราะเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ประเมินว่าปี 2566 นี้ เงินฝากจะลดลงที่ตัวเลขหลักเดียวช่วงกลางๆ ราว 5-6% กลายเป็นว่าเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ลดลงไปด้วยเลข 2 หลักแล้ว

แบงก์รัน: ผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งผ่านหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคาร Silicon Vallley Bank ในเมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐNOAH BERGER / AFPแบงก์รัน: ผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งผ่านหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคาร Silicon Vallley Bank ในเมืองซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐ

นักลงทุนกังวล แห่ถอนหนี

เมื่อวันพุธ (8 มี.ค.) ซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ จึงประกาศว่าได้ขายสินทรัพย์จำนวนมากออกไป เป็นมูลค่า 21,000 ล้านดอลลาร์ แต่นักลงทุนที่ยังคงกังวลเพราะเห็นท่าไม่ดี จึงเทขายหุ้นอย่างหนัก ส่วนบรรดาบริษัทร่วมทุนที่ฝากเงินไว้ก็ประกาศว่าจะถอนเงินออกจากธนาคารแห่งนี้

เอกสารจากหน่วยงานที่ควบคุมหลักทรัพย์ของรัฐแคลิฟอร์เนีย เผยว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (9 มี.ค.) ลูกค้าพยายามถอนเงินฝากออกมา รวมมูลค่าถึง 42,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 4 ของเงินฝากทั้งหมด แต่ธนาคารไม่มีเงินพอจ่าย และที่หนักกว่านั้นคือเงินฝากของบรรดาลูกค้ามีมูลค่ามากเกินกว่าที่รัฐบาลสหรัฐคุ้มครองที่ 250,000 ดอลลาร์

ราคาหุ้นของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ จึงร่วงลงราว 60% ในวันดังกล่าว

เมื่อวันศุกร์ (10 มี.ค.) บรรษัทประกันเงินฝากส่วนกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานคุ้มครองเงินฝากของรัฐบาลสหรัฐ ประกาศว่าลูกค้าจะเข้าถึงเงินจำนวนที่รัฐบาลคุุ้มครองไม่เกินเช้าวันจันทร์ ส่วนเงินที่เกินความคุ้มครองนั้นจะได้รับเงินปันผลล่วงหน้าไม่เกินสัปดาห์ถัดไป และผู้ฝากจะได้รับใบรับรองผู้ฝากและอาจได้รับเงินปันผลในอนาคตด้วยถ้าสามารถขายสินทรัพย์ของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์

บรรษัทประกันเงินฝากส่วนกลางของสหรัฐ ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ เป็นเหตุการณ์ธนาคารล้มครั้งใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์สหรัฐ ตามหลังการล้มของธนาคารวอชิงตัน มูชวล เมื่อปี 2551

ลามแบงก์อื่น-คริปโต

การล้มของซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ยังทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นธนาคารรายอื่นทั่ววงการ โดยเฉพาะรายที่เกี่ยวข้องกับวงการเงินคริปโตและที่ถือพันธบัตรรัฐบาล ทำให้มีการสั่งระงับการซื้อขายหุ้นของธนาคาร First Republic (เฟิสต์ รีพับลิก) และธนาคาร Signature (ซิกเนเจอร์) เมื่อเช้าวันศุกร์ (10 มี.ค.) 

ธุรกิจเงินคริปโตที่ฝากเงินกับซิลิกอน แวลลีย์ แบงก์ ก็พลอยโดนผลกระทบไปด้วย หนึ่งในนั้นคือ เซอร์เคิล อินเทอร์เน็น ไฟแนนเชียล จำกัด ที่ฝากเงินที่นี่ 3,300 ล้านดอลลาร์ สกุลเงิน ยูเอสดีซี ที่บริษัทนี้ออกให้ในกระดานค้าคริปโตนั้น ร่วงลงจากราว 1 ดอลลาร์ เหลือไม่ถึง 0.87 ดอลลาร์ เมื่อเช้าวันเสาร์ (11 มี.ค.)

ภาวะนี้เสี่ยงต่อที่เหรียญยูเอสดีซีจะล้มอีกเช่นกันถ้าหากท้ายที่สุดแล้วนักลงทุนเห็นว่าไม่มีทางที่ราคาเหรียญจะกลับไปสู่ระดับเดิมได้ คนกลุ่มนี้จะยอมขายในราคาขาดทุนด้วยเวลาอันเร็วที่สุด เพราะดีกว่าปล่อยเงินทิ้งไว้ให้เสื่อมค่าลงกว่าที่เป็นอยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook