กกต. แจงพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนเป็นปกติ ยันไม่ต้องติด GPS บนหีบบัตร

กกต. แจงพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนเป็นปกติ ยันไม่ต้องติด GPS บนหีบบัตร

กกต. แจงพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนเป็นปกติ ยันไม่ต้องติด GPS บนหีบบัตร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กกต. แจงพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนเป็นปกติ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรค ยันไม่ต้องติด GPS บนหีบบัตร แค่สายรัดหีบ-เซ็นต์รับมอบ น่าจะเพียงพอแล้ว เลี่ยงตอบ ครม. ของบกลางหมื่นกว่าล้านช่วยค่าไฟ ขัด รธน. 169 หรือไม่ ขอรอดูรายละเอียดก่อน

นายแสวง บุญมี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงข้อสังเกตในการขนส่งบัตรเลือกตั้ง ไม่มีการติดตั้งเครื่องติดตาม GPS บนหีบบัตร จะมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยในการขนส่งและเก็บรักษาหีบบัตรหรือไม่

โดยตอบว่า ความจริงแล้ว มีกระบวนการทางไปรษณีย์ มีสายรัดหีบและหมายเลขที่ระบุชัดเจน รวมทั้งการเซ็นต์รับมอบทุกขั้นตอนอยู่แล้ว คิดว่าระบบเพียงเท่านี้ ก็น่าจะเพียงพอสำหรับการเลือกตั้งแล้ว

ส่วนการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 7 ล้านใบ เป็นจำนวนมากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา นายแสวง กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง มีการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกินเหมือนกันทุกปี เพราะจะต้องพิมพ์ในลักษณะเป็นเล่ม ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวนกว่า 52 ล้านคน กกต. พิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ เท่ากับเกินมาราว 4 ล้านกว่าใบ

ส่วนที่เกินมาเพราะ กกต. จ่ายบัตรเป็นเล่ม ไม่ได้จ่ายเป็นฉบับ โดยเล่มสุดท้ายสำรองให้หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งบางหน่วยก็จะใช้ 1-2 เล่ม จึงต้องมีการสำรองให้หน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 95,000 กว่าหน่วย รวมเป็น 2 ล้านฉบับ

ส่วนที่สองคือสำรองบัตรเลือกตั้งให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งมีหน่วยละประมาณ 10 คน อีก 2 ล้านฉบับ เพื่อลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งของตัวเอง และอีก 1 ล้านกว่าฉบับ เป็นการสำรองไว้ในการเลือกตั้งล่วงหน้า 400 กว่าหน่วย ในวันที่ 7 พ.ค. นี้

พร้อมยกตัวอย่าง ที่ประเทศซูดาน ซึ่งส่งบัตรเลือกตั้งไป 100 ใบ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 94 คน แต่ได้ยกเลิกบัตรที่ลงทะเบียนไว้ที่ซูดาน โดยไม่ได้นำกลับมาไทย จึงจำเป็นต้องจัดหาบัตรเลือกตั้งสำรองให้สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้สิทธิหลังอพยพกลับมาไทย เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งไม่มีอุปสรรค จึงถือเป็นเรื่องปกติ

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอของบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าไฟแพงกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กกต. ได้ตีกลับไปนั้น มีข้อสังเกตว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่

นายแสวง ระบุว่า ตอนนี้ต้องรอพิจารณา ครม. ส่งหนังสือและรายละเอียดกลับมา

เมื่อถามย้ำว่าในทางหลักการถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายแสวง ไม่ได้ตอบคำถามของสื่อมวลชน เพียงแต่ย้ำต้องรอ และพิจารณารายละเอียดจากหนังสือที่ ครม. ส่งมา แต่เท่าที่ทราบคือ ครม. ได้ขออนุญาตใช้งบกลาง ซึ่งถือเป็นสิทธิของ ครม. ที่จะเสนอขอมา โดยทาง กกต. ต้องพิจารณาอีกครั้งว่าจะอนุมัติหรือไม่ หากเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 169

ด้าน นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวถึงกรณีจะการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในการรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าหรือไม่ ว่ารถที่ขนส่งเข้ามาในศูนย์คัดแยก จะถูกสังเกตการณ์ด้วยกล้องวงจรปิด 21 ตัว

ผู้ที่จะเข้าพื้นที่ได้ต้องได้รับการอนุมัติจาก กกต. ช่องทางเข้าออกมีเพียงทางเดียวเท่านั้น และต้องใช้การแสกนใบหน้า ซึ่งสามารถติดตามวิธีการทำงานให้ทุกคนเห็น ยืนยันทุกอย่างเป็นไปด้วยความโปร่งใส ชัดเจน

เมื่อถามถึงความจำเป็นต้องมีการติด GPS บนทุกหีบบัตร นายดนันท์ กล่าวว่า รถขนส่งบัตรทุกคันมีการติด GPS ทั้งหมด ทุกหีบบัตรเลือกตั้งที่ขนส่งเข้ามาในรถ ผ่านการตรวจนับโดยคณะกรรมการ ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ของ กกต. ตำรวจ และไปรษณีย์ไทย

ก่อนขนขึ้นรถต้องถูกผนึกด้วยสายรัดหีบบัตรทุกช่องทาง สายรัดมีการลงรหัสหมายเลขชัดเจน ซึ่งต้องตรงกับรหัสของรถ อาจจะมีการเปิดรถเพื่อนำหีบบัตรออกมา ต้องมีการตรวจนับทั้งหมดโดยเจ้าหน้าที่ กกต. อยู่รับมอบทุกพื้นที่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook