ส่องผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ใครหน้าเดิม ใครหน้าใหม่ ใครย้ายพรรคมา ไปดูกันเลย!
Highlight
- ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน พรรคพลังประชารัฐ มาจากผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 100 คน (25%) ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 98 คน (24.5%) และผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 202 คน (50.5%)
- ผู้สมัครที่มาจากพรรคเดิม 100 คน แบ่งเป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 40 คน (40%) อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิม จากปี 2562 จำนวน 52 คน (52%) และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 8 คน (8%)
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่มาจากการย้ายพรรค มาจากพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด 17 คน (17.52%) รองลงมาคือพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 13 คน (13.26%) พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน (10.20%) และพรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 7 คน (7.14%)
- ผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ 202 คนมาจากกลุ่มที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นมากที่สุด 109 คน (53.96%) และมีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งในทุกภาคของประเทศไทย
จากการรับสมัครผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 3 - 7 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา Rocket Media Lab ได้จัดทำฐานข้อมูลทางการเมืองของผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ โดยแบ่งกลุ่มผู้สมัครเป็น 3 ประเภท ได้แก่่ ผู้สมัครจากพรรคเดิม, ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น, และผู้สมัครหน้าใหม่
เมื่อแยกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนในปี 2566 ของพรรคพลังประชารัฐ พบว่า มีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 100 คน (25%) ผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 98 คน (24.5%) และผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 202 คน (50.5%)
ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเดิม
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ พบว่ามีผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 100 คน สามารถแบ่งออกได้เป็น ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิมจากปี 2562 จำนวน 40 คน (40%) อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐเดิม จากปี 2562 จำนวน 52 คน (52%) และอดีตผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 8 คน (8%)
จากข้อมูลพบว่า ในปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมี ส.ส. ทั้งหมด 101 คน ซึ่ง ส.ส. เดิมกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐเพียง 40 คนเท่านั้น และหากพิจารณาเป็นรายภาคก็จะเห็นว่า ภาคใต้และภาคเหนือเป็นภาคที่มีสัดส่วน ส.ส. เดิมกลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งมากที่สุด คิดเป็น 50% และน้อยที่สุดในภาคตะวันตก คิดเป็น 16.67%
ในจำนวน ส.ส. เดิมจากปี 2562 ของพรรคพลังประชารัฐ 101 คนนี้ มี 61 คนที่ไม่กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้ง 2566 ซึ่งย้ายไปพรรคอื่น จำนวน 51 คน แยกเป็นภูมิใจไทย (24 คน) รวมไทยสร้างชาติ (20 คน) และเพื่อไทย (7 คน) นอกจากนี้ยังมีคนที่ไปลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐอีก 3 คน และไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง 7 คน
ผู้สมัคร ส.ส. ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ พบว่ามีผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 98 คน สามารถแบ่งออกได้เป็น ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 5 คน (5.10%) อดีตผู้สมัคร ส.ส. เดิมจากปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 73 คน (74.49%) อดีต ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 1 คน (1.02%) และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 ที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 19 คน (19.39%)
จากข้อมูลพบว่า ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 98 คนของพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง 2566 ย้ายมาจาก
- พรรคภูมิใจไทย จำนวน 17 คน (17.35%)
- พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 13 คน (13.26%)
- พรรคเพื่อไทย จำนวน 10 คน (10.20%)
- พรรคชาติไทยพัฒนา จำนวน 7 คน (7.14%)
- พรรคไทยรักษาชาติ จำนวน 5 คน (5.10%)
- พรรคพลังท้องถิ่นไทย เพื่อชาติ รวมพลังประชาชาติไทย อนาคตใหม่/ก้าวไกล พรรคละ 4 คน (4.08%)
- พรรคประชาชาติ พลังประชาชน เพื่อแผ่นดิน ภราดรภาพ เสรีรวมไทย พรรคละ 3 คน (3.06%)
- พรรคไทยรักไทย พลเมืองไทย พรรคละ 2 คน (2.04%)
- พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ชาติไทย แทนคุณแผ่นดิน ประชากรไทย พลังชาติไทย เพื่อคนไทย รวมใจไทย รักษ์ผืนป่าประเทศไทย เศรษฐกิจใหม่ สยามพัฒนา และเสรีธรรม พรรคละ 1 คน (1.02%)
ผู้สมัคร ส.ส. หน้าใหม่
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คนจากพรรคพลังประชารัฐ พบว่ามีผู้สมัครที่ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ จำนวน 202 คน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างกัน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
- นักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 109 คน (53.96%)
- นักธุรกิจ จำนวน 29 คน (14.36%)
- ข้าราชการ/ หน่วยงานรัฐ/ รัฐวิสาหกิจ จำนวน 26 คน (12.87%)
- เครือญาตินักการเมืองระดับชาติ จำนวน 21 คน (10.4%)
- อาชีพส่วนตัว จำนวน 16 คน (7.92%)
- เครือญาตินักการเมืองระดับท้องถิ่น จำนวน 13 คน (6.44%)
- ผู้ที่เคยทำงานการเมืองด้านอื่น ๆ จำนวน 10 คน (4.95%)
- อดีตนักการเมืองระดับชาติ จำนวน 5 คน (2.48%)
- นักเคลื่อนไหวทางการเมือง/ สังคม จำนวน 5 คน (2.48%)
- บุคคลผู้มีชื่อเสียงในสังคม จำนวน 3 คน (1.49%)
- นักวิชาการ/ นักวิจัย จำนวน 1 คน (0.5%)
ทั้งนี้ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 1 คน อาจมีได้มากกว่า 1 สถานะ
ผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
เมื่อพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 85 คนจากพรรคพลังประชารัฐ พบว่าเป็นผู้สมัครหน้าใหม่มากที่สุด จำนวน 46 คน รองลงมาเป็นผู้สมัครจากพรรคเดิม จำนวน 20 คน และเป็นผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคอื่น จำนวน 19 คน โดยในจำนวน 19 คนนี้มีอดีต ส.ส. ปี 2562 จำนวน 4 คน อดีตผู้สมัคร ส.ส. ปี 2562 จำนวน 9 คน และอดีตผู้สมัคร ส.ส. ก่อนปี 2562 จำนวน 6 คน
ดูข้อมูลพื้นฐานได้ที่ https://rocketmedialab.co/database-election-66-3/