รพ.ศรีนครินทร์ฯเผยผู้ป่วยตาบอดเกิดจากเชื้อไวรัส

รพ.ศรีนครินทร์ฯเผยผู้ป่วยตาบอดเกิดจากเชื้อไวรัส

รพ.ศรีนครินทร์ฯเผยผู้ป่วยตาบอดเกิดจากเชื้อไวรัส
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์รพ.ศรีนครินทร์แถลงข่าว กรณีหญิงวัย 48 ปีที่อำนาจเจริญตาบอด ระบุเกิดจากการลุกลามของเชื้อไวรัส

เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 9 ม.ค.ทีมแพทย์จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบด้วย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ , รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ ศ.นพ.ยศอนันต์ ยศไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีหญิงชาวอำนาจเจริญคือ นางนงคราญ สวาสุด อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 121 ม.3 ต.โนนหนามแท่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ร้องเรียนว่า มาผ่าตัดตาต้อกระจกที่ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อปลายปี 2552 และดวงตาทั้ง 2 ข้างได้บอดสนิทมองไม่เห็น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เปิดเผยว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับนางนงคราญนั้น ทางโรงพยาบาลได้ไปสืบค้นและตรวจเช็คข้อมูลแล้วพบว่า นางนงคราญมีอาการตาซ้ายมัวมองไม่เห็น แพทย์ที่โรงพยาบาลอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ ได้วินิจฉัยว่าเป็นม่านตาอักเสบด้านซ้าย จึงได้ส่งตัวมาที่รพ.ศรีนครินทร์ โดยเข้าตรวจตาครั้งแรกในวันที่ 9 ก.ค.52 เบื้องต้นแพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่าเป็นจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส ชื่อ Cytomegalo virus ทำให้ม่านตาอักเสบมีแรงดันในตามากและทำให้เกิดภาวะต้อหินแทรกซ้อนขึ้นมา และแพทย์ได้รับผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยขอไปรักษาต่อที่กรุงเทพฯ และแพทย์ได้อนุญาตให้ไป

จากนั้นผู้ป่วยได้กลับเข้ามารักษาอีกครั้งในวันที่ 14 ส.ค. โดยพบว่าอาการยังคงที่ คือตาซ้ายมัว จากนั้นวันที่ 1 ก.ย.มีอาการมองเห็นแย่ลง ตาซ้ายเห็นแค่แสงไฟ แพทย์ได้วินิจฉัยเหมือนเดิม และได้ให้ยารักษาม่านตาอักเสบ และยารักษาต้อหินต่อ และรับเอาไว้ผ่าตัดที่รพ. จากนั้นได้ผ่าตัดวุ้นตาร่วมกับฉีดยาต้านไวรัส Cytomegalo virus เข้าในช่องวุ้นตาซ้าย ในวันที่ 2 ก.ย.หลังผ่าตัดได้ 2 สัปดาห์พบว่า ตาซ้ายเห็นดีขึ้น เห็นมือโบกไปมา แพทย์ได้ฉีดยาต้านไวรัสเข้าในช่องวุ้นตาซ้ายต่อเนื่องและให้กินยาต้านไวรัสด้วย โดยให้ยากลับไปกินที่บ้าน

"1 เดือนต่อมา ตาซ้ายเห็นแค่แสงไฟ ตาขวาเริ่มมัวลง ตรวจพบว่าตาขวาเริ่มมีจอตาอักเสบติดเชื้อไวรัสชนิดเดียวกัน จึงฉีดยาต้านไวรัส เข้าในช่องวุ้นตาขวาด้วย ผู้ป่วยมาตรวจรักษาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ด้วยอาการตาขวามัวลง ตาซ้ายไม่เห็นแสงไฟ ตรวจพบว่ามีม่านตาอักเสบ จอตาอักเสบติดเชื้อไวรัส และต้อหินแทรกซ้อนทั้ง 2 ตา และมีขั้วประสาทตาขวาฝ่อ ให้การรักษาด้วยยาต่อ หลังจากนั้นผู้ป่วยไม่ได้มาตรวจที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์อีกเลย ทั้งที่แพทย์นัดให้มาตรวจอีกครั้งในเดือน พ.ย. จนกระทั่งมาทราบข่าวว่าตาบอดสนิททั้งสองข้างและออกมาเป็นข่าว" รศ.นพ. ชาญชัย กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ยศอนันต์ ยศไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยา เปิดเผยว่า สำหรับการผ่าตัดที่ได้ผ่าตัดให้กับ นางนงคราญนั้น ได้ทำการผ่าตัด 30 นาที หลังผ่าตัดยังปกติคนไข้มีอาการดีขึ้นตามลำดับ แต่พอเชื้อลุกลามไป วันที่ 27 ต.ค.ตาขวาก็มัวลงคราวนี้มัวลงมาก นับนิ้วเห็นแค่ระยะใกล้เท่านั้น แต่ตาซ้ายไม่เห็นเลย และมีม่านตาอักเสบด้วย และต้อหินแทรกซ้อนทั้ง 2 ตา ประสาทตาฝ่อ พอขั้วตาฝ่อ สายตามองไม่เห็น แม้จะผ่าตัดอีกก็ไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว เลยไม่มีแผนผ่าตัดอีก นัดคนไข้กลับมาอีกทีเดือน พ.ย.แต่ก็ไม่มาและมาทราบอีกครั้งตอนเป็นข่าว

"สำหรับเชื้อไวรัส Cytomegalo virus ตัวนี้จะพบเห็นได้อยู่ทั่วไป แต่ถ้าหากร่างกายอ่อนแอ หรือ มีภูมิต้านทานบกพร่องก็จะยิ่งสามารถแพร่เชื้อได้เร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น และหากเชื้อเข้าไปในตาการรักษาจะต้องให้ยาเข้าไปในกระแสเลือดทั้งยากินและยาฉีดเข้าช่องวุ้นตาเป็นยาต้านไวรัส แต่เชื้อไวรัสตัวนี้หากติดเชื้อแล้วไม่จำเป็นจะต้องตาบอดทุกราย แต่ขึ้นอยู่กับบางรายที่มีปัญหาเรื่องภูมิต้านทานโรคและภูมิคุ้มกันบกพร่อง"ศ.นพ.ยศอนันต์ กล่าว

ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลยินดีที่จะเชิญผู้ป่วยกลับมารับการตรวจและรักษาอีกครั้งหลังจากที่คนไข้ได้หายไปไม่มาให้แพทย์ตรวจตามนัด ส่วนกรณีที่หากผู้ป่วยเรียกร้องค่าเสียหายนั้น การดูแลทางโรงพยาบาลได้ดูแลดีที่สุดอยู่แล้ว และการรักษารักษาตามมาตรฐานสากลทุกอย่าง ที่เกิดตาบอดเกิดจากโรคเอง ไมได้เกิดจากการรักษาแต่อย่างใด และหากจะดูการรักษาตามพ.ร.บ.สุขภาพแล้วพบว่ากรณีนี้ไม่ได้เข้าข่ายที่จะให้การช่วยเหลือตามมาตรา 41

สำหรับการรักษาผู้ป่วยด้านจักษุทั่วไปนั้น ขณะนี้ แพทย์ด้านจักษุวิทยา 1 คน จะสามารถผ่าตัดผู้ป่วยตาได้วันละ 10-12 คน โดยการผ่าตัดจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นให้นอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน และรุ่งเช้าเปิดตา และหากพบว่าไม่มีอาการอะไรผิดปกติก็จะให้กลับบ้าน พร้อมยารับประทานและยาล้างตาก่อนจะให้กลับมาตรวจอาการอีกครั้งในสัปดาห์ถัดไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook