พบใบเสมาหินทรายอายุกว่าพันปีที่กาฬสินธุ์
พบใบเสมาหินทรายอายุกว่าพันปีที่กาฬสินธุ์ วัฒนธรรมจังหวัดสั่งชาวบ้านเฝ้า 24 ชั่วโมง รอผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์อักษรที่จารึกบนใบเสมา คาดเป็นอักษรหลังยุคปัลลวะโบราณ
เมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา นายไพโรจน์ เพชรสังหาร วัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมทีมงาน ได้เข้าตรวจสอบใบเสมาโบราณ ทำจากหินทราย 2 หลัก ขนาดกว้าง 80 ซม. ยาว 130 ซม. หนา 20 ซม. ที่ชาวบ้านสว่าง ต.กมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ พบอยู่ใต้ต้นไทร ในสำนักสงฆ์ไม่มีชื่อ จากการตรวจสอบพบที่ใบเสมามีการจารึกอักษรโบราณ ความยาว 4 บรรทัด
นายไพโรจน์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าใบเสมาน่าจะมีอายุราว 1,000-1,200 ปี ถูกสร้างขึ้นในสมัยทวารวดี รูปร่างใบเสมาที่พบมีรูปร่างคล้ายๆ กับที่พบในเขตบริเวณเมืองฟ้าแดดสงยาง ที่เป็นเมืองเก่าแก่โบราณและมีความรุ่งเรืองมากในยุคทวารวดี แต่สิ่งที่มหัศจรรย์คือ ตัวอักษรที่จารึกเป็นอักษรอยู่ในช่วงยุคหลังของอักษรปัลลวะโบราณ การค้นพบครั้งนี้ชาวบ้านพบและแจ้งมาทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ปีที่ผ่านมา
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ทางวัฒนธรรมได้ขอความร่วมมือจากชาวบ้านให้จัดเวรยามเฝ้าดูใบเสมาไว้ เพื่อรอผลพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญ เพราะอักษรที่พบมีความคล้ายคลึงกับปัลลวะ หรือ อักษรคฤณห์ เป็นอักษรสระประกอบที่มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ มีอายุอยู่ในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-17 แต่อักษรที่พบน่าจะเป็นอักษรในยุคหลังอักษรปัลลวะ ซึ่งเป็นอักษรที่ถูกพัฒนาเป็นอักษรทมิฬและอักษรมาลายาลัมในปัจจุบัน อักษรดังกล่าวเคยใช้เขียนภาษาทมิฬและภาษามาลายาลัม โดยเข้าไปแทนที่อักษรแบบเดิม ซึ่งมีต้นกำเนิดจากอักษรพราหมีและยังใช้เขียนภาษากลุ่มดราวิเดียนอื่น ๆ โดยอักษรที่พบบนเสมาหินทรายคาดว่าน่าจะเป็น อักษรต้นแบบของอักษรมอญโบราณ อักษรขอมโบราณ และอักษรกวิ ซึ่งเป็นอักษรต้นแบบของอักษรเกือบทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" นายไพโรจน์ กล่าว
"สิ่งที่ต้องรู้ให้ได้คือ ข้อความที่จารึกไว้บนใบเสมา ที่อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะรู้ถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 2,000 ปี ที่ตอนนี้ได้คัดลอกตัวอักษรบนใบเสมาและจะนำส่งให้ผู้เชี่ยวชาญในกระทรวงวัฒนธรรมได้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง" นายไพโรจน์ กล่าว