ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองแชมป์ Bank of the Year 2023

ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองแชมป์ Bank of the Year 2023

ธนาคารไทยพาณิชย์ ครองแชมป์  Bank of the Year 2023
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2566 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2566  Bank of the Year 2023 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในรอบปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2565 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2566        

โดยในปี 2565 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 53,626.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,231.32 ล้านบาท 51.51% และมีกำไรสุทธิต่อหุ้น 15.95 บาท สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจที่ดีขึ้นจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และกำไรจากการขายบริษัทย่อยและการโอนธุรกิจตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม SCBX การตั้งสำรองที่ลดลง และการบริหารค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความมุ่งมั่นสู่การเป็น “ธนาคารที่ดีขึ้น” (To Be A Better Bank) อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดพันธกิจในการเป็น “ดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง” และยังให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลของพอร์ตสินเชื่อเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยธุรกิจของธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจสินเชื่อที่มีหลักประกัน ซึ่งได้วางเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่ออย่างค่อยเป็นค่อยไปและการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง และให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจผันผวน พร้อมด้วยการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับนโยบายความยั่งยืนทั้งการให้บริการลูกค้า และการบริหารงานภายใน

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้มุ่งดำเนินการและวางแนวทางการดำเนินธุรกิจในการปรับเปลี่ยนจากการเป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจรสู่การให้บริการแบบมุ่งเน้นในธุรกิจที่คัดสรรแล้ว โดยเฉพาะธุรกิจบริหารความมั่งคั่งและธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ซึ่งเน้นการให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและการเป็นธนาคารดิจิทัล โดยไม่มุ่งเน้นการเติบโตของขนาดสินทรัพย์ แต่เป็นการเติบโตของธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยพิจารณาความสมดุลระหว่างผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้กำหนดแผนธุรกิจปี 2566 เพื่อเป็นธนาคารที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1.ปรับกระบวนการให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการดำเนินงาน โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้า  ทั้งในช่องทางดิจิทัลและทุกช่องทางให้บริการลูกค้า ขณะเดียวกัน  

มุ่งปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง โดยธนาคารตั้งเป้าปริมาณธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลมีสัดส่วน 90% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด

2.สร้างความเข้มแข็งให้กับบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม เพื่อเสนอบริการด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจร โดยใช้กลยุทธ์สามมิติ ได้แก่

ประการแรก เสนอบริการแบบองค์รวมที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ

ประการที่สอง พัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ปรึกษาด้านการเงิน โดยยกระดับทักษะของผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า และขยายศักยภาพของการใช้เครื่องมือด้านดิจิทัลในการให้คำปรึกษา

ประการสุดท้าย การมีพันธมิตรที่หลากหลายจะสนับสนุนให้ธนาคารสามารถให้บริการด้านการบริหารความมั่งคั่งอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

3.สร้างสมดุลของพอร์ตการให้สินเชื่อ และการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้การควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม และการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีวินัย โดยธนาคารตั้งเป้าที่จะรักษาอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ไม่เกิน 40% รวมทั้งให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก

4.ให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืน โดยธนาคารมีเป้าหมายในการมีบทบาทผู้นำด้านความยั่งยืน สนับสนุนการปรับตัวไปสู่การปลดปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emission) ของกลุ่มลูกค้าผ่านการให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชั่นทางการเงินที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการยกระดับการดำเนินงานด้านต่างๆ ของธนาคารให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ระดับสากล โดยกำหนดเป้าหมายผลักดันสินเชื่อสีเขียว (Green Financing) เพิ่มอีก 1 แสนล้านบาทในช่วงปี 2566-2568

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook