ตำรวจทางหลวงแจงสติกเกอร์ส่วยแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ตำรวจทางหลวงแจงสติกเกอร์ส่วยแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ตำรวจทางหลวงแจงสติกเกอร์ส่วยแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พลตำรวจตรี เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เผยเมื่อวันจันทร์ (29 พ.ค.) กรณีสติกเกอร์ส่วยทางหลวงที่ติดบนรถบรรทุกว่าเรื่องส่วยเป็นปัญหาที่มีมาเหตุ และเป็นปัญหาปลายเหตุ ส่วนต้นเหตุก็คือเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

การแถลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์แฉว่ามีสติกเกอร์ติดรถบรรทุก ที่เป็นสัญลักษณ์การจ่ายส่วย ให้ไม่ต้องรับโทษทางกฎหมาย กรณีบรรทุกน้ำหนักเกินกำหนด

พล.ต.ต.เอกราช มองว่าปัญหาการบรรทุกเกินกฎหมายกำหนดต้องแก้ไขในภาพรวม โดยเฉพาะเรื่องการแก้กฎหมาย โดยในปัจจุบัน กฎหมายให้ดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ประกอบการรถบรรทุก ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบ จึงเกิดการกระทำความผิดซ้ำ 

"ปัญหานี้มันเป็นปัญหาเรื่องรถบรรทุกหนักนะครับ เรื่องของส่วยก็ดี เรื่องอะไรก็ดีมันเป็นปลายเหตุ ถูกมั้ยครับ เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาเรื่องรถบรรทุกหนักให้มันหมดไปเนี่ยนะครับ หรือให้มันบรรเทาเบาบางลง มันจะต้องแก้ในภาพรวม" พล.ต.ต.เอกราช กล่าว

"แต่ประเด็นก็คือว่า อย่างที่ผมนำเรียนไปแล้วว่า ต้องถามสหพันธ์ขนส่งทางบกจริงๆ ว่าทำไมผู้ประกอบการที่เห็นแก่ตัวพวกเนี้ยจะต้องดำเนินการอย่างงี้ ทำไมจะต้องบรรทุกหนัก อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่จะต้องแก้ไขครับ"

ผู้บังคับการตำรวจทางหลวงเสนอแนวทางพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่า หากจับรถบรรทุก 1 คัน พบว่าบรรทุกหนักเกิน 20% ก็ให้สั่งยึดรถของผู้ประกอบการรายดังกล่าวทุกคัน เชื่อว่าคงสามารถยึดรถบรรทุกได้หลายหมื่นคัน ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิด และอาจต้องย้อนถามไปยังสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยด้วยว่า อะไรคือปัญหาที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ประกอบการเกิดความเห็นแก่ตัวจนต้องบรรทุกหนักเกินกำหนด ก็ต้องไปแก้ไขในมิติอื่นๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี พล.ต.ต.เอกราช กล่าวต่อไปว่า กรณีนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองบังคับการตำรวจทางหลวง ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดกระทำผิดกฏหมาย ก็จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด รวมไปถึงหากมีเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากการดำเนินการทางกฏหมายแล้ว ก็ต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วยอย่างเคร่งครัด โดยยืนยันว่าจะทำอย่างจริงจัง ถอนรากถอนโคน 

ส่วนเวลา 13.00 น. ของวันเดียวกันนี้ ตนเรียกผู้กำกับการและสารวัตร ของสถานีตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ เข้ามาประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดทิศทางการทำงาน และยืนยันว่ากรณีดังกล่าว หากมึเจ้าหน้าที่คนใดกระทำความผิดก็ต้องรับผิดชอบผลการกระทำของตัวเอง จะมาอ้างว่าอาชีพตำรวจไม่พอกินไม่ได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็ให้ไปเลือกอาชีพอื่น ไม่ใช่มาใช้อาชีพตำรวจไปหากิน ตนขอให้ความมั่นใจในฐานะผู้นำของกองบังคับการตำรวจทางหลวงว่าจะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook