วิศวะ จุฬาฯ รับตรวจ ซีเซียม-137 ให้กับประชาชนที่กังวลได้รับรังสี

วิศวะ จุฬาฯ รับตรวจ ซีเซียม-137 ให้กับประชาชนที่กังวลได้รับรังสี

วิศวะ จุฬาฯ รับตรวจ ซีเซียม-137 ให้กับประชาชนที่กังวลได้รับรังสี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีข่าว “ท่อวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137” ได้หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำใน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี และตรวจพบภายหลัง อาจจะถูกหลอมไปแล้วที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง ในจังหวัดปราจีนบุรีนั้น

วันนี้ (21 มี.ค.66) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แพทย์ เพ่งวาณิชย์ หัวหน้าภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้รับทราบจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ที่ว่า มีตรวจพบการปนเปื้อนของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่โรงงานหลอมเหล็กแห่งหนึ่งนั้น ซึ่งนี้คือ แสดงว่ามีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ผ่านการแปรสภาพจากสภาพเดิมไปแล้ว หรือหมายถึงว่า วัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้ผ่านกระบวนการหลอมมาแล้วพร้อมกับโลหะอื่นๆ ซึ่งระหว่างกระบวนการหลอม สามารถเกิดผงฝุ่นปนเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ได้

เนื่องจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 เป็นวัสดุควบคุมกำกับดูแลการใช้งานซึ่งโดยปกติจะไม่มีการส่งจัดการด้วยวิธีการหลอม ประกอบกับเงื่อนเวลาที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผลของการหลอมมาจากท่อบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ได้หายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำที่เจ้าหน้าที่กำลังตามหาอยู่

โดยปกติกระบวนการหลอมเหล็กที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากลจะเป็นระบบปิด จึงไม่ควรเกิดการฟุ้งกระจายของผงฝุ่นที่เกิดขึ้นออกไปนอกเตาหลอม ซึ่งรวมถึงส่วนที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีตัวนี้ด้วยถ้าหากมีการหลอมปนไปกับเหล็กจริง ๆ  การหลอมจะทำให้สารกัมมันตรังสีที่แต่เดิมมีลักษณะเป็นก้อนเดียวแยกออกจากกันและมีการกระจายตัวออกไป ทำให้ปริมาณรังสีที่แผ่ออกมาต่อพื้นที่ลดน้อยลง ส่งผลให้หากมีผู้ได้รับรังสีชนิดนี้ก็ได้รับอันตรายจากการได้รับแผ่รังสีน้อยลงเช่นเดียวกัน

 

แต่เนื่องจากสารกัมมันตรังสีกลายเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ๆ หรือ ฝุ่น ซึ่งอาจเกิดการฟุ้งกระจายออกไปนอกบริเวณเก็บได้หากมีการปกคลุมไว้ไม่ดีพอ ทำให้มีโอกาสที่มนุษย์จะสูดดมหรือบริโภคเข้าไปภายในร่างกายได้ อย่างไรก็ดี ร่างกายมนุษย์มีกลไกที่สามารถกำจัดซีเซียม-137 ออกได้ หากไม่ได้สูดดมหรือบริโภคเข้าไปในปริมาณมาก ก็จะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์แพทย์  กล่าวต่อว่า โดยปกติแล้ว คนมีโอกาสได้รับรังสีจากสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่แพร่กระจายด้วยกัน 2 วิธี

วิธีแรก คือ ฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม-137 อาจจะฟุ้งมาเกาะตามเสื้อผ้าหรือผิวหนัง โดยฝุ่นซีเซียม-137 นี้ สามารถแผ่รังสีที่ผิวหนังเราได้ หากเป็นเช่นนั้นถอดเสื้อผ้า ชำระล้างร่างกายทันทีด้วยน้ำเปล่า เราก็สามารถกำจัดฝุ่นหรือผงวัสดุกัมมันตรังสีออกจากร่างกายเราได้

วิธีที่สอง คือ การที่เราสูดดมเอาฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม-137 เข้าไปในร่างกาย หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนสารซีเซียม-137 หรือที่มาเกาะบริเวณใกล้จมูกหรือปากเราแล้วมีการเผลอเข้าสู่ร่างกายเรา ก็จะมีการผ่านเข้าไปยังระบบทางเดินอาหาร หรือ ทางเดินหายใจ แต่ด้วยสารซีเซียม-137 นี้มีคุณสมบัติคล้ายกับโพแทสเซียม แม้ว่าจะกระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ แต่ก็ถูกขับถ่ายออกมาจากร่างกายได้ค่อนข้างเร็วตามกลไกเดียวกันกับโพแทสเซียม หากมีการสะสมจะมีการสะสมตัวอยู่ที่เนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ แต่ก็จะสะสมอยู่ไม่นาน ประมาณ 10% สามารถกำจัดออกเร็วโดยจะมีค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพเพียง 2 วัน และส่วนที่เหลือจะถูกกำจัดออกด้วยค่าครึ่งชีวิตทางชีวภาพราว 110 วัน ซึ่งหมายความว่าซีเซียมที่ได้รับจะอยู่ในร่างกายไม่กี่เดือนเท่านั้น และการกำจัดจะเกิดขึ้นเร็วกว่าด้วยในเด็ก

แม้ฝุ่นปนเปื้อนสารซีเซียม-137 ที่ผ่านการหลอมแล้วจะยังแผ่รังสีอยู่ แต่หากมีการจัดการที่ถูกวิธีก็จะช่วยลดความเป็นไปได้ที่จะส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อคนทั่วไปได้ เนื่องจากซีเซียม-137 ที่ผ่านการหล่อหลอมทำให้ความรุนแรงในการปล่อยรังสีต่อพื้นที่ลดน้อยลงไปมาก ต้องสัมผัสเป็นเวลานานจึงจะส่งผลใดๆ ต่อร่างกาย ส่วนฝุ่นปนเปื้อนซีเซียม-137 ค่อนข้างเป็นสารที่มีน้ำหนักทำให้ไม่สามารถกระจายไปตามลมได้ไกลมากนัก ประกอบกับปริมาณที่ไม่มากเพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ที่โรงหลอม การควบคุมพื้นที่ของการปนเปื้อนจึงดำเนินการได้ไม่ยากนัก

ดร.พงษ์แพทย์ หัวหน้าภาควิศวกรรมนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า ทางภาครัฐตระหนักถึงเหตุการณ์ลักษณะนี้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้และมีกระบวนการในการติดตามและเฝ้าระวังเตรียมไว้พอสมควรแล้ว ซึ่งเชื่อว่าเป็นไปตามแนวทางที่ปฏิบัติกันในระดับสากล

ส่วนวิธีการจัดการกับฝุ่นที่ปนเปื้อนสารรังสีซีเซียม-137 หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ เปิดเผยว่า โดยปกติกากกัมมันตรังสีจะมีวิธีการจัดการที่สามารถเลือกใช้ได้ เช่น การจัดเก็บในภาชนะที่กันการรั่วไหลออกไปได้ง่าย ซึ่งอาจมีการปรับสภาพก่อนการจัดเก็บเพื่อให้อยู่ในรูปที่สะดวกต่อการดูแล เนื่องจากต้องจัดเก็บไปจนกว่าซีเซียม-137 จะสลายตัวจนอยู่ในระดับที่ปล่อยออกสู่ธรรมชาติหรือกำจัดทิ้งได้

ทั้งนี้ ซีเซียม-137 มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 30 ปี หมายถึงว่าทุก 30 ปี จำนวนสารซีเซียม-137 จะสลายตัวลดจำนวนไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งตามข้อมูลของวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ที่สูญหายไปนี้มีค่ากัมมันตภาพรังสีเริ่มต้นที่ 80 มิลลิคูรี โดยเขาใช้งานมาเกือบ 30 ปีแล้ว นั้นหมายถึงว่า วัสดุนี้เหลืออยู่อีก 40 มิลลิคูรี ที่จะสามารถแผ่รังสีออกมาได้ และอีก 30 ปี ต่อไปข้างหน้า สารรังสีซีเซียม-137 นี้จะสลายตัวไปอีกครึ่งหนึ่งเหลือ 20 มิลลิคูรี สุดท้ายก็จะสลายต่อไปเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับต่ำมาก สามารถปลดปล่อยสู่ธรรมชาติได้

หากผู้ใดในพื้นที่มีความกังวลหรือคาดว่ามีโอกาสประสบกับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 สามารถติดต่อภาควิชาวิศวกรรมนิวเคลียร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02 218 6781 เพื่อช่วยในการตรวจวัดปริมาณรังสีโดยรอบได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook