"วิโรจน์" ชี้แก้คอร์รัปชั่น แค่ปราบไม่จบ ต้องรื้อที่โครงสร้าง พร้อมยกตัวอย่างแบบเห็นภาพ
"วิโรจน์" ชี้ 4 ธงสำคัญ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น แค่ปราบอย่างเดียวไม่จบ ยันต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงปัญหาการคอรัปชั่นในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่มีการปราบปรามนะครับ ก็มีการปราบกันเป็นระยะๆแต่พอสักพักการคอร์รัปชั่น ก็กลับมาใหม่ นั่นเป็นเพราะว่า เราเน้นแก้ปัญหาที่ตัวบุคคล แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่โครงสร้างเลย
ดังนั้น การที่จะแก้ไขปัญหาคอรัปชั่น ที่ดีที่สุด จะต้องไม่ใช่แค่ปราบ แต่ต้องแก้ไขที่โครงสร้างด้วย และต้องทำให้ประชาชนทุกภาคส่วน เล็งเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมกันของระบบที่ปราศจากคอร์รัปชั่น ทำให้การคอร์รัปชั่น มีกระบวนการที่วุ่นวายกว่าการทำงานตรงไปตรงมา ตราบใดก็ตาม ถ้ายังมีการสมประโยชน์กันของการให้และรับสินบน การทุจริตคอร์รัปชั่นก็จะผุดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ ไม่มีวันหมดไป
การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องมีธงสำคัญในการแก้ไขปัญหาอยู่ 4 ด้าน ด้วยกัน คือ
1) การสร้างระบบที่ข้าราชการที่ดีมีโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน ข้าราชการระดับปฏิบัติงานได้รับสวัสดิการที่ดี มีขวัญ และกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่งไม่มีระบบตั๋ว เพราะถ้าได้ตำแหน่งมาด้วยการซื้อ ก็ไม่วายต้องใช้อำนาจจมาถอนทุนคืน หรือไม่ก็ต้องตอบแทนมาเฟียเจ้าของทุน
2) การปราบปรามวงจรส่วยอย่างครบวงจร ไม่ใช่แค่จับปลาซิวปลาสร้อย ดังนั้น การมี พ.ร.บ. ปกป้องผู้เปิดโปงเบาะแสการคอร์รัปชั่น (Whistle Blower Protection Act) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะหากผู้เปิดโปงการทุจริต ได้รับการกันตัวไว้เป็นพยาน และได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี เมื่อไหร่ก็ตามที่เครือข่ายการทุจริตขยายวง จนผลประโยชน์ไม่ลงตัว เมื่อการเปิดโปงเกิดขึ้นก็จะทำให้รัฐมีหลักฐานเพียงพอ ที่จะทลายเครือข่ายการทุจริตได้แบบยกรัง
3) การแก้ไขกฎหมายที่เวิ่นเว้อวุ่นวาย มีงานธุรการเต็มไปหมด ให้ดุลยพินิจกับเจ้าหน้าที่มากจนเกอนไป เนื้อหา และหลักเกณฑ์ในกฎหมายไม่สมเหตุสมผล ขัดกับมาตราฐานสากล ไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง กฎหมายแบบนี้ จะทำให้คนที่ตั้งใจทำธุรกิจอย่างสุจริต ต้องมาผิดกฎหมายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ทำให้ข้าราชการที่ไม่ดีบางคน เอากฎหมายแบบนี้มาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน เพื่อเรียกรับผลประโยชน์
ตัวอย่างเช่นกรณีส่วยทางหลวง ก็ต้องมาทบทวนว่า การกำหนดให้รถพ่วง ไม่ว่าจะ 6 เพลา 20 ล้อ 6 เพลา 22 ล้อ หรือ 7 เพลา 24 ล้อ ที่แต่เดิมมีน้ำหนักจำกัดที่ 52 ตัน 53 ตัน และ 58 ตัน อยู่ดีๆ คสช. ก็เปลี่ยนมาให้มีน้ำหนักจำกัดเท่ากันที่ 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 57 นั้นสมเหตุสมผลตามหลักวิศวกรรม หรือไม่ หรือเป็นการปรับหลักเกณฑ์ เพื่อหมายให้คนที่ทำถูกกฎหมายอยู่ดีๆ กลายเป็นคนที่ผิดกฎหมายไปซะอย่างนั้น
โดยทั่วไปแล้ว การจำกัดน้ำหนักรถบรรทุก ต้องพิจารณาจากน้ำหนักเฉลี่ยต่อล้อ ไม่ใช่น้ำหนักรวม ถ้าน้ำหนักบรรทุกมาก แต่มีจำนวนล้อมากเพียงพอที่จะถ่ายน้ำหนักลงพื้นถนน ก็จะไม่เป็นปัญหา ซึ่งในเรื่องนี้หลักเกณฑ์การจำกัดน้ำหนักของรถบรรทุก สามารถปรึกษาวิศวกรรมสถาน แห่งประเทศไาย หรือสภาวิศวกร ให้ทบทวนตามหลักวิศวกรรม แล้วกำหนดเกณฑ์ใหม่ให้มีความสมเหตุสมผลได้เลย ถ้ากฎหมายมีความสมเหตุสมผล ไม่มีใครอยากจ่ายส่วยหรอกครับ
4) การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบราชการ และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ลง เช่น
– การทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ ลดงานธุรการ และขั้นตอนการขออนุญาตที่ซ้ำซ้อนลง
– การเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างโปร่งใส
– การใช้ AI จับพิรุธของการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ
อย่างกรณีส่วยทางหลวง ถ้าเราเปลี่ยนระบบการชั่งน้ำหนัก จากการต่อคิวเข้าด่านชั่ง ให้กลายเป็นระบบ “การชั่งน้ำหนักขณะรถวิ่ง (Weigh In Motion หรือ WIM)” ก็จะทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวชั่งน้ำหนัก คันไหนบรรทุกน้ำหนักเกิน ก็จะถูกออกใบสั่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยทันที แล้วให้ไปจ่ายค่าปรับผ่านระบบธนาคาร
สรุปก็คือ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น จะใช้แค่การปราบอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องแก้ที่โครงสร้างด้วย ถ้าปราบอย่างเดียว อีกสักพักก็จะกลับมาใหม่ ถ้าเราทำควบคู่กันไป ทั้งการปราบปราม การปรับปรุงกฎหมายให้สมเหตุสมผล การมีระบบคุณธรรมส่งเสริมคนดีให้เติบโตมีความก้าวหน้าในอาชีพ และการใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุน ในที่สุด ปัญหาการคอร์รัปชั่น ก็จะถูกจัดการให้หมดไปอย่างถาวร และยั่งยืน