ปิดสวิตช์ของเราไม่เท่ากัน: ว่าด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการโหวตนายกฯ

ปิดสวิตช์ของเราไม่เท่ากัน: ว่าด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการโหวตนายกฯ

ปิดสวิตช์ของเราไม่เท่ากัน: ว่าด้วยการ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” และการโหวตนายกฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 จบลง โซเชียลมีเดียไทยก็ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง หลังจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หลายคนได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยระบุถึงเรื่อง “การปิดสวิตช์ ส.ว.” ที่อาจจะมีความหมายหลายแบบ ในขณะที่ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คน มีอำนาจในการลงคะแนนเลือกนายกฯ คนต่อไปของประเทศ แล้วการปิดสวิตช์ที่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบไหนได้บ้าง Sanook พาไปดูทางเลือกของ ส.ว. ในการจัดการกับอำนาจที่พวกเขามีอยู่ในมือ 

4 ทางเลือกของ ส.ว.

ทางเลือกที่ 1 - ส.ว. ​โหวตตามเสียงข้างมากของ ส.ส. 

ส.ว. ยกมือให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากจาก ส.ส. ได้ 251 เสียง ซึ่งทางเลือกนี้เปรียบเสมือน “การปิดสวิตช์ตัวเอง” และเป็นการเคารพเสียงของประชาชนที่ออกไปเลือกตั้ง เลือกผู้แทนของตัวเองเข้าสภา ตอนนี้พรรคก้าวไกล เพื่อไทย และพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เคยเป็นฝ่ายค้านรวมกันได้ 310 เสียงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางเลือกนี้คือสิ่งที่ควรจะเป็นในการเลือกตั้งแบบปกติ 

ทางเลือกที่ 2 - ส.ว. ดึงดันลงคะแนนให้แคนดิเดตที่ต้องการเลือก

ส.ว. อาจจะต้องการเลือกคนที่เลือกพวกเขาเข้ามาทำหน้าที่ ส.ว. ไม่ว่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แม้ว่าทั้ง 2 คนจะได้เสียง ส.ส. ไม่ถึงครึ่งหนึ่งก็ตาม อย่างไรก็ตาม การเลือกวิธีนี้ก็จะทำให้ได้รัฐบาลเสียงข้างน้อย เป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและไม่สามารถบริหารประเทศได้ 

ทางเลือกที่ 3 - ส.ว. งดออกเสียง

วิธีนี้อาจดูเหมือนเป็นทางออกเพื่อ “ปิดสวิตช์” ตัวเองของ ส.ว. ไม่ให้มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว การงดออกเสียงแบบนี้จะให้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ระบุว่า ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับเสียง “กึ่งหนึ่ง” ของจำนวนสมาชิกของ 2 สภารวมกัน หรือต้องได้รับคะแนนเสียง 376 เสียง ดังนั้น หาก ส.ว. ทั้ง 250 คน “งดออกเสียง” ก็อาจจะทำให้ไม่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด ได้เสียงมากพอถึง 376 เสียง ซึ่งจะส่งผลให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคที่ได้ ส.ส. เสียงข้างมาก ไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

หาก ส.ว.​ พร้อมใจงดออกเสียง ก็จะนำไปสู่ 2 แนวทาง คือ ทั้งสองสภาต้องลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง หรือหันไปใช้กลไก “นายกรัฐมนตรีนอกบัญชี” ที่ไม่ต้องเป็นแคนดิเดตจากบัญชีพรรคการเมือง แต่จะเสนอชื่อ “ใครก็ได้” โดยต้องได้รับเสียง 376 เสียงของรัฐสภาเพื่อจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี 

ทางเลือกที่ 4 - ปิดสวิตช์ ส.ว. ด้วยสภาล่าง

รวมเสียงของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ทั้งหมด ให้ได้ 376 เสียงจาก 500 เสียง เพื่อจะปิดสวิตช์ ส.ว. 250 คน 

เสียงกึ่งหนึ่งของสภาเลือกนายกฯ​ 

ในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 159 ระบุให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก่อนการเลือกตั้ง โดยต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 ที่นั่ง และมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 50 เสียง เช่น มีจำนวน ส.ส. ในสภาทั้งหมด 500 คน ผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงจาก ส.ส. อย่างน้อย 251 เสียง 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ระบุว่าผู้จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้ง 2 สภา (ส.ส. และ ส.ว.) แปลว่าต้องได้เสียงอย่างน้อย 376 เสียง จากจำนวนสมาชิกทั้งสองสภาทั้งหมด 750 คน ซึ่งในตอนนี้ประชาชนก็กำลังจับตาดูท่าทีของ ส.ว. แต่งตั้งทั้ง 250 คน เนื่องจาก ส.ว. มีท่าทีจะไม่ทำตามเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีความพยายามเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. มากกว่า 6 ครั้ง แต่ ส.ว. ก็พยายามขัดขวางไม่ให้ข้อเสนอเหล่านี้กลายเป็นจริง 

ท่าทีของ ส.ว. เป็นอย่างไร

หลังพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 ทำให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลประกาศเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็มีเสียงสะท้อนจาก ส.ว. ออกมา โดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่าผลการเลือกตั้งสะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ควรให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ส่วนวัลลภ ตังคณานุรักษ์​ ก็ระบุในโพสต์เฟสบุ๊กว่า “ใครรวมเสียงข้างมาก เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาลครับ ไม่มีใครขวางได้” 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กล่าวว่าคนจะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ไม่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย สิ่งสำคัญคือถ้าพรรคแกนนำในการตั้งรัฐบาลไม่สามารถรวมเสียงได้ 376 เสียงเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.​อัตโนมัติ ก็อาจเลือกรอบแรกไม่ผ่าน ด้านเฉลิมชัย เฟื่องคอน ได้ออกมากล่าวว่า พรรคที่จะเป็นรัฐบาลต้องไปหาเสียงให้ได้ 376 เสียงเองก่อน อย่ามาหวังพึ่งเสียงของ ส.ว. เพื่อจะได้ปิดสวิตช์ ส.ว. ไปเลย 

เช่นเดียวกับวันชัย สอนศิริ ที่กล่าวถึงการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่าพรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 ไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นรัฐบาลเสมอไป พร้อมเปรียบเทียบกับกรณีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ที่ได้เสียงอันดับ 1 แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ใช้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีหรือจะงดออกเสียง 

การปิดสวิตช์ที่ ส.ว. พูดถึงจึงอาจไม่ใช่การคืนอำนาจให้กับประชาชนที่ออกไปเลือกตั้ง แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขให้ ส.ว. มีอำนาจในการกำหนดผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้น ประชาชนก็อาจจะต้องจับตาการทำงานของ ส.ว. อย่างใกล้ชิด และหวังว่า ส.ว. จะเคารพเสียงของประชาชน ด้วยการลงคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook