อย่าเพิ่งแตกตื่น ค่าดัชนีความร้อน 50.2 ไม่ใช่อุณหภูมิจริง ไทยร้อนสุดไม่เกิน 42 องศา

อย่าเพิ่งแตกตื่น ค่าดัชนีความร้อน 50.2 ไม่ใช่อุณหภูมิจริง ไทยร้อนสุดไม่เกิน 42 องศา

อย่าเพิ่งแตกตื่น ค่าดัชนีความร้อน 50.2 ไม่ใช่อุณหภูมิจริง ไทยร้อนสุดไม่เกิน 42 องศา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่าเพิ่งแตกตื่น ค่าดัชนีความร้อน 50.2 ไม่ใช่อุณหภูมิจริง ไทยร้อนสุดไม่เกิน 42 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังเป็นอันตราย แนะเลี่ยงออกแดด

หลังจากมีการเผยแพร่กราฟฟิกที่ระบุว่าพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ค่าดัชนีความร้อนประเทศไทยพุ่งสูง บางนา 50.2 องศาเซลเซียสนั้น ทำให้มีคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุณหภูมิที่จะเกิดขึ้น

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดในวันนี้ (5 เม.ย.)

  • ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ร้อนสุด 45.8 องศาเซลเซียส
  • ภาคเหนือ อ.แม่สอด จ.ตาก 41 องศาเซลเซียส
  • ภาคใต้ จ.พังงา 43.3 องศาเซลเซียส
  • ภาคกลาง บางนา 45.5 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 38.4 องศาเซลเซียส

ส่วนวันพรุ่งนี้ (6 เม.ย.) ค่าดัชนีความร้อนสูงสุด

  • ภาคกลาง บางนา 50.2 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออก แหลมฉบัง จ.ชลบุรี 49.4 องศาเซลเซียส
  • ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ 40.6 องศาเซลเซียส
  • ภาคใต้ จ.ภูเก็ต47.9 องศาเซลเซียส
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ศรีสะเกษ 41.5 องศาเซลเซียส  

ดัชนีระดับความร้อน (Heat Index Temperature)

ดัชนีระดับความร้อน หมายถึงสภาวะที่ทำให้ ร่างกายเรารู้สึกร้อนขึ้นมากกว่าอุณหภูมิ ของอากาศจริงที่วัดได้จากเทอร์โมมิเตอร์ เกิดจากการปฏิสัมพันธ์กันระหว่าง อุณหภูมิของอากาศกับความชื้น ทำให้ร่างกายรู้สึกสูญเสียความเย็นออกไปจาก บริเวณผิวหนัง ส่งผลให้รู้สึกร้อนมากกว่า อุณหภูมิของอากาศจริง อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศร้อนได้ สภาพอากาศที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วย เนื่องจากความร้อน คือ สภาพอากาศที่มี ค่าดัชนี ระดับความร้อนตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียลขึ้นไป

ทั้งนี้ กรมอนามัย แบ่งระดับค่าดัชนีความร้อน เฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ไว้ดังนี้

สีเขียว – ระดับเฝ้าระวัง ดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อนหรืออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

สีเหลือง – ระดับเตือนภัย ดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ เกิดอาการตะคริวจากความร้อนและอาจเกิดอาการเพลียแดด (Heat Exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

สีส้ม – ระดับอันตราย ดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat stroke)ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

สีแดง – ระดับอันตรายมาก ดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ มีภาวะลมแดด (Heat stroke)

พยากรณ์อากาศ คาดหมายอากาศรายภาคระหว่างวันที่ 5 - 11 เมษายน พ.ศ. 2566

ภาคเหนือ

ในช่วงวันที่ 5 – 6 และ 10 – 11 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางด้านตะวันตกและตอนล่างของภาค 
ลมตะวันตก ความเร็ว 5 – 15 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 37 – 42 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 9 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 - 40  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35 – 39 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในช่วงวันที่ 6 – 8 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 - 60  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง
ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 20 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 39 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 9 – 11 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง 
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35 – 39 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง

ในช่วงวันที่ 5 – 6 และ 10 - 11 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ 
โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35 – 41 องศาเซลเซียส

ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 9 เม.ย. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 6 – 8 เม.ย. 66 มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 21 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร 

ส่วนในช่วงวันที่ 9 - 11 เม.ย. 66 อากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่
โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 - 30  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 40 องศาเซลเซียส 

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30 ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ในช่วงวันที่ 5 – 6 เม.ย. 66 ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. 
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 11 เม.ย. 66 ลมตะวันออก ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. 
ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 38 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10 – 30  ของพื้นที่ ตลอดช่วง
ในช่วงวันที่ 5 – 7 เม.ย. 66 ลมตะวันตกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 8 – 11 เม.ย. 66 ลมตะวันออก ความเร็ว 10 - 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร
อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 38 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล

ในช่วงวันที่ 5 – 6 และ 10 – 11 เม.ย. 66 อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน 
ลมใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 39 องศาเซลเซียส 

ส่วนในช่วงวันที่ 7 – 9 เม.ย. 66 อากาศร้อนในตอนกลางวัน มีพายุฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60  ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 25 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31 – 37 องศาเซลเซียส


นอกจากอุณหภูมิที่ร้อนจัด อีกเรื่องที่ต้องระมัดระวังคือ รังสีอัลตราไวโอเลต (ยูวี) จากข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 3-9 เม.ย. 66 กรณีท้องฟ้าโปร่งเวลา 12.00 น. มี 25 จังหวัดที่มีค่าดัชนียูวีอยู่ในระดับสูงจัด (มากกว่า 11 ขึ้นไป) ซึ่งจะทำให้เกิดผิวหนังเกรียมแดด (Sun Burn) ส่งผลเสียต่อดวงตาได้ในเวลาไม่กี่นาที และระยะยาวจะทำลาย DNA ดังนี้

– ค่าดัชนียูวี 11 ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน ลำปาง หนองคาย สกลนคร ขอนแก่น อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครราชสีมา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และกาญจนบุรี

– ค่าดัชนียูวี 12 ได้แก่ กทม. จันทบุรี และชลบุรี

– ค่าดัชนียูวี 13 ได้แก่ จังหวัดตราด ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา และนราธิวาส

ดังนั้น ขอให้หลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 09.00-15.00 น. หากจำเป็นควรใช้เวลาให้น้อยที่สุด สวมเสื้อผ้าสีอ่อน ระบายความร้อนได้ดี สวมหมวกปีกกว้าง แว่นกันแดด และทาครีมกันแดด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook