กกร.ถกด่วน ญี่ปุ่น ลดอันดับลงทุนไทย! ยื่นหนังสือนายกฯ เร่งแจงมาบตาพุด-ธปท.หวั่นบานปลาย

กกร.ถกด่วน ญี่ปุ่น ลดอันดับลงทุนไทย! ยื่นหนังสือนายกฯ เร่งแจงมาบตาพุด-ธปท.หวั่นบานปลาย

กกร.ถกด่วน ญี่ปุ่น ลดอันดับลงทุนไทย! ยื่นหนังสือนายกฯ เร่งแจงมาบตาพุด-ธปท.หวั่นบานปลาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สอท.หารือร่วม กกร.วันนี้ หลัง"เจโทร"ลดความสำคัญไทยไม่ใช่ประเทศที่น่าลงทุน กรณีปัญหามาบตาพุด เตรียมทำหนังสือถึงนายกฯ แจงนักลงทุนญี่ปุ่น "สันติ" ย้ำรัฐบาลไม่ควรนิ่งเฉย ด้าน ธปท.จี้รัฐเร่งแก้ปัญหาภายใน 9 เดือน หวั่นความเชื่อมั่นดิ่งลงอีก

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ส.อ.ท. และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 11 มกราคมนี้จะหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าของการแก้ปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด โดยจะเสนอให้ที่ประชุมหารือประเด็นที่ นายมูเนะโนริ ยามาดะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) ให้ความเห็นว่าไทยอาจไม่ใช่ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนเหมือนช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มองว่าความเห็นของเจโทรเป็นเรื่องสำคัญ เพราะนักธุรกิจญี่ปุ่น เป็นกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 และมีมูลค่าลงทุนสูงสุด โดยเจโทรทำหน้าที่ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในต่างประเทศ ความเห็นดังกล่าวจึงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนในกลุ่มที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในไทย จึงเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรจะนิ่งนอนใจ ควรออกมาชี้แจงการแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดให้นักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าใจ

"กกร.จะหารือว่าควรมีข้อคิดเห็นเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับความเห็นของเจโทรอย่างไร โดยจะเสนอที่ประชุมให้มีการทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลชี้แจงการแก้ปัญหาให้นักธุรกิจญี่ปุ่นรับทราบ" นายสันติกล่าว

ด้านนายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่เจโทรออกมาแสดงความเห็นครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องรับฟัง และเหตุการระงับการลงทุนในโครงการมาบตาพุดในครั้งนี้ สร้างความไม่เชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในโครงการมาบตาพุด และการลงทุนอื่นๆ ที่จ่อลงทุนในไทยด้วย หากรัฐบาลหาข้อสรุปได้ชัดเจนโดยเร็ว หรือภายใน 8-9 เดือนตามที่เคยระบุไว้ จะเป็นเรื่องที่ดีต่อการลงทุนของไทย แต่หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จะทำให้ภาพลักษณ์ของไทยในสายตาของนักลงทุนต่างชาติแย่ลงไปอีกซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ยาก

นอกจากนี้รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ และต้องเข้าไปดูแลกิจการที่ถูกสั่งระงับลงทุน และที่เกี่ยวข้อง เพราะส่วนใหญ่มีการติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินไปแล้ว ซึ่งการขอวงเงินกู้นั้น จะมีค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับไว้

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม กกร.จะหารือเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน เพราะประเทศคู่แข่งของไทย มีแนวโน้มที่จะปรับลดค่าเงินลงอีก โดยเฉพาะเวียดนามได้ปรับลดค่าเงินด่องลง 0.5% ส่วนสิงคโปร์ก็มีแนวโน้มที่จะปรับลดค่าเงินลงเช่นกัน ถ้าหลายประเทศมีแนวโน้มลดค่าเงิน จะทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องหาทางปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook