เลือกตั้ง 2566 : สรุปวิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-ในเขต-นอกราชอาณาจักร

เลือกตั้ง 2566 : สรุปวิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-ในเขต-นอกราชอาณาจักร

เลือกตั้ง 2566 : สรุปวิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-ในเขต-นอกราชอาณาจักร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่มีการยุบสภา กกต. กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่สำหรับผู้ที่ติดธุระในวันเลือกตั้งนั้น หรืออาศัยอยู่ไกลจากภูมิลำเนา สามารถใช้สิทธิ์ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-ในเขตเลือกตั้ง โดยวันนี้ 9 เมษายน 2566 เป็นวันสุดท้ายในการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค. 66 (หรือก่อนเลือกตั้งจริง 1 สัปดาห์)

แต่การจะใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าได้นั้น จะต้องลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งขั้นตอนลงทะเบียนทำได้ง่ายๆ ไม่กี่ขั้นตอน Sanook News ได้รวบรวมข้อมูลการ เลือกตั้ง 2566 และ ขั้นตอนการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า มาให้ดังนี้

คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

  • มีสัญชาติไทย หรือหากเคยแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • อายุไม่ตํ่ากว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง
  • มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

ผู้ที่ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง

  • เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง
  • ต้องคุมขังโดยหมายของศาล หรือคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า มี 2 กรณี คือ เลือกตั้งล่วงหน้าในเขต และเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ซึ่งทั้งสองกรณี มีรายละเอียด “แตกต่าง” กัน ดังนี้

  1. เลือกตั้งล่วงหน้า “ในเขต” 
    • ผู้ได้รับคําสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง
    • ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ใช่ข้าราชการ/เจ้าหน้าที่ของรัฐ) ที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตที่ตนมีสิทธิ
  2. เลือกตั้งล่วงหน้า “นอกเขต”
    • ผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
    • ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง 

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า "ในเขต" เลือกตั้ง 

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต คือ

  1. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเลือกตั้ง
  2. ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป (ไม่ใช่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ) แสดงหลักฐานว่าในวันเลือกตั้งตนต้องไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote
  • คําสั่งของทางราชการ หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัฐ
  • เอกสารชี้แจงเหตุผลที่ไม่สามารถไปเลือกตั้งได้พร้อมรับรองสำเนา (กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วไป)

โดยสามารถยื่นคำขอเป็นรายบุคคล หรือยื่นเป็นคณะบุคคล ผ่านสองวิธี ดังนี้

  1. วิธีที่ 1 ไปที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น)
  2. วิธีที่ 2 ส่งคำขอทางไปรษณีย์ โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการเขต

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้า "นอกเขต" เลือกตั้ง 

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต คือ

  1. ผู้ที่อาศัยอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
  2. ผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งไม่ถึง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่าย และหมายเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote

ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มี 3 ช่องทาง

  1. ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่นด้วยตัวเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทนก็ได้
  2. ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องถิ่นทางไปรษณีย์ โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ จ่าหน้าซองถึงนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่น หรือผู้อำนวยการเขต
  3. ยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ "กรมการปกครอง" หรือ แอปฯ Smart Vote

การยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์ สามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องนําส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียน แต่ กรณีที่ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ต้องส่งเอกสารและหลักฐานประกอบการลงทะเบียนด้วย

ขั้นตอนลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมการปกครอง

  1. เข้าเว็บไซต์ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต คลิก

  2. กรอกข้อมูล
    • เลขบัตรประจำตัวประชาชน
    • เลขรหัสกำกับบัตร (หลังบัตรประชาชน)
    • ชื่อ (ไม่ต้องใส่คำนำหน้า)
    • นามสกุล
    • วันเดือนปีเกิดตามบัตรประชาชน
    • รหัสประจำบ้าน (ในสำเนาทะเบียนบ้าน)

      เลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตออนไลน์หน้าจอลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต
  3. ระบบจะแสดงข้อมูลของเรา พร้อมกับเขตเลือกตั้งตามภูมิลำเนา และวันเลือกตั้งลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต
  4. เลือกจังหวัดที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า
    ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต
  5. เลือกสถานที่ที่สะดวกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า
    ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต
  6. กดยืนยัน
    ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต

เมื่อลงทะเบียนเสร็จแล้ว สามารถบันทึกคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าเป็นไฟล์ .pdf ลงในโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้

หลังจากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว สามารถเปลี่ยนสถานที่ในการเลือกตั้งได้หรือไม่

คำตอบคือ ได้ ผู้ที่เคยลงทะเบียนไว้แล้วอยากเปลี่ยนสถานที่ จะเปลี่ยนได้อีกเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น ด้วยการกรอกข้อมูลพื้นฐานเหมือนเดิมแล้วเลือกจังหวัดและสถานที่ใหม่

ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต

หากยกเลิกลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า แล้วไปใช้สิทธิ์วันจริงได้หรือไม่

คำตอบคือ ได้เช่นกัน เพียงแค่เข้าไปกรอกข้อมูลพื้นฐานเหมือนเดิมและกด "ยกเลิกการลงทะเบียน" ปุ่มสีแดง

กรณีเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร

ผู้ที่มีสิทธิยื่นขอเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร คือ คนไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง และมีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร เช่น ผู้ที่ไปทำงาน ผู้ที่ไปเรียนต่อ

สิ่งที่ต้องเตรียมในการลงทะเบียน ได้แก่

  • หนังสือเดินทาง
  • บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ และมีเลขประจำตัวประชาชน
  • แบบคำร้องขอใช้สิทธิฯ หรือ ดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Smart Vote

วิธียื่นคำขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร มี 3 วิธี ดังนี้

  1. วิธีที่ 1 ยื่นคำขอลงทะเบียนที่ สถานเอกอัครราชทูตที่ตนมีถิ่นอยู่
  2. วิธีที่ 2 ส่งคำขอทางไปรษณีย์ ถึงสถานเอกอัครราชทูต
  3. วิธีที่ 3 ลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้า
    • ผ่านเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/popout/
    • ทางแอปพลิเคชั่น Smart Vote (ดาวน์โหลดทาง Google Play หรือ App Store)
    • แอปพลิเคชั่น ThaID

สำหรับวิธีที่ 3 การลงทะเบียนขอใช้สิทธิล่วงหน้าสามารถลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องเตรียมส่งเอกสารเหมือนสองวิธีแรก

สำหรับผู้ที่อยู่ในประเทศไทยแต่จะเดินทางไปต่างประเทศในช่วงการเลือกตั้งสามารถลงทะเบียนได้สามวิธีดังที่กล่าวมาข้างต้น เว้นแต่วิธีที่ 1 ให้ยื่นที่สำนักงานเขต หรือที่ว่าการอำเภอที่ตนมีถิ่นที่อยู่แทน


ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต

สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันที่ 7 พ.ค.66 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ที่หน่วยเลือกตั้งกลางในเขตเลือกตั้ง พร้อมหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต  

ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันที่ 7 พ.ค.66 ตั้งแต่เวลา 8.00-17.00 น. หากลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ ต้องนำหลักฐานแสดงตน  เช่น บัตรประชาชน ใบขับขี่ พาสปอร์ต 

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร  

สามารถไปใช้สิทธิได้ในวันที่ 7 พ.ค.66 การลงคะแนนจะใช้วิธีการและขั้นตอนตามที่สถานทูตในแต่ละประเทศกำหนด หรือจัดให้มีการลงคะแนนทางไปรษณีย์

หมายเหตุ การเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต-นอกราชอาณาจักเท่านั้นที่ลงทะเบียนออนไลน์ได้ ตามประกาศกกต. กำหนดให้เฉพาะกรณีการลงคะแนนเสียงล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักรเท่านั้นที่สามารถยื่นคำขอลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต ตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะปิดอัตโนมัติตอนเที่ยงคืนของวันที่ 9 เมษายน 2566 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook