แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ปี 2553 ดีขึ้น แต่ยังลูกผีลูกคน
เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกพบกับฝันร้าย บางประเทศอยู่ในสภาพลำเค็ญเมื่อต้องเผชิญหน้ากับภัยสารพัดชนิด ทั้ง การเมืองในประเทศ ภัยธรรมชาติ และภัยเศรษฐกิจตกต่ำที่ถาโถมเข้าใส่ผู้คนแทบตั้งตัวไม่ติด ปัญหาเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจโลกตกต่ำ หรือยุคดีเพรสชั่นในช่วงทศวรรษที่ 1930 ก็เล่นเอาทั่วโลกสะบักสะบอม ดัชนีชี้วัดความยากจนพุ่งกระฉูด ในช่วงต้นปี 2552 มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ อย่างไรเสีย ก็ยังถือว่ามนุษยชาติมีความโชคดีอยู่บ้าง ที่รัฐบาลของแต่ละประเทศต่างตระหนักถึงความทุกข์เข็ญ ยากลำบาก ร่วมกันคนละไม้ละมือผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาล จนสามารถฉุดเศรษฐกิจขึ้นจากหลุมได้อย่างหวุดหวิดในช่วงปลายปี ทำให้ผู้คนพอใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง
เมื่อผ่านพ้นวิกฤติมาได้อย่างทุลักทุเล ก็มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในช่วงฟ้าหลังฝน หลังพายุสงบ จะกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้งในปี 2553 โดยจะมีเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียทำหน้าที่เป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน เศรษฐกิจโลกให้เติบโต
ในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เช่นสหรัฐ ซึ่งระบบการเงินและตลาดแรงงาน กำลังส่งสัญญาณว่าเริ่มมีเสถียร ภาพ น่าจะขยายตัวเร็วกว่าสหภาพยุโรป ที่ยังคงมีอัตราการว่างงานสูง ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหากัดเซาะการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจใน ยุโรปด้วย
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เผยแพร่ภาพรวมเศรษฐกิจโลก คาดการณ์ว่า ผลผลิตของโลกจะขยายตัว ได้ร้อยละ 3.1 ในปี 2553 โดยมีประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย และจีน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 18 เดือนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จะช่วยกันเข็นให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
สำหรับปี 2552 ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมทั่วโลกลดลงร้อยละ 1.1 แม้ว่าหลายสิ่งหลายอย่างอาจไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่ควรจะเป็น แต่ไอเอ็มเอฟก็ไม่ได้แสดงความพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"วันนี้ พายุฝนได้พัดผ่านไปแล้ว ความเลวร้ายถูกปัดเป่าออกไป และเศรษฐกิจมั่นคงดีขึ้น แต่ก็ยังเปราะบางอยู่" นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวต่อที่ประชุมในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษเมื่อเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
ด้านสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เองก็คาดการณ์ด้วยว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ใน ปี 2553 แต่ก็กำชับเตือนว่า การฟื้นตัวจะยัง คงอ่อนแออยู่ ในเอกสารคาดการณ์เศรษฐกิจประจำปีของยูเอ็น ซึ่งจะนำออกเผยแพร่ในเดือนมกราคมนี้ ยูเอ็นชื่นชมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2551 ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งได้ พร้อมทั้งแนะนำด้วยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ ต้องดำเนินต่อไป เพราะอย่างน้อยที่สุดก็เป็นสัญญาณแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมากขึ้น ทั้งในการบริโภค การลงทุนในภาคเอกชนก็ขยับขึ้น และอัตราการจ้างงานทั่วโลกก็เพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ รายงานของยูเอ็น เรื่อง"สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2553" ก็แสดงความยินดีที่ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ตลาดหุ้นทั่วโลกทะยานขึ้นอย่างคึกคัก และการค้าระหว่างประเทศก็ดีขึ้น นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ หลังจากการลดลงของการค้าโลก ผลผลิตด้านอุตสาหกรรม ราคาอสังหาริมทรัพย์ และสภาพคล่องของ สินเชื่อโลกที่เป็นต้นตอฉุดเศรษฐกิจโลกลงสู่ หุบเหวแห่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งเลวร้ายครั้งใหม่ในช่วงต้น 2552
ส่วนองค์การความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือโออีซีดี ก็เผยแพร่รายงานภาพรวมเศรษฐกิจ ซึ่งออกทุก ๆ 2 ปีเมื่อเดือนที่แล้ว กล้าฟันธงว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจใน 30 ประเทศสมาชิก ซึ่งรวมทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น เยอรมนีและอังกฤษ ในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า อยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับร้อยละ 0.7 จากการคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน แต่ตามรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของโออีซีดี ระบุว่า การฟื้นตัวเพียงแค่นี้ เป็นเรื่องยากที่จะหยุดอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจยืดเยื้อไปจน ถึงปี 2554 ก่อนที่อัตราการว่างงานจะเริ่มลดลงในยุโรปจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 10.8
กระนั้นก็ตาม จอร์เก้น เอลเมสคอฟ รักษาการประธานนักเศรษฐศาสตร์ของโออีซีดี เตือนว่า งบประมาณของรัฐบาลอยู่ในสถาน การณ์ยากลำบากจากวิกฤติและหนี้โดยรวมของประเทศสมาชิกโออีซีดี อาจมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีในปี 2554 การตัดลดค่าใช้จ่าย หรือการเพิ่มการจัดเก็บภาษี จะเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ซึ่งก็ยิ่งจะซ้ำเติมให้การฟื้นตัวอ่อนแอมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ตามรายงานการคาด การณ์เศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะต้องพึ่งพาภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ไม่ใช่จีนและอินเดีย ซึ่งคาดกันว่ายักษ์ใหญ่แห่งเอเชียทั้ง 2 ประเทศนี้ จะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ร้อย ละ 9 และร้อยละ 6.4 ตามลำดับ โดยได้รับอานิสงส์จากแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหึมา ที่กำลังทำงานอย่างได้ผล เพิ่มความต้องการภายในประเทศได้อย่างมาก
ในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดอย่างรุนแรง กิจกรรมทางเศรษฐกิจคาดว่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.4 ตลอดทั้งปี 2552 แต่แผน กระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ และการส่งออกเพิ่มขึ้น จะนำไปสู่การฟื้นตัวได้ร้อยละ 1.7 ในปี 2553
ส่วนในสหรัฐ สมาคมเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติสหรัฐ หรือเอ็นเอบีอี จาก การคาดการณ์อย่างสอดคล้องกันของคณะนักเศรษฐศาสตร์ 48 คน ของเอ็นเอบีอี ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวในปี 2553 การบริโภคที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง จะเริ่มดีขึ้น แต่ก็หวังว่าจะเห็นการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาค อสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่, ภาวะเงินเฟ้อลดต่ำลง และราคาหุ้นเพิ่มขึ้น
การลดลงอย่างน่าประหลาดใจของ อัตราการว่างงานของสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนได้เพิ่มความหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้น ตัวได้อย่างยั่งยืนในปี 2553 โดยอัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10 อย่างไม่คาดคิด จากร้อยละ 10.2 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 26 ปีในเดือนตุลาคม ทั้ง ๆ ที่นายจ้างก็ลดตำแหน่งงานลงต่ำที่สุด ตั้งแต่ปลายปี 2550 อย่างไรก็ตาม การสร้างงานคาดว่าจะยังอ่อนแอเกินไปที่จะรองรับชาวอเมริกันที่ว่างงานจำนวน 15.4 ล้านคน ที่กำลังหางานทำอยู่ ในช่วง 2-3 เดือนนี้
นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐขณะนี้ คืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และการลดอัตราการว่างงาน
หลังจากเศรษฐกิจย่ำแย่ตลอด 4 ไตรมาสติดต่อกัน เศรษฐกิจสหรัฐได้กลับมาขยายตัวได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสเดือนกรกฎา คม-กันยายน โดยขยายตัวได้ร้อยละ 2.8 โออีซีดีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2553 เพิ่มจากการคาดการณ์ในเดือนมิถุนายน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.9 โดยเศรษฐกิจได้รับการสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ, การปรับปรุงเงื่อนไขทางการเงิน, อุปสงค์จากประเทศเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน และเสถียรภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่นายไกธ์เนอร์ยอมรับว่า การทดยอดขาดดุลงบประมาณ คงไม่เกิดขึ้นในปี 2553 พร้อมระบุว่า มันจะต้องใช้ความพยายามที่ยาวนานขึ้น และเพื่อทำให้สถานการณ์มีเสถียรภาพ สหรัฐควร จะลดยอดขาดดุลลงเหลือร้อยละ 3 ของจีดีพีในระยะกลาง โดยยอดขาดดุลของสหรัฐในปี 2552 อยู่ที่ร้อยละ 10 ของจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
เพื่อเป็นการประคับประคองการฟื้น ตัวของเศรษฐกิจ และภาวะเงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเกือบร้อยละ 0 เป็นเวลา 1 ปี และยังมีสัญญาณที่แสดงให้เห็น ว่า เฟดจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งเฟดก็หวังว่าจะดึงดูดชาว อเมริกันและธุรกิจในประเทศให้หันมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องได้
ส่วนการคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปีเสือ ในประเทศอื่น ๆ ประเทศยูโรโซน 16 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโร หลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 แล้ว โดยการส่งออกจากเยอรมนีและฝรั่งเศส มาช่วยชดเชยภาวะซบเซาของครัวเรือนที่ยังกล้า ๆ กลัว ๆ ในการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย โจนาธาน ลอยน์ส ประธานนักเศรษฐศาสตร์ยุโรปที่แคปิตัล อีโคโนมิกส์ กล่าวว่า อย่างน้อยยุโรปก็หลุดพ้นภาวะถดถอยแล้ว และยังคงอยู่ในเส้นทางที่จะกลับไปเติบโตได้ร้อยละ 1.5 ในปีหน้า แต่ยังไม่มีอะไรชี้ชัดว่าความต้องการภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นเพื่อประคับ ประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งมากขึ้น
เศรษฐกิจที่อาศัยการส่งออกเป็นแรงขับของเยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.6 ในปี 2553 โดยบุนเดสแบงก์ ธนาคารกลางเยอรมนีทำนายไว้ในต้นเดือนธันวาคม พร้อมประกาศว่า ภาพ รวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มสดใสในช่วงหลายเดือนมานี้ บุนเดสแบงก์ คาดว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวร้อยละ 4.9 ในปีนี้ ก่อนที่จะโงหัวขึ้นได้ในปี 2553
ส่วนลาติน อเมริกา ซึ่งนำโดยบราซิล และเม็กซิโก คาดเศรษฐกิจจะกลับมาผงาดได้ในปี 2553 โดยได้อานิสงส์จากความต้องการสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันและทองแดงสูงขึ้น บราซิลคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 5 ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ และสัญญาณการเพิ่มขึ้นของสินค้าส่งออก ขณะที่เม็กซิโก คาดว่าจะโตได้ร้อยละ 3 ในปี 2553 หลังจากหดตัวอย่างรุนแรงร้อยละ 7.2 ในปีนี้ ด้านชิลีคาดขยายตัวร้อยละ 5 หลังจากหดตัวร้อยละ 1 ในปี 2552
ในตะวันออกกลาง การดิ่งลงของราคาน้ำมันและการลดลงอย่างรุนแรงในการลงทุนจากต่างชาติ ถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจในภูมิภาค แต่การปรับปรุงเงื่อนไขการเงินโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ก็กำลังช่วยฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างก้าวกระโดด อัตราการเติบโตที่แท้จริงของภูมิภาคนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ในปี 2552 และขยับขึ้นร้อยละ 4.2 ในปี 2553 องค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ซึ่งส่งออกน้ำมันโลกประมาณร้อยละ 35 ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง เพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอยจำกัดความต้องการน้ำมัน แต่สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น หลังจากทะยานขึ้นไปสูงถึง 147 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม 2551 และดิ่งลงอย่างฮวบฮาบมาอยู่ที่ 32 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ราคาน้ำมันในปัจจุบันแกว่งตัว เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากพุ่งขึ้นไปแตะ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในปี 2552
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ แถลงว่า ความต้องการน้ำมันโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 2553 โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเอเชียและตะวันออกกลาง เป็นแรงดัน ไออีเอ ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า ความต้องการน้ำมันดิบจะพุ่งสูงถึง 86.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากปี 2552
ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ความหวาดกลัวของประเทศเจ้าหนี้ต่อปัญหาหนี้อีนุงตุงนังของดูไบ อาจลุกลามจากบริษัทดูไบเวิลด์ไปยังบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "ดูไบ อิงค์" ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า อาจเกิดคลื่นปัญหาสินเชื่อโลกลูกใหม่ แต่อาบู ดาบี เมืองเศรษฐีน้ำมัน ได้ทุ่มเงินมหาศาล 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยชำระหนี้ให้ดูไบ ประคับประคองไม่ให้บริษัทล่มแล้ว ทั้งนี้ เมื่อเดือนก่อน ดูไบเวิลด์ แถลงว่า จะพักการชำระหนี้ที่มีมูลค่าสูงถึง 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา 6 เดือน
แม้ทุกฝ่ายจะคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2553 จะขยายตัวได้ แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า จะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะฉะนั้นยังถือว่า เศรษฐกิจยังตกอยู่ในความเสี่ยง ยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ที่รัฐบาลทั่วโลกจะวางใจไม่ได้