กลุ่มทวงแผ่นดินโวยเขมรโค่นไม้-ปลัดกาบเชิงปะคารมม็อบ
เครือข่ายทวงแผ่นดินฯ โวยจนท.คุกคามห้ามประชุม อ้างรถลึกลับ2คันประกบให้จอดแต่หนีทัน ปลัดอ.กาบเชิง โต้อย่าหลอกชาวบ้าน รับเขมรตัดไม้ ซ้ำวางบึ้ม
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 6 ม.ค. สมาชิกเครือข่ายทวงคืนแผ่นดินแม่( คดม.) จากหลายอำเภอ ได้แก่ อ.กาบเชิง, พนมดงรัก, สังขะ, ท่าตูม, จอมพระ, ปราสาท และ อ.เมือง สุรินทร์ อ.สตึก, ประโคนชัย, ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ และ อ.กัณทรลักษณ์ ศรีสะเกษ จัดประชุมเตรียมความพร้อมปกป้องรักษาแผ่นดินตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ผาเขามะนาว ต.ตะเคียน อ.กาบเชิง สุรินทร์
นายสิงห์สุวรรณพร สาครไพศล ที่ปรึกษาเครือข่ายฯ เป็นผู้ดำเนินการประชุม มีคณะกรรมการและสมาชิกเครือข่ายฯ ร่วมประชุมประมาณ 800 คน ระหว่างนั้น นายจันทร์ สืบเทพ กรรมการเครือข่ายฯสุรินทร์ ได้นำภาพต้นไม้ถูกโค่นมามอบให้ นายสำราญ สมบังได รองประธานเครือข่ายฯ สุรินทร์ เพื่อนำส่งให้คณะที่ปรึกษาเครือข่ายฯ ไว้เป็นหลักฐานการทำลายป่าแนวชายแดน ขณะเดียวกัน นายเปลือง ไทยยิ่ง ประธานเครือข่ายฯ ตำบลตะเคียน ขอเก็บเอาไว้ส่วนหนึ่ง
ต่อมา พนักงานตำรวจ สภ.แนงมุด กับ จนท.เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยสำราญ(ฝั่งซ้ายสุรินทร์) และทหารพราน มาสังเกตุการณ์ และบันทึกภาพนั้นไว้ แล้วถามเรื่องรูปดังกล่าว นายจันทร์ ตอบว่า ถ่ายมากจาป่าเขตชายแดนเขต ต.แนงมุด ห่างจากโรงพักแนงมุด ประมาณ 4-5 กม. ซึ่งบริเวณนี้เรียกว่าป่าเขามะนาว
จากนั้น ตำรวจในกลุ่มได้โทรศัพท์ไปรายงาน จากนั้นประมาณ 10 นาที นายกฤษนุ เหลืองพิบูลย์กิจ ปลัดอำเภอกาบเชิง กับกำนันตำบลตะเคียน พร้อมคณะกว่า 10 คนได้มาถึงและเข้าสอบถาม นายจีน ทิพวัน ประธานเครือข่ายฯจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนายจีนยืนยันว่ามีการตัดต้นไม้ในป่าแนวชายแดนจริง และท้าให้เข้าไปพิสูจน์
อย่างไรก็ตาม ทางคณะของปลัดอำเภอกาบเชิง ได้พยายามสอบถามวัตถุประสงค์การจัดประชุมครั้งนี้ และพยายามขอให้ยุติการประชุม เพราะทำให้ชาวบ้านเสียเงิน เสียเวลา อีกทั้งกล่าวหาว่ามีวัตถุประสงค์แฝงหลอกชาวบ้าน แต่ นายสิงห์สุวรรณพร ปฏิเสธว่าไม่ได้หลอกใคร แต่เป็นเรื่องของความรักชาติ ไม่ต้องการสูญเสียดินแดน อย่างไรก็ตาม ปลัดอำเภอกาบเชิง ยังพยายามพูดให้สมาชิกในที่ประชุมสลายตัว
ขณะกำลังเจรจาอยู่นั้นเกิดเสียงปืนดังขึ้นจากบริเวณข้างลานประชุม 3 นัด จากนั้นอีกประมาณ 5 นาทีเกิดเสียงปืนกลรัวดังต่อเนื่องกันอีก 2 ชุด และตามด้วยเสียงระเบิดอีก 2 ครั้ง ท่ามกลางความตื่นตระหนกของชาวบ้านที่มาประชุม และคนจำนวนหนึ่งได้บอกให้เจ้าหน้าที่ราชการไปตามจับคนก่อเหตุ แต่แต่ได้รับคำตอบว่า "คงจับไม่ได้เพราะอยู่ในป่า"
การโต้เถียงดำเนินต่อไประยะหนึ่ง ต่อมา เวลา 15.00 น. การประชุมได้ยุติลง นายจันทร์สี นิวาส ประธานเครือจ่ายศรีศะเกษ จาก อ.กัณทรลักษ์ เดินทางไปธุระพร้อมกับไปส่ง นายสำราญ สมบังได ที่หมู่บ้านสีโค อ.ปราสาท สุรินทร์ จนกระทั่ง ประมาณ 02.00 น. จึงเดินทางกลับ โดยผ่านสี่แยกอำเภอปราสาท ไปตามถนนโชคชัย - เดชอุดม เมื่อถึงหน้าโรงพยาบาลอำเภอปราสาท มีรถยนต์ 2 คันเป็นรถเก๋ง ฮอนด้า สีบรอนซ์ กับ รถยนต์กระบะ โตโยต้า รุ่นวีโก้ 4 ประตู สีดำ วิ่งประกบรถยนต์กระบะของนายจันทร์สี
นายจันทร์สี ระบุว่าโดยไม่คาดคิด กระบะ วีโก้ พยายามขับปาดหน้าบีบให้นายจันทร์สี จอดรถ แต่นายจันทร์สีไม่ยอมจอด รถยนต์ทั้ง 2 คันยังพยายามวิ่งประกบ จนเลยสี่แยกอำเภอสังขะ รถกระบะ วีโก้ 4 ประตูพยายามขับเบียดให้จอดอีก แต่นายจันทร์สีก็เร่งเครื่องและหลบหลีกเอาตัวรอดได้ กระทั่งเวลา 21.40 น. จังหวะนั้นมีรถบรรทุกน้ำมัน และรถบรรทุกสิบล้อวิ่งมา นายจันทร์สีจึงขับแทรกหลบรถยนต์ทั้งสองเร่งเครื่องทิ้งระยะห่างไปได้
นายจันทร์สี กล่าวด้วยว่าระหว่างนั้นได้โทรศัพท์ไปแจ้งสมาชิกเครือข่ายณ ที่อ.ภูสิงห์ และ อ.ขุขันธ์ ศีรสะเกษขอความช่วยเหลือ โดยขับรถยนต์กระบะ 4 คันและจะขับตามรถยนต์ 2คันดังกล่าว แต่ได้เร่งเครื่องหนีไป
ด้านนายสิงห์สุวรรณพร กล่าวว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้แจ้งความ ต้องรอปรึกษากันก่อนเพราะเหตุเกิดที่อ.ปราสาทมาจนถึงอ.สังขะ และช่วงนั้นเป็นเวลากลางคืน
"บริเวณป่าเขามะนาว ถูกกลุ่มเขมรเข้ามาตัดไม้ขยุง ที่เราถ่ายได้เพียงจุดเดียวเพิ่งตัดใหม่ๆ แต่รู้มีการตัดไม้มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องมันคือว่าทีพวกเขมรเข้ามาตัดไม้จำนวนมากได้ แต่คนไทยเข้าไปหาของป่ากลับถูกห้าม" นายสิงห์สุวรรณพร กล่าว
ปลัดอำเภอกาบเชิง รับจับเขมรตัดไม้ แต่กำลังน้อย
นายกฤษนุ เหลืองพิบูลย์กิจ ปลัดอำเภอกาบเชิง เปิดเผยกับ"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ว่า ได้เป็นหัวหน้าชุดไปที่ชุมนุมเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว พร้อมกับปลัดฝ่ายป้องกัน และมีกำนันตำบลตะเคียนอยู่ด้วย เพื่อชี้แจงให้เข้าใจว่า การปกป้องดินแดนด้วยการรวมตัวจับจ้องที่ดินตามแนวชายแดน ที่เป็นเขตป่าสงวน ป่าเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าฯ หรือเขตอุทยาน เป็นการผิดกฎหมาย ต้องถูกดำเนินคดี การจะอ้างว่ารวมตัวกันปกป้องดินแดน ไม่ให้เสียไปเหมือนเขาพระวิหารเป็นคนละเรื่องกัน
"ผมก็พูดว่า พวกแกนนำเป็นคนมีความรู้ แค่ปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวก็ผิดกฎหมายแล้ว มาหลอกชาวบ้านได้อย่างไร ถ้าชาวบ้านโดนจับจะเอาเงินที่ไหนสู้คดี การที่แกนนำอ้างว่ายากจนไร้ที่ดินทำกิน บางคนมาลงชื่อขับรถกระบะ 4ประตูก็มี หรือพนักงาน อบต.ก็ไปลงชื่อ มีเงินเดือนประจำ จะเข้าจ่ายคนจนได้อย่างไร"
อย่างไรก็ตาม ปลัดอำเภอกาบเชิง ยอมรับที่ผ่านมามีการตัดไม้ขยุงตามชายแดนอยู่เนืองๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จับกุมได้ ดังที่ปรากฎเป็นข่าว ส่วนจุดที่เครือข่ายนี้ระบุมีการตัดไม้ อยู่ห่างจากกัมพูชาไม่เกิน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหน้าผาเขามะนาว ทอดลงไปเป็นป่า ซึ่งยอมรับว่าทหารกัมพูชาส่วนหนึ่งรับจ้างนายทุนคุมกันคนเขมรลักลอบเข้ามาตัดไม้ตามแนวชายแดน แนวชายแดนไทย-กัมพูชาด้านจังหวัดสุรินทร์ระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร นำส่งไปทางเวียดนาม
"ที่ผ่านมา เราก็ออกลาดตระเวณบ่อย ๆ และก็จับได้ และทหารพรานเคยยิงเขมรบาดเจ็บไปคนหนึ่ง แต่พวกนั้นก็วางกับระเบิดดักไว้ จะสกัดก็ลำบาก จับไม่ทัน เพราะมีกำลังคนน้อย เรื่องนี้ต้องไปแก้ไขที่การปักปันเขตแดนให้ชัดเจน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ไทยกีดกั้นคนไทยเข้าไปหาของป่า นายกฤษนุ กล่าวว่า คนไทยเข้าไปเก็บของป่า ไปยิงสัตว์ป่า เคยถูกทหารกัมพูชาจับไป เขาต้องไปเจรจาขอตัวคืน
"การที่บอกว่าประชาชนสามารถรักษาดินแดนได้ด้วยการเข้าไปอยู่ในป่า ถ้าอยู่ได้ก็อยู่ไป แต่ถ้าเป็นป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ อุทยาน ก็เท่ากับหลอกลวง เรื่องนี้อาจมีพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง เรื่องนี้มีแกนนำเครือข่ายซึ่งมีหมายจับหลายคดีอยู่ด้วย คราวที่ชุมนุมวัดเขาโต๊ะ นายอำเภอกาบเชิงเคยโทรศัพท์ถึงนายประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาประชาชน 4 ภาคแล้ว เขาว่าไม่เกี่ยวกับการชุมนุมพวกนี้"
เมื่อสอบถามว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะไปสกัดการชุมนุมที่โอร์ทลันหรือไม่ ปลัดอำเภอกาบเชิง กล่าวว่า ผมพูดกับชาวบ้านในที่ชุมนุมวันนั้นว่า พวกท่านรู้จักคนเหล่านี้ไหม เขามาจากไหนบ้าง แล้วเชื่อได้อย่างไร ควรเชื่อผม ถ้าได้ที่ดินจริงผมก็ดีใจด้วยอยู่แล้ว แต่ความจริงมันผิดกฎหมาย การจับจองทำไม่ได้
"วันที่ 9 มกราคมนี้ เครือข่ายนี้นัดกันไปที่โอร์ทลัน จะไปจับจองที่ดิน ซึ่งเรื่องนี้ผมรายงานไปพร้อมรูปถึงกองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 แล้ว ถ้าไปโอรทะลัน คงต้องเจอกับทหารแน่" ปลัดอำเภอกาบเชิง ระบุ