มข. จับมือ ลิลลี่ ฟาร์มา ปฏิวัติอุตสาหกรรม อวดโฉม เครื่อง Nanoemulsion Homogenizer

มข. จับมือ ลิลลี่ ฟาร์มา ปฏิวัติอุตสาหกรรม อวดโฉม เครื่อง Nanoemulsion Homogenizer

มข. จับมือ ลิลลี่ ฟาร์มา ปฏิวัติอุตสาหกรรม อวดโฉม เครื่อง Nanoemulsion Homogenizer
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือลิลลี่ ฟาร์มา ประกาศความสำเร็จอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว Lily Nanoemulsion Homogenizer machine เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ปฏิวัติรูปแบบวงการอุตสาหกรรม ยกระดับคุณภาพอาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยการใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น ที่สามารถนำสารออกฤทธิ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงนโยบายของมหาวิทยาลัย ขอนแก่น ในการสร้าง startup โดยร่วมทุนกับภาคเอกชน ซึ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม โดยเริ่มจากมุมมองความต้องการของตลาดในผลิตภัณฑ์นั้นๆ และย้อนกลับมาดูกระบวนการผลิตว่าสามารถแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีได้หรือไม่ หากเป็นไปได้ก็จะกลับมาค้นหากระบวนการวิจัยที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราเรียกแนวคิดนี้ว่า เป็นการวิจัยสู่ตลาด โดยให้ภาคเอกชนเป็นผู้ทำการวิจัย การผลิต และนำออกสู่ตลาด ส่วนบทบาทของมหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนอุปกรณ์ทางการวิจัยและการทดสอบผลิตภัณฑ์ รวมถึงจัดทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละฝ่าย เพื่อ ให้คำปรึกษาแก่ภาคเอกชน ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีใหม่ในการทำ startup ของมหาวิทยาลัย โดยดำเนินการร่วมมือกับทางบริษัท มิส ลิลลี่  และได้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนในปี 2565 ซึ่งบริษัทร่วมทุนได้เน้นเทคโนโลยีทางด้านนาโนอิมัลชั่น ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น N-Dro care mouth spray

นอกจากนี้บริษัทร่วมทุนได้นำความรู้มาต่อยอดสู่การผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นจนประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยเพื่อนำความรู้จากงานวิจัยออกสู่ตลาด

ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึง ทิศทางของเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น และงานวิจัยในหลายสาขาได้ให้ความสำคัญกับการนำส่งสารในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น ซึ่งเป็นการนำสารออกฤทธิ์ให้อยู่ในส่วนของน้ำหรือน้ำมันที่มีขนาดอนุภาคนาโน โดยถูกผสานเข้าด้วยสารอิมัลซิไฟเออร์ ซึ่งเป็นการนำส่งสารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดดูดซึมได้อย่างรวดเร็ว และใช้สารในปริมาณน้อยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์ และสัตว์ ซึ่งปัจจุบันในหลายอุตสาหกรรมได้พยายามที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นออกสู่ท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมเกษตร เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและยากำจัดวัชพืช อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมอาหารและยาสัตว์ และอื่นๆ แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาในการผลิตเนื่องจากเครื่องจักรดังกล่าวมีราคาที่สูงมาก


มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ร่วมมือกับบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ในการสร้างกระบวนการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงนาโนอิมัลชั่น โฮโมจีไนเซอร์ จากห้องปฏิบัติการสู่ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือคนไทย จากทีมงานนักวิจัยและวิศวกรของบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด ที่สามารถนำข้อมูลและประสบการณ์จากห้องวิจัยที่มีข้อจำกัด มาพัฒนาใช้ในเชิงอุตสาหกรรม (Production Scale) มุ่งหมายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับวงการอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น ซึ่งสามารถนำสารออกฤทธิ์มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันเรากำลังทำการวิจัย ทั้งยาสัตว์ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยากำจัดวัชพืช รวมไปถึงอาหารเสริมที่อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น

นายเรวัต จินดาพล  CEO บริษัท เคเคยู มิสลิลลี่ โฮลดิ้ง จำกัด (KKU Miss Lily Holding Co.,Ltd.)  เปิดเผยว่า “จากการทํางานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีนาโนอิมัลชั่น โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อให้เราได้มี Technical know how ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบในห้องปฏิบัติการ จนสามารถนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมนั้น จะต้องใช้เครื่องจักรที่สามารถทำให้สารแตกตัวเป็นอนุภาคระดับนาโน โดยทั่วไปในต่างประเทศจะใช้เครื่อง High pressure nano homogenizer ซึ่งจะมีราคาแพงมาก เช่น ขนาด 300-500 ลิตร จะมีราคาหลักร้อยล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมทั่วไปมีข้อจำกัดในการลงทุนเครื่องจักรเหล่านี้ ทางทีมวิศวกรของบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ KKU Miss Lily Holding ได้พัฒนาเครื่องจักรในรูปแบบ High speed nano homogenizer และเครื่องจักรพ่วง จนทำให้เราเป็นผู้นำในการผลิตเครื่องจักรนาโนอิมัลชั่นในกลุ่มอาเซียน เรามีนโยบายที่จะนำเครื่องจักรนี้ไปร่วมมือกับภาคเอกชนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น โดยบริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จะช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่นและนำไปสู่การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนของทางบริษัทและมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้ประเทศไทยได้กลาย เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีนี้ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในทางเศรษฐกิจ สำหรับองค์กรที่สนใจสามารถติดต่อ บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด คุณศิรินทร์ ใต้ชัยภูมิ โทร. 086-319-0270

นายฐาปกรณ์ อุประ Chief of Technology officer บริษัท ลิลลี่ ฟาร์มา จำกัด  กล่าวว่า จุดเด่นของเครื่อง High speed nano homogenizer คือ เทคนิคการเฉือนอนุภาค (Shearing) ด้วยใบพัดปั่นที่มีความเร็วสูง และมีหัวปั่นพร้อมกัน 3 หัว (Vertical Multiple Rotor Stator Head) ซึ่งทำให้อนุภาคมีขนาดที่เล็กลงกว่า 100 นาโนเมตร และมีความสม่ำเสมอของขนาด เนื่องจากมีหัวปั่นที่เรียงตัวอยู่ 3 ระดับในถัง นอกจากนี้เครื่องจักรพ่วงอื่นๆ เช่น Oil mixer และ Water mixer ยังมีถังน้ำควบคุมอุณหภูมิในระหว่างกระบวนการผลิต ซึ่งสามารถผลิตในระบบสุญญากาศได้ ทำให้เครื่องจักรดังกล่าวสามารถผลิตสารนาโนอิมัลชั่นให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ห้องวิจัยได้กำหนดไว้ นอกจากนี้ เทคโนโลยี High speed nano homogenizer ยังช่วยให้ประหยัดเวลาและพลังงานในการผลิต รวมถึงประหยัดต้นทุนในการบำรุงรักษาน้อยลงกว่าระบบอื่นมาก

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook