ปิดไฟแล้วช็อก คางปลาหมึกเรืองแสงได้ ไม่ใช่หมึกปลอม เฉลยความจริงยิ่งมวนท้อง
ปิดไฟแล้วช็อก คางปลาหมึกเรืองแสงได้ อ.เจษฎ์ เคยให้ข้อมูลเมื่อปี 62 ไม่ใช่หมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อโรค
ผู้ใช้ TikTok @pimoszyy โพสต์คลิปสุดอึ้งเมื่อเจอปลาหมึกเรืองแสง ตอนกินก็ไม่รู้ มารู้ตอนปิดไฟ โดยระบุว่า “ประเด็นคือกินไปเกือบหมดแล้ว เหลือ 4 ชิ้นสุดท้าย ตอนเปิดไฟก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรผิดปกติ พอปิดไฟเท่านั้นแหละ โอ้มายกอด เรืองแสงได้จ้า กินไปแล้วซะด้วย ใครรู้ตอบทีเกิดจากอะไร คางปลาหมึก #คางปลาหมึกยักษ์ #เรืองแสงที่เป็นข่าว”
รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยโพสต์อธิบายปลาหมึกเรืองแสงมาแล้วเมื่อปี 62 โดยระบุว่า ปลาหมึกเรืองแสงดังกล่าวเป็นของจริง ไม่ใช่ปลาหมึกปลอม แต่เป็นหมึกติดเชื้อโรค ซึ่งเชื้อจุลินทรีย์มันเรืองแสงได้
เชื้อแบคทีเรียพวกนี้ ได้แก่ Pseudomonas sp., Pseudomonas fluorescens, Vibrio fischeri, Vibrio phosphoreum, Vibrio harveyi, Photobacterium luciferum พบได้ตามแหล่งน้ำทะเลในธรรมชาติ จึงอาจติดมากับอาหารทะเลได้
ถ้าอาหารทะเลนั้น ถูกทำให้สุกด้วยความร้อนแล้ว ก็จะสามารถทำลายแบคทีเรียเหล่านี้ได้ แต่ถ้ายังดิบอยู่หรือไม่ได้ฆ่าเชื้อให้หมด ประกอบกับการเก็บรักษาที่อุณหภูมิไม่เหมาะสม (ควรต่ำกว่า 4 องศาเซลเซียส) ก็จะทำให้จุลินทรีย์เพิ่มจำนวนขึ้นได้ จนทำให้อาหารทะเลนั้นเรืองแสงได้
เชื้อจุลินทรีย์พวกนี้ อาจจะเป็นเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคด้วย จึงต้องระมัดระวังในการนำมารับประทาน เพราะอาจมีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสียรุนแรง ลำไส้อักเสบ