รอง ผอ. ไทยพีบีเอส โพสต์ยืนยัน ITV-บริษัทลูก ปิดกิจการแล้ว!

รอง ผอ. ไทยพีบีเอส โพสต์ยืนยัน ITV-บริษัทลูก ปิดกิจการแล้ว!

รอง ผอ. ไทยพีบีเอส โพสต์ยืนยัน ITV-บริษัทลูก ปิดกิจการแล้ว!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายและเสียงแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท./ไทยพีบีเอส) โพสต์เมื่อวันพุธ (10 พ.ค.) ยืนยันว่า บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ปิดกิจการไปแล้วตั้งแต่ปี 2550 ส่วนบริษัทลูกที่ให้เช่าอุปกรณ์ถ่ายทำก็ปิดกิจการแล้วเช่นกัน แต่ยังสถานะนิติบุคคลไว้เพื่อฟ้องร้องกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

การเปิดเผยนี้มีขึ้นในช่วงที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบปาร์ตี้ลิสต์พรรคพลังประชารัฐ ลำดับที่ 22 ที่มีชื่อเสียงจากการร้องเรียนเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว ร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในการสำรวจความเห็นประชาชนการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. หลายสำนัก ถือหุ้นบริษัทที่ประกอบกิจการด้านสื่อมวลชน ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และรัฐมนตรี

โพสต์ในเฟซบุ๊กของรอง ผอ. ไทยพีบีเอส ให้ข้อมูล 7 ข้อที่ยืนยันว่าไอทีวีและบริษัทลูกปิดกิจการไว้ โดยข้อที่ 1-6 เป็นข้อมูลตามรายงานประจำปี 2565 ของไอทีวี ส่วนข้อที่ 7 เป็นความเห็นส่วนตัวของนายอนุพงษ์เอง มีข้อความดังนี้

  1. หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวีตั้งแต่ 24.00 น.วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
  2. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2557
  3. ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฏหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า-การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฏหมาย-ให้ สปน.ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท
    • ต่อมา สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอาุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.
    • มกราคม 2564 สปน.ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
  4. ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท
  5. ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณืผลืตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนต์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ
  6. กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน บ.ไอทีวี ในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
  7. การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับสปน. (ความเห็นผู้เขียน)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook