MEA มั่นใจระบบจำหน่ายไฟฟ้า พร้อมรับมือการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในช่วงฤดูร้อน
MEA เผยค่าคาดการณ์ความต้องการใช้พลังไฟฟ้าสูงสุดปี 2566 จำนวน 9,282 เมกะวัตต์ มีแนวโน้มหน่วยจำหน่ายไฟฟ้าทั้งหมดเพิ่มขึ้น 0.2% พร้อมรับมือการใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี และระบบศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA พร้อมแนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนโดยการ “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน” และการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย
วันที่ 31 มีนาคม 2566 การไฟฟ้านครหลวง เผยสถิติการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งประกอบด้วย กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ว่า ตามที่ในช่วงฤดูร้อนจะเป็นช่วงฤดูที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดในรอบปีนั้น สำหรับปี 2566 จากจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด 4,191,299 คน MEA คาดการณ์ค่า Peak ในระบบจำหน่ายของ MEA ไว้ที่ 9,282 เมกะวัตต์ หรือลดลง 1.7% จากปีที่ผ่านมา โดยจะเกิดขึ้นในเดือน พฤษภาคม ในขณะที่หน่วยจำหน่ายไฟฟ้าของ MEA ทั้งหมดของปี 2566 คาดว่าจะมีจำนวน 51,651 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.2% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้สถานการณ์ COVID-19 จะคลี่คลายแล้ว แต่เนื่องจากสาเหตุภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และของโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา รวมถึงเทรนด์การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงทำให้การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้ามีความใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา
ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA มีความพร้อมรับมือกับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น MEA จึงมีการปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้สนับสนุนระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติค่าดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า SAIFI (System Average Interruption Frequency Index) หรือค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้องในปี 2565 มีค่าเท่ากับ 0.632 ครั้ง/ราย/ปี และ SAIDI (System Average Interruption Duration Index) หรือค่าเฉลี่ยระยะเวลาที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้องในปี 2565 มีค่าเท่ากับ 20.194 นาที/ราย/ปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. กำหนด (SAIFI ไม่มากกว่า 1 ครั้ง/ปี/ผู้ใช้ไฟฟ้า, SAIDI ไม่มากกว่า 30.24 นาที/ปี/ผู้ใช้ไฟฟ้า) รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เป็นหัวใจสำคัญอย่าง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA (Supervisory Control and Data Acquisition) ทำหน้าที่เป็นระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ในการตรวจสอบสถานะ ตลอดจนวิเคราะห์การทำงานของระบบควบคุมตรวจจับข้อมูล แล้วส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบอย่างรวดเร็วแบบ Realtime ถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ MEA เริ่มใช้เป็นองค์กรแรกในประเทศไทย และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย รองรับการปรับระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของ MEA ในโครงการระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Metro Grid สามารถสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า โดยมีระบบสายส่งไฟฟ้าใต้ดินที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีต้นทาง รองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมืองที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าดับ ลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน
นอกจากนี้ MEA ยังมีแผนการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมช่วยการเตรียมความพร้อมในด้านระบบไฟฟ้าด้วยระบบ AI ในการบริหารงานซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่สำคัญในระบบจำหน่ายไฟฟ้า ครอบคลุมทุกพื้นที่ การดูแลของการไฟฟ้านครหลวงทั้ง 18 เขต อีกทั้งยังมีการจัดตั้งทีมปฏิบัติการทางน้ำ Marine MEA เพื่อรองรับการให้บริการผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่ติดริมน้ำ และชายฝั่งทะเล ดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง ปลอดภัย โดยมีการใช้เทคโนโลยี Thermovision สแกนตรวจจับความร้อนของอุปกรณ์ไฟฟ้า การใช้ Drone ตรวจสอบระบบสายส่งไฟฟ้าพร้อมรองรับทั้งในทุกสถานการณ์ โดยการเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ Field Force Management หรือ FFM เชื่อมโยงกับระบบแผนที่ GIS และเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยใช้ MEA Smart Life Application ที่สามารถถ่ายภาพ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้องได้รวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงตรวจสอบทั้งระบบส่งและระบบจำหน่ายไฟฟ้า ตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน MEA แนะนำการประหยัดไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศ มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ ส่งผลให้มีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานมากขึ้น เป็นเหตุให้เสียค่าไฟมากขึ้น วิธีการที่จะช่วยให้ใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือการหมั่นดูแล บำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้พร้อมใช้งานและปลอดภัยอยู่เสมอ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ดี โดยยึดหลัก “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน” โดยปิดไฟดวงที่ไม่ใช้ ปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26-27 องศาเซลเซียส พร้อมเปิดพัดลมควบคู่ จะเป็นการช่วยให้ประหยัดพลังงาน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน เปลี่ยนไปใช้เครื่องปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง และหมั่นล้างเครื่องปรับอากาศ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน เปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่เปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ พกกระติกน้ำแข็งไว้ดื่ม ไม่ควรกักตุนอาหารไว้ในตู้เย็นเกินความจำเป็น ตรวจขอบยางประตูตู้เย็นให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า (เบอร์ 5) และควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ควรปิดสวิตช์และดึงปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทุกครั้ง เมื่อไม่ได้ใช้งาน หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถ้าชำรุดต้องซ่อมแซมทันที ป้องกันการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งติดตั้งสายดิน พร้อมเครื่องตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายจากกระแสไฟฟ้า
ในช่วงนี้ที่มีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อน มีพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงนั้น MEA ขอแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายที่เกิดจากพายุ รวมถึงป้ายโฆษณากลางแจ้ง ควรมีการตรวจสอบโครงสร้างป้ายให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงมั่นคงปลอดภัย และตรวจสอบระยะห่างของป้ายโฆษณากับสายไฟฟ้าให้มากขึ้น เพราะอาจส่งผลกระทบกับระบบไฟฟ้าอาจทำให้ไฟฟ้าดับ และขอให้ประชาชนอยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ไม่แข็งแรงใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะกิ่งไม้อาจหักโค่นจากลมกระโชกแรงและพาดลงมาทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าหากชำรุดเร่งซ่อมแซมแก้ไข และสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตนเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้าเพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงอาจจะทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้
หากประชาชนพบเห็นอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดหรือไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งได้ที่ ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้แก่ Facebook : การไฟฟ้านครหลวง MEA, Line : MEA Connect, Twitter: @mea_news, และศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA Call Center 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งผ่าน MEA Smart Life Application ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟนระบบ iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ https://onelink.to/measmartlife
[Advertorial]