เผยศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก90%ต่ำกว่ามาตรฐาน
พม.เผยหวั่นกระทบพัฒนาทางสมอง เร่งกำหนดมาตรฐานศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยเป็นของขวัญวันเด็ก
วันนี้ ( 8 ม.ค.) นายกิตติ สมานไทย ผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) กล่าวว่า จากการสำรวจศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยทั่วประเทศพบว่า มีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ต่ำกว่ามาตรฐาน โดยศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 3-5 ปี ทั้งของภาครัฐและเอกชนมีประมาณ 20,000 แห่งทั่วประเทศ อยู่ภายใต้การดูแลของส่วนท้องถิ่นและองค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ถึง 18,000 แห่ง ที่จดทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงแรงงานอีกอย่างละ 1,000 แห่ง โดยทั้งหมดนี้มีเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่เข้าข่ายมีมาตรฐาน ขณะที่เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน
นายกิตติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ปกครองมักไม่ค่อยมีเวลาเลี้ยงดูบุตรหลานของตนจึงนิยมส่งเข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัย และเพื่อช่วยเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษาในระดับประถมศึกษา โดยเด็กที่อยู่ในศูนย์รับเลี้ยงเด็กส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 3-5 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่เด็กจะมีพัฒนาการทางสมองดีที่สุด มีการพัฒนาการเรียนรู้และจินตนาการ หากไม่มีการกระตุ้นหรือเตรียมพื้นฐานที่ดีจะส่งผลกระทบให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองช้าลง สอดคล้องกับผลการศึกษาของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยที่พบว่าปัจจุบันเด็กไทยมีพัฒนาการทางสมองล่าช้า กล่าวคือ เด็กวัยเรียนร้อยละ 15-28 มีไอคิว (I.Q) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 88-91 ขณะที่เกณฑ์ปกติคือ 90-100
"ขณะนี้ทางพม.ได้เร่งกำหนดมาตรฐานของศูนย์รับเลี้ยงเด็กปฐมวัย เพื่อให้ทุกแห่งถือปฏิบัติ เช่น ด้านบุคลากร ผู้ดูแลเด็กต้องผ่านการอบรมด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยก่อนอย่างน้อย 2 ปี ด้านสถานที่ตั้งต้องเหมาะสม อุปกรณ์การเรียนการสอน อาหาร และของเล่นต้องมีมาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเล็กได้รับบริการและสิ่งแวดล้อมที่ดีซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กที่พึงได้รับ และเป็นของขวัญให้กับเด็กๆ ในวันเด็กปีนี้ด้วย" นายกิตติ กล่าว