เปิดไทม์ไลน์หุ้นสื่อ ITV ขวางพิธาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เปิดไทม์ไลน์หุ้นสื่อ ITV ขวางพิธาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เปิดไทม์ไลน์หุ้นสื่อ ITV ขวางพิธาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประเด็นร้อนของการเมืองไทยตอนนี้ คงหนีไม่พ้นประเด็นการถือหุ้นสื่อ ITV ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บทบาททางการเมืองของพิธาต้องสิ้นสุดลง ด้วยหลักฐานที่หลายฝ่ายได้เข้ายื่นเป็นหลักฐานข้อมูลต่อ กกต. แม้พิธาจะออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่าไม่หนักใจ แต่ประชาชนที่ลงคะแนนเลือกก้าวไกลก็แอบหนักใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับกันมาหลายวัน กระทั่งรายการ "ข่าว 3 มิติ" ได้งัดหลักฐานเด็ดชิ้นสำคัญออกมาแสดง กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมอีกครั้ง 

Sanook เปิดไทม์ไลน์กรณีการถือหุ้นสื่อของพิธา และการทำงานของเหล่า "นักร้อง" ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงวันนี้ 

ไทม์ไลน์กรณีหุ้นสื่อ ITV

  • 24  เม.ย.
    นิกม์ แสงศิรินาวิน อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ปี 2562 และอดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ปี 2566 โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก พร้อมแนบเอกสารเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) โดยข้อความระบุว่า

    "นักการเมืองที่กำลังถือหุ้น ITV เตรียมตัวประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี และมอบตัว กกต. ด้วยนะครับ

    หัวหน้าพรรคหนึ่งถือ 42,000 หุ้น
  • 26 เม.ย.
    บริษัทไอทีวีจัดประชุมสามัญประจำปี 2566 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในบันทึกการประชุมดังกล่าวที่ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา ระบุว่าภาณุวัฒน์ ขวัญยืน ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า 

    "ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ"
  • 9 พ.ค.
    เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ​ เข้ายื่นหนังสือต่อประธาน ปปช. ขอให้ตรวจสอบพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะ ส.ส. ว่าได้แจ้งเงินลงทุนในบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ต่อ ปปช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. หรือไม่
  • 10 พ.ค.
    เรืองไกรเดินทางไปยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ให้ตรวจสอบกรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ตามรัฐธรมนูญหรือไม่ 
  • 11 พ.ค.
    เรืองไกรยื่นเพิ่มเติมต่อ กกต. ว่ากรณีของพิธา เข้าข่ายต้องพ้นจากสมาชิกพรรคก้าวไกล และหัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ขณะที่ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าเตรียมจะยื่นหลักฐานเพื่อตรวจสอบพิธา ในกรณีการถือหุ้นสื่อเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าตัวเองมีหลักฐานที่แตกต่างจากเรืองไกร 
  • 12 พ.ค.
    สนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบพิธา กรณีถือหุ้นสื่อไอทีวี ที่อาจเข้าข่ายขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 
  • 16 พ.ค.
    เรืองไกรยื่น กกต. ขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า พิธาอาจมีความผิดเนื่องจากถือครองหุ้นสื่อ 
  • 19 พ.ค.
    สนธิญา ยื่นเรื่องเร่ง กกต. ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของพิธา กรณีการถือหุ้นสื่อ 
  • 24 พ.ค.
    เรืองไกร ยื่นเรื่องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมว่าการเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวี ขณะลงรับสมัคร ส.ส. และยินยอมให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามหรือไม่ เช่นเดียวกับยื่น กกต. ให้ตรวจสอบ 8 พรรคการเมืองที่ร่วมกันลงนาม MOU เพื่อจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ว่าอาจเข้าข่ายผิดมาตรา 28 พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่ 
  • 29 พ.ค.
    เรืองไกร เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีร้องเรียนให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของพิธา พร้อมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุว่า กกต. จำเป็นต้องเร่งรัดตรวจสอบ เช่นเดียวกับสนธิญา ที่เดินทางไปยื่นขอให้ กกต. ระบุระยะเวลาในการตรวจสอบพิธา 
  • 1 มิ.ย.
    ศรีสุวรรณ เข้ายื่นหลักฐานต่อ กกต. กรณีพิธาถือครองหุ้นบริษัทไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น  
  • 6 มิ.ย. 
    เรืองไกร เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ กกต. กรณีการถือหุ้นไอทีวีของพิธา ซึ่งในระหว่างที่เรืองไกรให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอยู่นั้น ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ "ทนายอั๋น" ที่เข้ามายื่นหนังสือต่อ กกต. คัดค้านคำร้องของเรืองไกร ได้ยืนฟังอยู่ด้วย ทำให้เรืองไกรรีบจบการสัมภาษณ์ โดยไม่เปิดให้สื่อมวชนซักถาม 
  • 7 มิ.ย. 
    สนธิญา เดินทางไปยื่นตรวจสอบเพิ่มต่อ กกต. กรณีพิธาถือหุ้นสื่อ พร้อมเสนอยุบพรรคก้าวไกล 
  • 8 มิ.ย.
    กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมแนวร่วม เข้ายื่นหนังสือให้ กกต. เร่งประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง และไม่รับคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของพิธา กรณีถือหุ้นสื่อ 
  • 9 มิ.ย. 
    กกต. มีมติเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีพิธา มีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ในการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.​ จากการถือหุ้นไอทีวี โดยเห็นว่าคำร้องที่ได้ยื่นมาของทั้ง 3 คน เป็นคำร้องที่ยื่นเกินระยะเวลาที่จะสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา อย่างไรก็ตาม คำร้องดังกล่าวมีรายละเอียด หลักฐาน และข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนว่า พิธาเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิรับสมัครเลือกตั้ง แต่ได้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งอาจเข้าข่ายกระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 151 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง 
  • 11 มิ.ย.
    รายการข่าว 3 มิติ เผยแพร่คลิปบันทุกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 ของ บมจ. ไอทีวี วันที่ 26 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์ แต่เนื้อหาสำคัญของคลิปดังกล่าวกับบันทึกการประชุมที่เป็นลายลักษณ์อักษร กลับมีเนื้อหาแตกต่างกัน ซึ่งหลักฐานล่าสุดที่ถูกเปิดเผยกลายเป็นเชื้อไฟให้ประเด็นถกเถียงเรื่องพิธาถือหุ้นสื่อยิ่งร้อนแรงในสังคม

    ในคลิปวิดีโอดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าภาณุวัฒน์ ผู้ถือหุ้น ได้ทำการสอบถามว่าบริษัทไอทีวียังดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ ซึ่งผู้บริหารไอทีวี ตอบว่า 

    "ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ"

  • 12 มิ.ย.
    นิกม์ ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ยืนยันว่าเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี สิ่งที่ตัวเองได้ยิน ไม่ตรงกับคลิปที่ถูกเปิดเผยในรายการข่าว 3 มิติ โดยยืนยันว่าสิ่งที่บันทึกในรายงานถูกต้อง และเชื่อว่าไอทีวีมีหลักฐานฉบับเต็มเก็บไว้

    ด้านบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ากำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook