ปางช้างเดือด ดราม่า "ช้างไพลิน" ถูกบิดเบือน หมองง ไม่เคยเจอเคสแบกจนหลังหัก

ปางช้างเดือด ดราม่า "ช้างไพลิน" ถูกบิดเบือน หมองง ไม่เคยเจอเคสแบกจนหลังหัก

ปางช้างเดือด ดราม่า "ช้างไพลิน" ถูกบิดเบือน หมองง ไม่เคยเจอเคสแบกจนหลังหัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปางช้างโต้ดราม่า "ช้างไพลิน" ลั่นมูลนิธิชอบใส่ร้าย สัตวแพทย์ งง ไม่เคยมีเคสไหนแบกจนหลังหัก ยืนยันด้วยงานวิจัย

จากกรณีเวปไซต์มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (Wildlife Friends Foundation Thailand หรือ WFFT) ได้เปิดเผยรายงานภาพเปรียบเทียบของช้างไทยที่ถูกใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดนใช้งานให้นักท่องเที่ยวขี่หลังจนทำให้ร่างกายของช้างเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดรูป ซึ่งภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มคนรักช้าง

ล่าสุดในวันนี้ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นวันช้างไทยที่ปางช้างแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ นายบุญทา ชัยเลิศ ประธานบริหารปางช้างแม่แตง พร้อมด้วย สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง ร่วมกันแถลงข่าวในประเด็นที่มีการอ้างว่ามีช้างเจ็บป่วยจากการทำงานหนักในธุรกิจท่องเที่ยว ต้องใส่แหย่งที่นั่งบนหลังช้างบริการนักท่องเที่ยวครั้งละถึง 6 คนมาเป็นเวลานานหลายสิบปี จนทำให้กระดูกสันหลังหักดูผิดรูปไปอย่างน่าสงสาร

นายบุญทา บอกว่า รู้สึกตกใจเมื่อได้รับทราบข่าวนี้ แต่ก็ไม่ได้ประหลาดใจมากนักเพราะมักมีมูลนิธิที่ชอบกล่าวอ้างอนุรักษ์ออกมาโจมตีการท่องเที่ยวช้างไทยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถึงเวลาใกล้ๆ วันช้างไทย ในวันที่ 13 มีนาคมของทุกปี เพื่อทำลายวงการท่องเที่ยวช้างไทย บิดเบือนและใส่ร้ายการเลี้ยงช้างไทยมาโดยตลอดว่าทารุณกรรมทรมานสัตว์ ทั้งๆ ที่วัฒนธรรมการเลี้ยงช้างไทยของคนไทยเรานั้นเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นนับร้อย ๆ ปีแล้ว จากช้างป่ากลายมาเป็นช้างบ้านผูกพันกันมาร่วมสร้างชาติกันมากับบรรพบุรุษไทยของเรา กระแสข่าวที่เกิดขึ้นตั้งข้อสังเกตว่ามูลนิธินั้นที่ออกมาโจมตี ทำไมมีแต่คนต่างชาติที่บ้านเมืองเขาไม่เคยมีช้างเลย แต่มาทำธุรกิจแฝงในนามนักอนุรักษ์สัตว์และสิ่งแวดล้อม เข้าไปดูในเว็บไซต์ก็เห็นแต่การเปิดรับบริจาค คล้าย ๆ กับมูลนิธิบางแห่งที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลด้วยการหาเงินจากความสงสารของผู้คนที่จิตใจอ่อนไหวจนลืมความเป็นจริงหรือข้อเท็จจริงไป

อยากจะให้ทุกคนช่วยรับข่าวสารด้วยใจที่เป็นธรรมและมีสติไม่หลงเชื่อไปในข่าวสารที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง ซึ่งในสมัยนี้ที่การสื่อสารรวดเร็วมากๆ ข้อมูลที่ได้รับมาต้องมีการกลั่นกรองให้ดี เรื่องนี้เชื่อว่ามีขบวนการจ้องทำลายชื่อเสียงของการท่องเที่ยวช้างไทยและการท่องเที่ยวไทย เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่ซบเซาไปนานเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 กำลังจะฟื้นตัวกลับมาดี กลับจะต้องมาสะดุดเพราะการโจมตีอย่างไร้สาระแบบนี้ ขอให้ทุกคนอย่าได้ไปหลงเชื่อ

และอยากจะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบช้างเชือกที่ถูกกล่าวอ้างว่าถูกใช้งานบรรทุกนักท่องเที่ยวจนหลังผิดรูป ว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร มีตั๋วรูปพรรณและเลขไมโครชิปหรือไม่ และขอให้จัดทีมงานสัตวแพทย์จากหน่วยงานของภาครัฐ เช่น กรมปศุสัตว์หรือสถาบันคชบาลแห่งชาติเข้าไปตรวจสุขภาพ และลักษณะทางกายวิภาคของช้างว่าเป็นอะไรและสาเหตุมาจากโรคอะไร รวมทั้งตรวจสอบที่มาของมูลนิธิและยอดการรับบริจาคด้วย เพื่อพิสูจน์ความจริงให้ปรากฏชัดว่าการสร้างกระแสข่าวด้านลบของช้างในครั้งนี้หวังผลอะไรกันแน่

ด้าน สพ.ญ.พนิดา เมืองหงษ์ สัตวแพทย์ประจำคลินิกช้างปางช้างแม่แตง บอกเช่นกันว่ารู้สึกแปลกใจ จากประสบการณ์ที่ทำงานเป็นสัตวแพทย์ด้านช้างที่ปางช้างแม่แตงมาเกือบสิบปี ไม่เคยพบกรณีช้างเจ็บป่วยแบบนี้เลย อีกทั้งยังมีงานวิจัยออกมารองรับว่าช้างสามารถรับน้ำหนักได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว และไม่ทำให้พบรูปแบบการเดินที่ผิดปกติ ซึ่งโดยปกติช้างโตเต็มวัยจะมีน้ำหนักเฉลี่ย 3,000 กิโลกรัม ซึ่งนั่นหมายถึงว่าช้างสามารถแบกรับน้ำหนักได้ถึง 450 กิโลกรัมนั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วช้างที่ทำงานรับนักท่องเที่ยวก็จะรับครั้งละ ไม่เกิน 2 คน รวมน้ำหนักควาญช้างและแหย่งแล้วก็ไม่เกิน 300 กิโลกรัม

นอกจากนี้ยังมีการปูวัสดุรองหลัง เช่น เปลือกต้นปุย กระสอบ แผ่นฟองน้ำ วางบนหลังให้หนา ถึงจะวางแหย่งลงไป ก่อนจะใช้สายรัดแหย่งกับตัวช้าง และเรายังจำกัดเวลาทำงานของช้างด้วยว่าในวันหนึ่งๆ ไม่เกินเชือกละ 6-8 รอบต่อวันเท่านั้น ซึ่งโดยเฉลี่ยก็ไม่ถึง แต่ละรอบใช้เวลา 15-30 นาที ระยะทาง 500 เมตรถึง 1 กิโลเมตร และช้างก็จะมีช่วงเวลาพักระหว่างรอบด้วย

สพ.ญ.พนิดา บอกว่า ปางช้างแม่แตงให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพช้างเป็นอย่างมาก ภารกิจดูแลช้างให้อยู่ดีกินดีมีสุขภาพที่ดีคือภารกิจหลักของเรา โดยมีสัตวแพทย์และผู้ช่วยคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด หากพบว่าช้างผิดปกติหรือมีอาการป่วย ก็จะถูกสั่งให้พักงานเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและทำการรักษาจนกว่าจะหาย ฝากให้ทุกคนมองเรื่องของสวัสดิภาพที่ช้างได้รับด้วย ไม่ใช่มองเพียงว่าเป็นงานหนักหรืองานเบา ปางช้างที่มีการจัดการที่ดีและช้างได้รับการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ มีควาญช้างดูแลเรื่องอาหารการกิน ที่หลับนอน รวมไปถึงด้านจิตใจ ควรจะได้รับคำชื่นชม

13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย ในปีนี้คนไทยหันมาสนใจช้างมากขึ้นแล้วก็อยากจะให้ทำความเข้าใจและเรียนรู้อย่างถูกต้องจริงๆ ว่าการเลี้ยงช้างของบ้านเราตอนนี้เป็นยังไง ช้างได้รับการดูแลและมีสวัสดิภาพที่ดีขนาดไหน ทั้งนี้เฟซบุ๊คแฟนเพจของโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จ.ลำปาง ก็ได้ออกมาโพสต์รวบรวมผลงาน ข้อมูลด้านวิชาการชี้แจงอย่างเป็นทางการถึงลักษณะการทำงานของช้างไทยในการท่องเที่ยว เป็นการชี้แจงให้ความรู้อย่างชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจในบริบทของการท่องเที่ยวช้างไทย ขณะที่ในวันช้างไทยปีนี้ทางปางช้างแม่แตงจัดทำบุญและเลี้ยงสะโตกช้าง ขนผลไม้นานาชนิดให้กับบรรดาช้างในปางช้างที่มีกว่า 70 เชือกได้กินกันอย่างเต็มที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook