สรุปดราม่า “ไข่ต้ม” เราให้เด็กๆ เรียนอะไรกันอยู่
Highlight
- เฟสบุ๊กแฟนเพจ “มาดามแคชเมียร์” ได้โพสต์ภาพหนังสือ “ภาษาไทยพาที” หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.5 ที่เนื้อหาบางส่วน โดยเฉพาะการบรรยายการกินของเด็กที่มีอาหารเป็นผัดผักบุ้งและไข่ต้มครึ่งซีก ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตจำนวนมาก
- ไข่ต้มครึ่งซีกมีโปรตีนเพียง 1.7 กรัม และเด็กน้ำหนัก 1 กก. จำเป็นต้องกินโปรตีน 1 กรัม/วัน
- เนื้อหาดังล่าวในหนังสือเรียน ทำให้นักการเมืองและอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์มากมาย ออกมาร่วมแสดงความคิดเห็น ทั้งวิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ และแพร์รี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร
- สพฐ. ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ระบุว่าเนื้อหาดังกล่าวมีเจตนาที่จะสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย
- นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของแบบเรียนภาษาไทยพาทีที่มีดราม่า แต่ในปี 2563 ก็มีดราม่าร้อนในโลกโซเชียล ที่ชาวเน็ตพร้อมใจกันติด #Saveเกี้ยว หลังจากโลกออนไลน์มีการแชร์บทเรียนจากหนังสือเรียนภาษาไทย ภาษาพาที ของนักเรียนชั้น ป.6 บทที่ 14 เรื่อง “เสียแล้วไม่กลับคืน”
"ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อเราคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข ใจเราก็สุขตาม”
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ภาษาไทยพาที” หนังสือวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนสนั่นโซเชียลมีเดีย ในช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา ชาวเน็ตต่างร่วมตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาที่ปรากฏอยู่่ในหนังสือเรียนดังกล่าว ตั้งแต่ประเด็นเรื่องการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ที่ต้องกินข้าวราดผัดผักบุ้ง ไข่ต้มครึ่งซีกเหยาะน้ำปลา เกิดเป็นข้อสงสัยว่าเด็ก ๆ อาจไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ไปจนถึงประเด็นเรื่องการโรแมนติไซส์ความยากจน (Romanticizing the poverty) ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่คนดังมากมายต่างกระโดดเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น
สำหรับใครที่อาจจะตามดราม่าดังกล่าวไม่ทัน หรือหยุดเสพโซเชียลช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา Sanook ก็ขอสรุปประเด็นดราม่า “ไข่ต้ม” ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในโซเชียลมาฝากทุกคน
จุดเริ่มต้นดราม่า “ไข่ต้ม”
กลายเป็นประเด็นดราม่าขึ้นมาทันที เมื่อเฟสบุ๊กแฟนเพจ “มาดามแคชเมียร์” ได้โพสต์ภาพหนังสือ “ภาษาไทยพาที” หนังสือเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.5 ที่มีเนื้อหากล่าวถึง “เด็กหญิงใยบัว” เด็กที่บ้านมีฐานะร่ำรวย ซึ่งไม่พอใจที่พ่อแม่ไม่ยอมซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ให้กับเธอ ได้มากินข้าวที่บ้านเด็กกำพร้าของ “เด็กหญิงข้าวปุ้น” และมีโอกาสได้เรียนรู้ชีวิตที่แตกต่างกับเธอ โดยข้อความบางตอนของหนังสือที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ คือการบรรยายการกินของเด็กในบ้านของข้าวปุ้น ที่มีอาหารเป็นผัดผักบุ้งและไข่ต้มครึ่งซีก แต่ถึงแม้จะมีอาหารเพียงน้อยนิด แต่บ้านของข้าวปุ้นก็เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ จนใบบัวน้ำตาคลอ และตระหนักได้ว่า
“คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ไหน บ้านของข้าวปุ้นอยู่กินอย่างพอเพียง ขาดเครื่องอำนวยความสะดวกหลายอย่าง แต่ทำไมทุกคนมีความสุข ความสุขอยู่ที่ใจนี่เอง ไม่ได้อยู่ที่วัตถุสิ่งของ…”
หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีเสียงสะท้อนจากชาวเน็ตมากมาย คนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเนื้อหาในหนังสือเรียนของเด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างหยิบยกประเด็นเรื่องการกินอาหารของเด็ก ที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการที่เด็กควรได้รับ ทั้งตั้งคำถามกับการปลูกฝังทัศนคติเรื่องความพอเพียง รวมไปถึงเรื่องการมองความจนเป็นเรื่องโรแมนติก
ไข่ต้มครึ่งซีกมีโปรตีน 1.7 กรัม
ไม่ใช่แค่ชาวเน็ตเท่านั้นที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาดังกล่าวของแบบเรียน แต่นักวิชาการต่างก็พร้อมใจกันมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้ โดยเฟสบุ๊กแฟนเพจ “สำรวจโลก” โพสต์ข้อความระบุว่า ไข่ต้มครึ่งซีกมีโปรตีนเพียง 1.7 กรัม แล้ว “เด็กน้ำหนัก 1 กก. ต้องกินโปรตีน 1 กรัม/วัน เด็กต้องกินไข่ต้มกี่ฟองถึงจะได้คุณค่าทางอาหารเพียงพอ” เช่นเดียวกับ นพ.จิรรุจน์ ชมเชย กุมารแพทย์ของโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ที่แสดงความกังวลต่ออนาคตของชาติที่ต้องอยู่ใต้การกำหนดทิศทางการศึกษาจาก “คนบางกลุ่ม” ที่ยังล้าหลัง พร้อมชี้ว่า
“สิ่งสำคัญในอาหารที่เด็กควรได้ ไม่ใช่เรื่องของ “พลังงาน” หรือแค่อิ่มท้องอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญนั่นคือ “โปรตีน” ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง กล้ามเนื้อ และการทำงานของเอนไซม์ในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย”
นักการเมืองร่วมแสดงความคิดเห็น
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่า “ไม่เห็นด้วยอย่างมาก” กับเนื้อหาที่ปรากฏ เนื่องจากการปล่อยให้เด็กกินข้าวกับผัดผักบุ้งและไข่ต้มหนึ่งซีกไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็ก ไม่เพียงเท่านั้น เนื้อหาดังกล่าวยังสอนให้เด็ก “จำนนต่อโชคชะตายอมรับสภาพกับการกิจเข้าเปล่าราดน้ำปลาบี้ไข่ หรือข้าวเปล่าคลุกกับน้ำผัดผักบุ้ง” พร้อมระบุว่าไทยควรลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็นและแพงเกินจริง เพื่อนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับเด็ก ๆ
ก่อนจะกลายเป็นดราม่าร้อนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้โพสต์คลิปวิดีโอขณะลูกชายกินข้าวกับไข่ต้ม พร้อมแคปชั่น “ไข่ต้ม ลูกชาย ชอบกิน อร่อย ดี มีประโยชน์ ครับ” และ #Saveไข่ต้ม
คนดังและอินฟลูขอร่วมด้วย
หลังจากชัยวุฒิโพสต์คลิปดังกล่าว ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นไปอีก ชาวเน็ต คนดัง และอินฟลูเอนเซอร์ต่างก็แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้ โดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า “อย่าดูแค่วันนี้เขาให้ลูกกินอะไร แต่จงดูว่าในทุกวันเขาให้อะไรแก่ลูกของเขากิน และเที่ยวสอนคนอื่นว่าอย่างไร”
ขณะที่เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ว่า “ก่อนจะสอนคนอื่นให้พอเพียง ด้วยการกินไข่ต้ม ควรสอนลูกหลานให้ปอกเปลือกไข่เป็นก่อน”
ด้านแพร์รี่ - ไพรวัลย์ วรรณบุตร ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้เช่นเดียวกัน โดยโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ดิฉันเคยโตมาด้วยการกินไข่ต้ม 1 ลูกแบ่งกัน 3 คน ดิฉันจึงอยากบอกว่าการกินหลากหลายจำเป็นมากค่ะ และการขาดสารอาหารตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกเลย จบ” ซึ่งก็ยิ่งทำให้กลายเป็นดราม่าร้อนขึ้นไปอีก
นอกจากนี้ ยังมีเฟสบุ๊กแฟนเพจอื่น ๆ ที่ร่วมโพสต์แสดงความคิดเห็น หรือรูปภาพ “มีม” ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดราม่าร้อนดังกล่าว พร้อมมีชาวเน็ตมาร่วมแสดงความคิดเห็นและแชร์โพสต์กันอย่างล้นหลาม
คำชี้แจงจาก สพฐ.
เมื่อกระแสดราม่าเดือดเรื่องไข่ต้มกระจายเป็นวงกว้าง อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ออกมาชี้แจงในประเด็นดังกล่าว ระบุว่าจัดทำขึ้นเพื่อใช้ฝึกทักษะและสร้างนิสัยรักการอ่าน เน้นทักษะการอ่าน เขียน ฟัง ดู พูดเรื่องที่น่าสนใจ ผสานความเข้าใจลักษณะของภาษาไทย พร้อมปลูกฝังวัฒนธรรมทางภาษา ความเป็นไทย ความเป็นคนดีของสังคมไทยและสังคมโลก อย่างไรก็ตาม เนื้อหาและภาพที่เป็นประเด็นอยู่ในหนังสือภาษาไทย ภาษาพาที ชั้น ป.5 บทที่ 9 ชีวิตมีค่า มีเจตนาที่จะสอนให้เด็กเรียนรู้ว่าความสุขของชีวิตอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุสิ่งของ เมื่อคิดดี ทำดี ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ทำให้ผู้อื่นมีความสุข จิตใจก็จะมีความสุขไปด้วย ซึ่งประเด็นที่ปรากฎในโซเชียลมีเดียเป็นการใช้ตรรกะวิบัติที่นำเรื่องในชีวิตประจำวันมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่แต่งขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทั้งอาจทำให้เกิดการด้อยค่า ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือความเข้าใจผิดต่อแบบเรียน
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด (24 เมษายน 2566) เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวว่ามีการเตรียมให้คณะกรรมการสำนักวิชาการหารือกับผู้้เขียน แก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจให้ชัดเจนเรื่องโภชนาการอาหารใหม่ พร้อมจะมีการเติมข้อความย้ำว่า “เป็นเพียงการยกตัวอย่างเท่านั้น”
ไม่ใช่ครั้งแรกของดราม่า “หนังสือเรียน”
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของแบบเรียนภาษาไทยพาทีที่มีดราม่า หากจำกันได้เมื่อปี 2563 ก็มีดราม่าร้อนในโลกโซเชียล ที่ชาวเน็ตพร้อมใจกันติด #Saveเกี้ยว ขึ้นมา ซึ่งดราม่าดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากโลกออนไลน์มีการแชร์บทเรียนจากหนังสือเรียนภาษาไทย ภาษาพาที ของนักเรียนชั้น ป.6 บทที่ 14 เรื่อง “เสียแล้วไม่กลับคืน” โดยเนื้อหาบางส่วนของบทเรียน ระบุว่า
“เกี้ยวใจแตกมาตั้งแต่ยังไม่มีคำนำหน้าว่านางสาว ตามีไว้ดูโทรทัศน์ ปากมีไว้กิน และพูดเรื่องไร้สาระ หูมีไว้แนบกับโทรศัพท์มือถือแทบไม่เคยห่าง ตอนกลางวัน เกี้ยวหนีโรงเรียนไปเที่ยวตามศูนย์การค้า กลางดึกก็หนีออกจากบ้านไปเที่ยวผับ…”
เนื้อหาดังกล่าวมุ่งสอนเรื่องรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ทว่าหลายประโยคของบทเรียนก็ทำให้คนทั่วไปตั้งคำถามว่าเป็นการลดทอนคุณค่าของผู้หญิงหรือไม่ เช่นเดียวกันการปลูกฝังค่านิยมผู้หญิงต้องอยู่ในกรอบ ปฎิบัติตัวอยู่ในกรอบที่สังคมคาดหวัง ที่ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน และความแตกต่างของคนในสังคม
ดราม่าในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการรณรงค์เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ ปรับปรุงเนื้อหาในแบบเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กและสังคม มีความทันสมัย ทันเหตุการณ์ เช่นเดียวกับปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้กับเด็ก อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำเรียกร้องของประชาชนจะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ เมื่อหนังสือเรียนในปี 2566 ก็ยังสะท้อนแนวคิดและค่านิยมบางอย่างที่อาจจะไม่สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบันแล้ว
นี่อาจจะถึงเวลาที่ภาครัฐต้องเปิดหูและเปิดใจรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขบทเรียน พร้อมตอบโจทย์ผู้เรียนและสังคมโลกที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว