ครม.เศรษฐกิจ สั่งรื้อค่าจ้างขั้นต่ำดึงลงทุน
ครม.เศรษฐกิจสั่ง สศช.ประสานแรงงานรื้ออัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ หวังดึงดูดการลงทุนในอนาคต ชี้ "ดูไบ เวิลด์" กระทบแรงงานไทยถูกเลิกจ้างเพียง 41 คน "แรงงาน" ระบุปี 2553 ต่างชาติต้องการแรงงานไทย 1.4 แสนคน
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิจ รับทราบรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานและผลกระทบต่อแรงงานไทยในรัฐดูไบ หลังการประกาศพักชำระหนี้ของบริษัทดูไบ เวิลด์ โดยพบว่ามีแรงงานไทยได้รับผลกระทบโดยตรง 41 คน เนื่องจากถูกเลิกจ้างในโครงการก่อสร้างสะพาน แต่วิกฤติครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เนื่องจากไม่มีแรงงานไทยทำงานในโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดูไบ เวิลด์
ขณะที่ปัจจุบันมีแรงงานไทยทำงานอยู่ในยูเออี 2.9 หมื่นคน แต่ในจำนวนนี้มีประมาณ 7-8 พันคน ทำงานในดูไบ ขณะที่ในปี 2553 กระทรวงแรงงานคาดว่าจะมีความต้องการแรงงานไทย 1.4 แสนคน เช่น ไต้หวัน ประมาณ 4.8 หมื่นคน
นอกจากนั้นกระทรวงแรงงานยังรายงานผลกระทบจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับ 65 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคาดว่าจะมีลูกจ้างทำงานก่อสร้างได้รับผลกระทบ 4 หมื่นคน และขณะนี้มีบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ยื่นคำร้องกรณีเลิกจ้าง 80 คน ส่วนสถานการณ์การจ้างงานในภาพรวมของประเทศดีขึ้น โดยอัตราว่างงานลดลงเหลือ 1.1% ในเดือนธันวาคม 2552 ส่วนตัวเลขผู้ขอรับสิทธิประโยชน์การว่างงานลดลงจาก 1.01 แสนคน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เหลือไม่เกิน 4 หมื่นคน ในเดือนพฤศจิกายน 2552
อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมนายกฯ ต้องการให้กระทรวงแรงงานเข้าไปดูแลประเด็นความขัดแย้งระหว่างพนักงานกับนายจ้างในหลายกรณี เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริหารบริษัทฟอร์ดมาพบและระบุว่า หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาเรื่องแรงงานประท้วงของลูกจ้างต่อนายจ้างไม่ได้ ก็อาจทำให้บริษัทต้องพิจารณาย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่น ขณะที่ ครม.เศรษฐกิจเห็นว่า กรณีนี้ควรใช้กระบวนการแรงงานสัมพันธ์ โดยต้องเจรจาเรื่องค่าจ้างและโบนัสของลูกจ้างให้ได้ข้อยุติต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประสานกระทรวงแรงงานพิจารณาความเหมาะสมระบบค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างแรงงานไทย เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนในอนาคต