ย้อนคดีดัง 29 ปีก่อน ละครลวงโลก ขโมยพลอยแดง 2 ก้อนมูลค่า 1,300 ล้านหายปริศนา
จากกรณีคดีดังเมื่อ 29 ปีก่อน คดีขโมย พลอยแดง ขนาดใหญ่ 2 ก้อน มูลค่า 1,300 ล้านบาท ที่นักธุรกิจ 4 คนซึ่งเป็นเพื่อนกันได้ร่วมหุ้นกันซื้อ และเตรียมจะขายต่อให้นักธุรกิจสหรัฐฯ แต่กลับถูกหนึ่งในหุ้นส่วนหักหลัง ร่วมมือกับตำรวจ จัดฉากการจับกุม ยึดพลอยไป ก่อนพลอยหายไร้ร่องรอย ผ่านมา 29 ปี ศาลฎีกาตัดสินให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้เงินให้ผู้เสียหาย 157 ล้าน แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ ยังไม่ได้เงินสักบาทเดียว
ย้อนรอย พลอยพันล้าน
นายธันยพัฒน์ หนึ่งในหุ้นส่วนเจ้าของพลอย เล่าว่า พลอยแดงสองก้อนนี้ เพื่อน 4 คน ประกอบด้วยตน, นายวีรชาติ, นายแพทย์สวัสดิ์ (เสียชีวิตแล้ว) และ นายเอก ปาลกะวงศ์ รวมเงินกันประมาณ 100 กว่าล้านบาท ซื้อมาจากเมียนมา เก็บรักษาไว้ในเซฟธนาคารกรุงไทย สำนักงานใหญ่ ย่านนานา
ต่อมาได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับนักธุรกิจชาวต่างชาติ ชื่อ นายวิลเลียม ตกลงซื้อขายกันในราคา 52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ค่าเงินไทยตอนนั้น ดอลลาร์ละ 25 บาท ราคาพลอยจึงคิดเป็นเงินไทย 1,300 บาท ต่อมามีการนัดหมายจ่ายเงิน ทั้ง 4 คน จึงเบิกพลอยออกมาจากธนาคาร แล้วเอามาพักรอที่โรงแรมเอราวัณ รอส่งมอบกับนายวิลเลียม โดยในคืนนั้นมี 3 คนที่นอนเฝ้าพลอยที่โรงแรม คือนายวีระชาติ นายเอก และ นายธันยพัฒน์
หุ้นส่วนหักหลัง สร้างละครฉากใหญ่ ตำรวจบุกจับ ก่อนชิงพลอยหายไป
นายเอก หนึ่งในหุ้นส่วน แอบไปวางแผนกับ พ.ต.อ.นิยม (หลังจากนั้นได้เลื่อนยศเป็น พล.ต.ต.นิยม) ซึ่งเป็นเพื่อนของนายเอก สร้างเรื่อง สร้างสถานการณ์ ให้มีคนแจ้งไปความจับนายเอก ที่ สภ.นครพนม ซึ่งเป็นท้องที่ของ พ.ต.อ.นิยม ในข้อหายักยอกพลอย เมื่อสร้างเรื่องแบบนี้ ทำให้พลอยตกเป็นของกลาง และนายเอกเป็นผู้ต้องหา นำไปสู่การบุกจับกุม
โดยในคืนที่ทุกคนนอนเฝ้าพลอยที่โรงแรมเอราวัณ พ.ต.อ.นิยม นำกำลังตำรวจเข้ามาที่โรงแรม มาทั้งหมด 6 นาย พร้อมอาวุธครบมือ บอกว่ามาจับนายเอกตามหมายจับ กดทั้ง 3 คนลงบนพื้น นายเอกเป็นคนบอกตำรวจว่าพลอยอยู่ในเซฟ ตำรวจจึงเอาพลอยกับตัวนายเอกหนีออกไปจากโรงแรม โดยตำรวจบอกว่าให้คนที่เหลือ ไปเจอกันที่ สน.ลุมพินี แต่สุดท้ายตำรวจชุดจับกุมไม่ได้ไปที่โรงพักลุมพินี บอกว่าพลอยถูกเอาไปที่ สภ.นครพนม เพราะคดีอยู่ที่นั่น
หลังตามไปที่โรงพักลุมพินีแล้วไม่เจอพลอย ผู้เสียหายทั้งหมด รีบบินไปที่นครพนม เพื่อติดตามเอาพลอยคืน แต่ตำรวจบอกว่า เจ้าทุกข์ได้ยอมความกับจำเลยคือนายเอก และตำรวจได้คืนพลอยของกลางไปแล้ว หลังจากนั้นพลอยก็หายไปอย่างไร้ร่องรอย ทำให้หุ้นส่วนที่เหลือเดือดร้อนหนัก กู้เงินมาลงทุนซื้อพลอย สุดท้ายพลอยอันตรธานหายไป แต่ละคนต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายจากเหตุการณ์นี้
ศาลฎีกาสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จ่าย 157 ล้าน
ผู้เสียหายทั้งหมด สู้คดีกันมากว่า 27 ปี ศาลฎีกาตัดสินจนคดีถึงที่สุด พวกตนชนะคดี ศาลสั่งให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย รวมแล้วกว่า 157 ล้านบาท ตั้งแต่ 18 สิงหาคม 2564 โดยจำเลยที่ 1 เสียชีวิต จำเลยที่ 3 ป่วยติดเตียง เหลือจำเลยสุดท้ายคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนนี้ภายในไม่เกิน 30 วัน หรือไม่เกิน 45 วัน
ต่อมามีการนัดประชุมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตกลงกันในเรื่องนี้ มีหนึ่งในตำรวจที่อยู่ในที่ประชุม บอกว่า พร้อมจ่ายทันที 5 เปอร์เซ็นต์ จากยอดค่าเสียหายทั้งหมด แต่เงินดังกล่าว หากจ่ายมาก็คงโดนกรมบังคับคดียึดทรัพย์ไปหมด แต่เงินก้อนใหญ่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ยอมจ่าย
เรื่องนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำเรื่องส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น นายกมีคำสั่งลงมาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปต่อรองกับผู้เสียหาย แล้วดำเนินการจ่ายเงิน ซึ่งเขาก็มาต่อรองจริงๆ ทางผู้เสียหายยอมลดให้ 4 ล้านบาทเศษ แต่หลังจากนั้นก็เงียบไป
อัยการอาวุโสลั่น ยังไงก็ต้องจ่าย ต้องเอาภาษีประชาชนมาจ่าย
ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโสสำนักงานการสอบสวน มองว่า เรื่องนี้เมื่อศาลสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นจำเลยร่วมจ่ายเงิน ยังไงสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องจ่าย ต้องเอาเงินจากสำนักงบประมาณแผ่นดินมาจ่าย เพราะจะไปยึดทรัพย์สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้ แล้วตำรวจค่อยไปไล่เบี้ยเอาเงินจากจำเลยอีก 2 ราย ไม่ใช่หน้าที่ของผู้เสียหายแล้ว เรื่องนี้จะบิดพลิ้วไม่จ่ายไม่ได้
เรื่องนี้ไม่ต้องไปร้องกับหน่วยงานไหนเลย สามารถยื่นร้องต่อศาลให้เรียก ผบ.ตร. มาชี้แจงเลยว่าทำไมไม่จ่าย ในเมื่อมีคำสั่งศาลออกมาแล้ว หรือถ้าจะโยนให้ สำนักงบฯ ก็ต้องไปตาม ผอ.สำนักงบฯ มาชี้แจงด้วย
ส่วนเงินที่ต้องเอามาจ่ายให้ผู้เสียหาย ต้องเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน ที่มาจากภาษีประชาชน เรื่องนี้รัฐก็ต้องไปไล่บี้หาคนผิดมารับผิดชอบให้ได้ เพื่อชดใช้คืนให้กับเงินหลวง
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ