สรุปมาให้แล้ว! ระดมนักวิชาการ ไขข้อข้องใจ "ซีเซียม-137" กระจ่างทุกประเด็น
จากกรณี ซีเซียม-137 ที่ติดตั้งอยู่ภายในแท่งเหล็กบนไซโล หายไปจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง ใน จ.ปราจีนบุรี ก่อนจะมีการแถลงว่าตรวจพบรังสี ซีเซียม-137 บริเวณโรงหลอมโลหะแห่งหนึ่งในพื้นที่ มีการตรวจพบฝุ่นแดงซีเซียม-137 จนเกิดข้อสงสัยมากมายว่า แท่งที่หายไปถูกหลอมแล้วจริงหรือไม่ และจะเกิดอันตรายอย่างไรต่อประชาชน วันนี้ รายการโหนกระแส ระดมนักวิชาการด้านรังสี และนิวเคลียร์ มาร่วมถกประเด็นต่างๆ เพื่อไขข้อสงสัยให้ประชาชน โดย Sanook News ได้สรุปประเด็นต่างๆ ดังนี้
-
ซีเซียม และ ซีเซียม-137 คืออะไร
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า “ซีเซียม” จริงๆเป็นแร่ตามธรรมชาติ แต่พอดัดแปลงไอโซโทป ให้มันปลดปล่อยรังสีออกมา กลายเป็น “ซีเซียม-137” ติดตั้งไว้ในอุปกรณ์วัดระดับ ติดไว้ในไซโลโรงไฟฟ้าเพื่อวัดระดับขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาชีวมวล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
ขณะที่ ดร.รุ่งธรรม ทาคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า แท่งเหล็กที่มีการแชร์กันว่ามันหายไปจากโรงไฟฟ้า จริงๆ มันคืออุปกรณ์วัดระดับ ซึ่งซีเซียมบรรจุเป็นแคปซูลสเตนเลสอยู่ภายใน โดยมีตะกั่วเคลือบสองชั้น สำหรับดูดซับรังสีจากซีเซียม หากไม่ถูกแกะ แงะ จนซีเซียมที่บรรจุอยู่ภายในหลุดออกมา ก็ถือว่าไม่มีอันตรายอะไร
ด้าน นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ชี้ว่า ซีเซียม เป็นวัสดุกัมมันตรังสี เป็นวัสดุอันตราย พอมันถูกบรรจุในกระบอกเหล็กแบบนี้มันก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าถูกแกะ ถูกแงะ ให้ซีเซียมภายในหลุดออกมาก็จะอันตราย จริงอยู่ว่ามันไม่ได้เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด แต่เราก็ต้องไม่ประเมินมันต่ำเกินไป เพราะซีเซียมเคยถูกเอาไปทำ Dirty Bomb ในสงคราม คือเอาสารกัมมันตรังสีไปใส่ไว้ในระเบิด เมื่อระเบิดแล้วรังสีกระจายออกไป ก็จะทำให้คนป่วย
-
แท่งเหล็กที่หายไป ถูกหลอมจริงไหม
ณ เวลานี้ยังฟันธงไม่ได้ว่า ฝุ่นแดงซีเซียม-137 ที่ตรวจเจอที่โรงหลอม เป็นเพราะการหลอมแท่งเหล็กที่หายไปหรือไม่ มันยังไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าใช่แน่ๆ แต่ถ้าไม่ใช่ ก็ยิ่งน่ากลัว เพราะแปลว่ามีแท่งเหล็กอันที่ 2 ถูกหลอมไปแล้ว ไม่ได้มีแค่แท่งเดียวที่หายไป
ขณะที่คำว่า “ฝุ่นแดง” ที่ถูกเรียกกันติดปาก จริงๆ มันเป็นคำที่ใช้ในโรงงานโดยทั่วไปอยู่แล้ว เกิดจากการหลอมโลหะทั่วๆไป แล้วเกิดตะกรัน สนิมต่างๆ มันกลายเป็นฝุ่นสีแดง ไม่ได้หมายความว่า เจอฝุ่นแดงแล้วจะปนเปื้อนกัมมันตรังสี เผาโลหะที่ไหนก็เกิดฝุ่นแดงทั้งนั้น
ขณะที่ ดร.รุ่งธรรม ทาคำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ บอกว่า เรามีวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ให้ได้ว่า สิ่งที่ถูกหลอมในโรงหลอมใช่แท่งที่หายไปหรือไม่ และถ้าไม่ใช่ ก็ต้องไปตามหาแท่งที่หายไปให้เจอโดยเร็วที่สุด
-
อันตรายแค่ไหน ควรกังวลหรือไม่
ผศ.ดร.นภาพงษ์ พงษ์นภางค์ นายกสมาคมรังสีเทคนิคนานาชาติ โฟนอินเข้ามาให้ความรู้ว่า ปกติธาตุกัมมันตรังสีที่ใช้ในวงการอุตสาหกรรม จะมีความแรงของรังสีไม่มาก เมื่อเทียบกับกรณีของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เคสในบ้านเราจะน้อยกว่าเชอร์โนบิลปริมาณ 57 ล้านเท่า ด้วยความที่ปริมาณมันน้อยขนาดนี้ สำหรับเคสที่เกิดในบ้านเราตอนนี้ ส่วนตัวก็มองว่าไม่น่ากังวลว่ามันจะแพร่กระจายไปในวงกว้างขนาดนั้น ยกเว้นว่าได้รับ หรือสัมผัสในระยะใกล้ เช่นว่าไปกอดมันไว้เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ทำให้ผิวหนังเกิดอาการอักเสบไหม้ แต่ก็ไม่ได้หมายความมันจะไม่อันตรายเลย
ถ้าสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ถ้าสิ่งที่ถูกหลอมเป็นแท่งเหล็กนี้จริงๆ คนที่จะได้รับผลกระทบคือคนที่อยู่ใกล้ชิดตอนที่มันถูกหลอม หรือสูดเอาฝุ่นแดงเข้าไป แต่กรณีทีมันแพร่กระจายออกไป ด้วยปริมาณรังสีที่น้อยขนาดนี้ มันจะถูกเจือจางตามธรรมชาติอยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล
-
สิ่งปนเปื้อน จัดการอย่างไร
นายกิตติ์กวิน อรามรุญ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินนิวเคลียร์และรังสี โฟนอินเข้ามาแจ้งว่า ขยะโลหะ 24 ตัน ที่พบในโรงหลอม ที่พบว่ามีการปนเปื้อนซีเซียมในปริมาณน้อย โลหะเหล่านี้จะถูกจัดเก็บในพื้นที่ที่ปลอดภัย ขณะที่การเก็บตัวอย่างดิน น้ำ อากาศ ก็ไม่พบการปนเปื้อนรังสีแต่อย่างใด
ส่วนที่มีข่าวลือว่า ถุงบิ๊กแบ็กต่างๆ ที่ปนเปื้อนรังสี ในโรงหลอม ถูกเอาไปฝังดิน ก็ไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าการปนเปื้อนเกิดในพื้นที่จัดเก็บทั้งหมด ไม่มีการรั่วไหล หรือหลุดรอดออกมาภายนอกแน่นอน
-
ใครต้องรับผิดชอบ
ดร.รุ่งธรรมชี้ว่า ประเทศเรามีกฎหมายบังคับเพื่อป้องกันวัตถุเหล่านี้ไม่ให้สูญหายอยู่ ผู้ที่ครอบครองวัตถุ วัสดุรังสี จะต้องทำบัญชีตรวจสอบแจ้งมาที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติทุกๆ ปี เพื่อป้องกันไม่ให้วัตถุเหล่านี้มันหาย ซึ่งเหตุการณ์นี้ ที่เรารู้ว่าแท่งเหล็กนี้มันหายไป ก็เพราะโรงไฟฟ้าเขาทำบัญชีตรวจสอบตามรอบปี แล้วเจอว่าของอยู่ไม่ครบ ถึงได้รู้ว่ามันหายไป และเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา ซึ่งตอนนี้ก็ต้องมาดูว่า ทางโรงไฟฟ้าที่ครอบครองแท่งเหล็กนี้จะมีความผิดฐานใดบ้าง กรณีที่ทำให้แท่งเหล็กนี้หายไป
-
ถอดบทเรียน
ขณะที่นักวิชาการทั้ง 3 ท่านมองตรงกันว่า สิ่งที่ต้องทำให้ชัดตอนนี้ ที่ทางภาครัฐต้องไขข้อสงสัยให้ได้ คือ แท่งที่ถูกหลอมไป คือแท่งที่หายไปตอนแรกจริงไหม ถ้าใช่ จนกลายเป็นฝุ่นแดงไปแล้ว ก็ถือว่าสบายใจไปได้ระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องเตาหลอมของโรงหลอมดังกล่าว มันเป็นระบบปิดจริงไหม ควันฝุ่นต่างๆ ไม่รั่วไหลออกมาข้างนอกจริงไหม มีการกรองตามมาตรฐานจริงไหม อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำให้ชัด
รศ.ดร.เจษฎา เล่าว่าหลังจากทราบว่าแท่งเหล็กดังกล่าวหายไป ตนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของหาย แต่มันคือเรื่องวิกฤตนิวเคลียร์ ควรเป็นเรื่องใหญ่ หน่วยงานต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อจัดการเร่งด่วน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรากลับไม่เป็นอย่างนั้นเลย
รศ.ดร.เจษฎา ยังชี้อีกว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ คนไทยไม่รู้ความน่ากลัวของเครื่องหมายนิวเคลียร์ ใบพัด 3 ตัวนี้เลยหรือ ปกติถ้าแท่งเหล็กนี้หล่นลงมาจากปล่องไซโล คนงานในโรงงานก็ต้องสะดุ้งแล้ว แล้วคนที่เก็บขายก็ควรต้องสะดุ้ง คนที่รับซื้อของเก่าก็ต้องสะดุ้ง แต่ปรากฎว่าเรื่องนี้ไม่มีใครสะดุ้งเลย
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย ยังกล่าวถึงการแถลงข่าวของภาครัฐเมื่อวานนี้ ว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำหรับภาครัฐ ที่มาตั้งโต๊ะแถลงแล้วกลับได้รับผลตอบรับจากประชาชนในทางที่ไม่ดีนัก อยากให้มองว่า ประชาชนเขาสงสัย และตั้งคำถาม บางครั้งอาจจะมีความไม่พอใจ หรืออาจจะกล่าวโทษรัฐ อยากให้ทางภาครัฐเองอย่าไปตอบโต้ แต่ให้เอาเหตุผล เอาข้อเท็จจริง ที่เป็นวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ทำให้เขาเข้าใจ ทำให้เขาสิ้นสงสัย ด้วยข้อมูลที่เป็นความจริง
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ