เลือกตั้ง 2566 เผยวิธีกาบัตรแบบไหนไม่ให้บัตรเสีย
เลือกตั้ง 2566 ที่จัดขึ้นวันที่ 14 พ.ค. และเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องกาบัตร 2 ใบ คือ เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 1 ใบ และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 ใบ โดยแต่ละใบจะกากบาทได้เพียงแค่ 1 กากบาทเท่านั้น
เราไปดูกันว่ากากบาทแบบใดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นับเป็นบัตรดี และกาหรือทำเครื่องหมายอย่างไรที่จะกลายเป็นบัตรเสีย
วิธีกาบัตรที่ถูกต้อง
กากบาทที่เป็นบัตรดี คือ กาให้อยู่ภายในกรอบสี่เหลี่ยมของหมายเลขที่เราเลือก ไม่ว่าจะกาเต็มหรือไม่เต็มช่อง และไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ขอเพียงแค่มีจุดตัดของกากบาทนั้นเพียงจุดเดียว ดังนี้
- กากบาทแบบทแยงมุม
- กากบาทแนวตั้ง
- กากบาทแล้วเผลอจุด
กาแบบนี้บัตรเสียแน่
- กาเลยกรอบ
แม้กาสวยมากๆ แต่ถ้าเลยออกนอกกรอบสี่เหลี่ยมมา ก็จะถูกนับว่าเป็นบัตรเสียเช่นกัน - กากบาทมากกว่า 1 จุดตัด
- เช็กถูก
- การูปหัวใจหรือเครื่องหมายอื่นๆ
ถึงเราจะรักหรือชื่นชอบผู้สมัครหรือพรรคเราตั้งใจว่าจะกาให้ก็ตาม แต่ทำเครื่องหมายหัวใจลงไป คะแนนก็จะไม่ถูกนับให้ผู้สมัครหรือพรรคนั้นเช่นกัน - กากบาทแบบเส้นประ
- เขียนตัวอักษร
เช่นกันกับตัวอักษรที่จะทำให้บัตรของเรากลายเป็นบัตรเสีย ดังนั้นควรยับยั้งหัวใจของเราก่อนจะเขียนคำว่ารักหรือคำใดๆ ให้ผู้สมัคร ส.ส. - ดอกจัน
ไม่ต้องกลัวว่าเจ้าหน้าที่นับคะแนนจะไม่เห็นกากบาทของเรา เลยอยากกากบาท 2 ครั้งทับกันเป็นรูปดอกจัน เพราะถ้าทำเช่นนี้ก็จะกลายเป็นบัตรเสีย
ห้ามกาเกิน 1 หมายเลข-ห้ามฉีกบัตร
สรุปก็คือ เมื่อไปถึงคูหาเลือกตั้งและต้องกาลงในบัตร ให้กากบาทในช่องสี่เหลี่ยมเท่านั้น และห้ามกามากกว่า 1 หมายเลข
ไม่ใช่แค่นั้น ห้ามฉีกบัตรเลือกตั้งด้วย ข้อนี้ถือว่าผิดกฎหมายเลยทีเดียว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ 100,000 บาท และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี