สธ.เริ่มฉีดวัคซีนหวัด09ในกลุ่มเสี่ยง11ม.ค.นี้
กำหนดฉีดวัคซีนหวัด09ในกลุ่มเสี่ยงทั่วประเทศจำนวน 2 ล้านคน 11 ม.ค.-มี.ค53 ในรพ.สังกัดสธ.-นอกสังกัด
วันนี้(7 ม.ค.) ที่กรมควบคุมโรค นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และคณะแถลงข่าว "การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในกลุ่มเสี่ยง" ว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน 5 กลุ่มจำนวน 2 ล้านคนทั่วประเทศ เริ่มวันที่ 11 มกราคมถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งนับเป็นอีกมาตรการในการลดการ ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจกลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนครั้งนี้ ทั่วประเทศมีทั้งหมด 1,969,750 คน ประกอบด้วย 1.แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ด่านหน้าดูแลผู้ป่วย 2.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน 3.ผู้ที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม 4.ผู้พิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และ 5.ผู้ป่วยโรคเรื้อรังอายุ 6 เดือน-64 ปี ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจทุกประเภท โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างรับเคมีบำบัด โรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เบาหวานที่มีและไม่มีโรคแทรกซ้อน โดยผู้ใหญ่ฉีดครั้งเดียวคนละ 0.5 ซีซี. ที่ต้นแขน เด็กเล็กฉีดที่หน้าขา โดยเด็กอายุมากกว่า 6 เดือน-9 ปี ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน หลังฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ตกสำรวจ หรือหญิงที่เพิ่งรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ สามารถแจ้งชื่อเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลสาธารณสุขใกล้บ้าน ซึ่งจะเริ่มให้บริการฉีดวัคซีนในระหว่างวันที่ 11 มกราคม - มีนาคม 2553 ในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ทั้งต่างจังหวัดและกทม.รวม 819 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัด ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร กระทรวงกลาโหม ตำรวจ และโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ครั้งนี้ จะฉีดในโรงพยาบาลเท่านั้น เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดภายหลังการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพราะถึงแม้ว่าวัคซีนจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ้างแต่ไม่รุนแรง ได้แก่ อาการปวด บวม แดง ที่รอยฉีด หรือปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ปวดข้อ มีไข้ต่ำๆ พบได้ประมาณร้อยละ 1-10 ซึ่งอาการจะหายเองภายใน 1-3 วัน ส่วนภาวะแทรกซ้อนรุนแรงพบได้น้อยมาก ต่ำกว่า 1 ใน 100,000 ได้แก่ ไข้สูง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง สับสน เป็นต้น
ทั้งนี้ รายที่มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังฉีด จะมีอาการคันที่ผิวหนัง บวมที่ปาก หน้า ลำคอ หายใจลำบาก ชีพจรเบา ช็อค โดยกลุ่มเสี่ยงที่ห้ามฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้แก่ เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ผู้ที่แพ้ไข่ หรือสารเคมีอื่นที่อยู่ในวัคซีน รวมทั้งผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้รุนแรง สำหรับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะรับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ มีไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วย ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ หรือจนกว่าจะคุมอาการโรคประจำตัวได้คงที่