“แคน - นายิกา” นโยบาย Gap Year เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเยาวชนไทย

“แคน - นายิกา” นโยบาย Gap Year เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเยาวชนไทย

“แคน - นายิกา” นโยบาย Gap Year เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเยาวชนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Highlight

  • “แคนแคน - นายิกา ศรีเนียน” จากสมาชิก BNK48 วงไอดอลสัญชาติไทย สู่บทบาทนักการเมืองเลือดใหม่ในสนามเลือกตั้ง 2566 ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล 
  • สำหรับแคนแคนแล้ว การเป็นไอดอลถือเป็นช่วงฝึกงานของเธอ ที่ฝึกฝนให้เธอมีความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกับคนอื่น ซึ่งงานไอดอลและงานการเมืองก็มีส่วนที่เหมือนและแตกต่างกัน
  • เพราะมีโอกาสได้ใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบและสนใจ ทำให้แคนแคนชูนโยบาย Gap Year และ Job Shadow เพื่อเยาวชนไทยได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่นคงในชีวิต

หลายคนอาจรู้จัก “แคนแคน - นายิกา ศรีเนียน” ในฐานะอดีตสมาชิก BNK48 วงไอดอลสัญชาติไทย ด้วยภาพลักษณ์สดใสและเป็นกันเองกับแฟนคลับ แต่วันนี้แคนคือว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล ที่พร้อมจะทำงานรับใช้ประชาชน และพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวหน้าก้าวไกลทัดเทียมนานาประเทศ แคนเป็นอีกหนึ่ง “นักการเมืองเลือดใหม่” ในสนามเลือกตั้ง 2566 ที่โดดเด่นด้วยนโยบาย “Gap Year” เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีโอกาสค้นหาตัวเอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่นคงในชีวิต 

Sanook พาไปรู้จักทุกแง่มุมของแคนแคน นักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าทุกคนออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง

จากไอดอลสู่นักการเมืองเลือดใหม่

หลังจากประกาศจบการศึกษาจากวง BNK48 แคนแคนก็เริ่มเข้ามาทำงานทางการเมืองกับคุณพ่อ (ภูวกร ศรีเนียน) อย่างเต็มตัว แม้หลายคนจะไม่คุ้นตากับการทำงานภาคการเมืองของแคนแคน แต่เจ้าตัวเผยว่าทำงานนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำก่อนจะเข้ามาเป็นไอดอลเสียด้วยซ้ำ 

แคนแคน - นายิกา ศรีเนียนแคนแคน - นายิกา ศรีเนียน

“บทบาทของไอดอลกับนักการเมืองเหมือนและต่างกันยังไง หนึ่งคือเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนทุกคนได้ สองคือเราอยู่กับคนเยอะมาก เราต้องพูดคุยกับคนเยอะมาก และสามก็คือเราต้องเป็นแบบอย่างหรือเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายคนที่เขามองดูเรา แต่ถ้าความแตกต่าง กันต่างกันยังไง ก็คือตอนที่เราเป็นไอดอล เราได้แต่รับฟังปัญหา แต่เราไม่สามารถไปแก้ปัญหาที่เรารับฟังได้” 

“จริง ๆ การเป็นไอดอลถือเป็นช่วงฝึกงานของแคนเลยนะ เพราะว่าตอนนั้นทำงานเป็นปี แล้วก็ทำงานไป เรียนไปด้วย ซึ่งมันทำให้แคนโตขึ้นมากเลย มีความรับผิดชอบสูงมาก เพราะเลิกเรียนปุ๊บ เราก็ต้องรีบขับรถตรงเข้ามาซ้อมทุกวัน เรากลายเป็นมนุษย์เงินเดือนคนหนึ่ง เราต้องมีความรับผิดชอบ เพราะถ้าเราไปทำงานสาย คนรอเราอีกจำนวนเยอะมากในการออกกองแต่ละครั้ง มันทำให้แคนเติบโตในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแคนเชื่อว่าถ้าไม่ได้ก้าวเข้ามาเป็นไอดอล แคนก็คงไม่มีโอกาสได้พบกับประสบการณ์แบบนั้น” แคนแคนเล่า 

ความฝันของแคนแคน

แคนแคนบอกว่าเธอมีความฝันในชีวิตมากมายในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นสัตวแพทย์ สถาปนิก รวมไปถึงการเป็นนักพัฒนา แต่ความฝันของเธอชัดเจนมากขึ้น เมื่อเธอมีโอกาสได้ “ทดลอง” ทำสิ่งต่าง ๆ จนสุดท้ายแคนแคนก็ได้ค้นพบ “บทบาท” ที่เธออยากทำมากที่สุด 

แคนแคน - นายิกา ศรีเนียนแคนแคน - นายิกา ศรีเนียน

“ตั้งแต่เด็กจนโต แคนมีความฝันที่หลากหลายมาก ตอนเด็ก ๆ เลยอยกเป็นสัตวแพทย์ แต่พอมาเรียนจริง ๆ ก็รู้สึกว่าเราสอบวิชาศิลปะได้คะแนนสูงสุด แล้วก็เข้าใจว่าเราทำคะแนนวิชานี้ได้ดีที่สุด แสดงว่ามันคือเส้นทางที่เราต้องมุ่งไป เราก็เลยมานั่งคิดว่า แล้วอะไรเอ่ยที่ทำให้มีหน้าที่การงานที่ดี และยังคงทำศิลปะไปด้วยได้ ก็คือการเป็นสถาปนิก พอเรียนจบมัธยม แคนเป็นคนที่สอบเทียบมา แคนก็จะมีเวลาว่างเยอะกว่าคนอื่น คือไม่ต้องรีบเข้ามหาลัย เพราะอายุน้อย ก็เลยขอคุณพ่อไปเรียนทำพอร์ตฟอลิโอสำหรับเข้าคณะสถาปัตยกรรม จนท้ายที่สุดแล้วก็รู้สึกว่ามันสนุกนะ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเอาชีิวิตทั้งหมดมาอยู่ตรงนี้ เราอยากมองมันเป็นแค่งานอดิเรกมากกว่าจะเป็นอาชีพ แล้วเราก็ตัดสินใจว่าจะไม่ไปสายนี้แล้ว” 

“เราตัดสินใจเลือกวิทยาศาสตร์หรือสิ่งแวดล้อม ก็สอบติดคณะสิ่งแวดล้อม (วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม) ม.มหิดล ซึ่งในระหว่างทางก็ทำให้เรากลายเป็นเราในทุกวันนี้ เพราะเรามีโอกาสลงไปตามพื้นที่ต่าง ๆ มีโอกาสได้ทำกิจกรรมเยอะแยะมากมาย และสุดท้ายเราก็เติบโตมาเป็นคนที่อยากเป็นนักพัฒนาสังคม” แคนแคนกล่าว 

ช่วงเวลาที่ได้ค้นหาตัวเอง

เพราะมีโอกาสได้ใช้ช่วงเวลาในการทดลองทำสิ่งที่ตัวเองชอบ จนได้ค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองชอบและต้องการทำจริง ๆ คืออะไร ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แคนแคนหยิบยกโอกาสดังกล่าว มาเปลี่ยนให้เป็นนโยบาย Gap Year หรือการเว้นช่วงระยะเวลาก่อนหรือหลังเรียนมหาวิทยาลัย เพื่อออกไปค้นหาตัวเอง เรียนรู้โลกผ่านประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ นอกห้องเรียน ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะช่วยให้เด็กไทยได้มีโอกาสลองทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำและรู้จักตัวเองให้มากขึ้น 

แคนแคน - นายิกา ศรีเนียนแคนแคน - นายิกา ศรีเนียน

“นโยบายนี้เกิดจากสิ่งที่ปกติธรรมดามาก ๆ ในชีวิตแคน คือตอนแคนเรียนมัธยม แคนมีโอกาสเรียนในโรงเรียนระบบอินเตอร์ แล้วแคนก็ได้ยินคำว่า Gap Year เป็นครั้งแรกในโรงเรียนนี้ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ปกติมากสำหรับเพื่อน ๆ ในโรงเรียน ที่พอเขาเรียนจบหรือสอบเทียบแล้ว เขาจะมีช่วงเวลา Gap Year หนึ่งอาจจะเป็นด้วยทุนทรัพย์ของที่บ้าน ที่เขาสามารถทำสิ่งเหล่านั้น บางคนก็ไปท่องเที่ยว บางคนก็ไปฝึกงาน”

“แล้วแคนก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนชาวสวีเดน ที่เขามาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ไทย แคนก็ตกใจว่ามาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน แต่อายุในกลุุ่มมีความหลากหลายมาก เขาบอกว่าที่ประเทศของเขา ส่วนใหญ่เด็กที่เรียนจบจะไปทำงานก่อน เขาบอกว่ามีเงินเก็บอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วเขาก็บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ เลยนะ หลังจากนั้นแคนก็เริ่มค้นคว้าเรื่อง Gap Year ในต่างประเทศ จนเกิดเป็นความคิดว่าอยากให้มีในประเทศไทย คือมันมีอยู่แล้วแหละ แต่อยากทำให้มันง่ายขึ้นในการเข้าถึงสำหรับเด็ก ๆ ในประเทศ​ก็เลยลองเสนอนโยบายว่าจะทำยังไง ให้ภาครัฐสามารถทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยและโอเคกับการใช้ Gap Year รู้สึกว่าเขาไม่เสียเวลา ไม่ต้องมีเงินมากที่จะต้องทำสิ่งนี้ได้” แคนแคนอธิบาย 

นโยบาย Gap Year สำหรับทุกคน

“เรามีความเชื่อว่า ถ้าเรียนจบมัธยมแล้ว เราต้องรีบเข้ามหาลัยทันที ไม่งั้นคนอื่นจะมองว่าเราสอบไม่ติดหรือไม่มีที่เรียน สองพอเราเรียนมหาลัยจบแล้ว ถ้าเราไม่มีงานทำ เราก็จะถูกมองว่าเราเป็นคนว่างงาน มันก็เป็นค่านิยมส่วนหนึ่ง แล้วความกดดันเรื่องเศรษฐกิจ เราต้องรีบทำงาน หาเงิน เพื่อมาช่วยเหลือคนในครอบครัว ถ้ารัฐสามารถทำให้ความกังวลเหล่านี้หายไปได้ เราจะมีโอกาสในการตัดสินใจชีวิตเรามากขึ้น มากกว่าความกดดันที่บีบให้เราต้องใช้ชีวิต” แคนแคนชี้ 

แคนแคน - นายิกา ศรีเนียนแคนแคน - นายิกา ศรีเนียน

เมื่อนโยบาย Gap Year ถูกนำเสนอผ่าน Think Forward Center หรือศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต ของพรรคก้าวไกล นโยบายดังกล่าวก็ขยายตัวจาก Gap Year ไปสู่นโยบาย Job Shadow ที่จะเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ทดลองทำงานที่สนใจ

“เรามองเห็นว่าถ้าบางคนไม่ได้อยากใช้ Gap Year หนึ่งปี ระหว่างที่ปิดเทอม เด็กที่อายุตั้งแต่ 15 - 20 ปี สามารถเข้าโครงการกับรัฐได้ โดยเราวางแผนกันไว้ว่าภาครัฐจะจัดหาบริษัทหรือสำนักงานที่น้อง ๆ สนใจ ให้น้อง ๆ ได้ไปฝึกงานหรือเรียนรู้เกี่ยวกับงาน นอกจากนี้ บริษัทที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้ลดหย่อนภาษีด้วย เพราะถือว่าช่วยรัฐสนับสนุนด้านการศึกษา” 

“หลายคนมองว่าแคนโลกสวย แต่ว่าประเทศไทยของเราเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่ได้หน้าตาแบบนี้ เพราะฉะนั้นประเทศไทยของเราในอีก 20 ปีข้างหน้า ก็มีโอกาสเปลี่ยนไปได้มาก แต่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีหรือแย่ มันก็ขึ้นอยู่กับทุกคนว่าจะออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง ทำให้มันดีขึ้นหรือเปล่า” แคนแคนกล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ “แคน - นายิกา” นโยบาย Gap Year เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของเยาวชนไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook