ลูกผู้ชายหน้าเสือ ใจเนื้อ
โดย : สุมาลี โพธิ์พยัคฆ์
คนเรารู้หน้าไม่ รู้ใจ ก็เหมือนกับผู้ชายหน้าโหดๆ คนนี้ ที่ทำทุกอย่างเพื่อคนอื่น และยืนหยัดทำในสิ่งที่เขาเชื่อมาตลอด 20 ปี ไม่มีเปลี่ยนแปลง
ปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติมอบรางวัลให้ผู้ชายหน้าโหดๆ คนหนึ่ง ในฐานะบุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น ประเภทบุคคลชาย
ผู้ชายหน้าเสือใจเนื้อคนนี้ชื่อ สุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เขาคลุกคลีกับงานพัฒนาชุมชน ของภาคอีสานมานานเกือบ 20 ปี
แม้เขาจะไม่ได้เป็นลูกที่ราบสูง แต่ก็มาทำงานและต่อสู้เพื่อสิทธิคนอีสานมาโดยตลอด ทั้งการแย่งน้ำในพื้นที่ ลำน้ำพรม จ.ชัยภูมิ การต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ จ.อุดรธานี การต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองในพื้นที่ลำพะเนียง จ.หนองบัวลำภู และ โครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ จ.ร้อยเอ็ด และอุดรธานี
อดีตเด็กช่างกล
สุวิทย์ เป็นชาวสิงห์บุรีวัย 40 ปี หลังเรียนจบ ปวช.ช่างเชื่อม จากวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี และเรียนต่อระดับ ปวส.ที่วิทยาลัยช่างกลปทุมวัน
เขายอมรับว่าช่วงวัยรุ่นเคยพกปืนไปเรียน และ ไล่ยิงกับเพื่อนต่างสถาบันแถวสะพานหัวช้างเป็นประจำ และกว่าจะผ่านพ้นชีวิตวัยเรียนมาได้ก็หนักหนาอยู่ แต่เพราะเขาสนใจอ่านหนังสือ ชอบการเมือง และเลือกที่จะเดินไปในทางที่ทำงานเพื่อคนอื่น
อาทิตย์รายสัปดาห์ สยามรัฐ ศานติสังคมของวารสารสังคมพัฒนา เรื่องสั้น วรรณกรรมต่างๆ โดยเฉพาะงานเขียนของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ....ทั้งหมดนี้คือ "หนังสือ" ที่เขาอ่านและเปลี่ยนเขาไปสู่เส้นทางนักพัฒนา
"พอจบช่างกลปทุมวัน คิดว่าไม่อยากทำงานบริษัท อยากกลับไปอยู่บ้านที่สิงห์บุรี หากินตามท้องทุ่ง เพราะเราเกิดและเติบโตที่นั่น"
ช่วงวัยรุ่นเขาเติบโตมากับกลุ่มญาติ เพราะพ่อบังเกิดเกล้าไปทำงานและปักหลักที่อังกฤษ แต่ลูกชายกลับเลือกที่จะอยู่บ้านเพราะไม่ชอบชีวิตต่างแดนแบบนั้น
"เลยทำให้ผมต้องพึ่งตนเองและมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างมาก" สุวิทย์ วิเคราะห์
ชีวิตหลังเรียนจบใหม่ๆ เขาได้กลับไปอยู่บ้านสมใจอยู่ 6 เดือน จากนั้นก็หันหน้าสู่กรุง เพื่อหางานทำ
อาชีพแรกที่เขาเลือกทำคือ "ครู" ที่โรงเรียนกนกเทคโนโลยี ซอยวัดไผ่เงิน ยานนาวา คุณครูมือใหม่เล่าให้ฟังว่า การเป็นครูไม่ง่าย โดยเฉพาะการสอนนักเรียนที่อายุไล่เลี่ยกับตัวเอง
"เหมือนพี่กับน้อง แต่เด็กค่อนข้างเกเรมาก มีทุกรูปแบบ ฉีดผงขาว ดูดกัญชา โดดเรียน ผมเลยต้องปรับการสอน โดยสอนให้เด็กเอาตัวให้รอดถ้าจะเกเรแต่ต้องไม่ทิ้งการเรียน"
รูปแบบการสอนแบบนี้ ทำให้เขาเป็นครูได้เพียง 1 ปี เพราะไปมีเรื่องทะเลาะกับครูฝ่ายปกครอง
"ครูฝ่ายปกครองจับเด็กที่ปีนรั้วไปเสพยา จะไล่เด็กออก แต่ผมไม่ต้องการให้ไล่เด็กออก เพราะมันเป็นการตัดอนาคตเด็ก และที่นี่เป็นที่เรียนที่เดียวของเด็ก ควรจะมีการเตือนและส่งไปบำบัดก่อน" เมื่อไม่สำเร็จ เขาจึงตัดสินใจออก
พลาดหวังจากครู เขาก็บ่ายหน้ามาเป็นพนักงานบริษัท ในบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งผู้คุมงาน (Supervisor)
ขณะทำงานที่นั่น วิญญาณนักพัฒนาค่อยๆ ก่อตัว เขาได้ต่อรองช่วยเหลือลูกน้องให้ได้รับการดูแลขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพ เช่น ให้มีหน้ากากกันตะกั่ว ระหว่างนั้นเขาก็รู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรม เริ่มเรียกร้อง ต่อรอง และขัดแย้งกับผู้จัดการมากขึ้น เรื่องจึงจบลงที่การลาออกอีกรอบ
หลังจากนั้นก็ทำงานบริษัทชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่ง ในตำแหน่งซูเปอร์ไวเซอร์เหมือนเดิม และอะไรหลายๆ อย่างที่เข้าอีหรอบเดิม
"พอทำไปครึ่งปี ก็เห็นว่าคนงานไม่ได้รับการดูแลในเรื่องความปลอดภัยพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมของการทำงาน จึงเข้าไปคุยกับผู้จัดการให้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เถียงกันจนต้องลาออก" เจอสามที่ซ้อนอย่างนี้ เขาจึงกลับบ้านอีกครั้ง
สู่นักสิทธิมนุษยชน
ชีวิตยังหนีกรุงเทพฯ ไม่พ้น ในที่สุดเขาก็กลับมาอีกรอบ แต่คราวนี้มาเพื่อเรียนต่อหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (การพัฒนาชุมชน) วิทยาลัยครูพระนคร
ที่นั่น เขาเป็นประธานชมรมพัฒนาสังคมกับสมาชิกอีกกว่า 100 ชีวิต จุดนั้นเอง เขาเริ่มเห็นความสำคัญของการทำงานทางความคิด การเรียนรู้ภายใน และไม่เห็นว่าการเรียนในห้องสำคัญเท่ากับความรู้ภายนอก จึงขอลาอาจารย์ไปอยู่กับชาวบ้านที่จังหวัดอยุธยา เริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์อย่างจริงจัง และนำความรู้นั้นกลับมากรุงเทพฯ ริเริ่มทำกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบางบัวระเรื่อยไปยังชุมชนต่างๆ ย่านชานเมืองหลวง
จากนั้น จังหวะชีวิตชักนำให้เข้ามาทำงานกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งสมัยนั้น วาระ "เขื่อนและม็อบ" กำลังร้อนแรง
"ผมได้ไปเป็นอาสาสมัครกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) อยู่ 1 ปี ทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน อบรมสันติวิธีกับชาวบ้านในภาคอีสาน เริ่มคุ้นกับพี่ๆ ทางอีสาน และเริ่มทำงานกับชาวบ้านที่มีปัญหาจริงๆ นอกจากทำงานพัฒนาผมก็เขียนหนังสือ เขียนบันทึกไปด้วย แต่ก็ไม่ได้เขียนเป็นชิ้นเป็นอัน นอกจากลำดับเหตุการณ์ส่งไปยังองค์กร ยังไม่มีการแสดงทัศนะความคิด"
หลังจากทำงานพื้นที่ประมาณ 7 ปี สุวิทย์ชัดเจนกับตัวเองว่า "จะทำงานสนาม ไม่อยากทำนโยบาย" เขาเริ่มรู้ว่าถนัดอะไร และร่วมกับเพื่อนๆ คัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ เพราะที่พื้นที่น้ำต่างๆ ที่เขาได้ไปคลุกคลี มีปัญหาการแย่งน้ำกันทุกปี คนต้นน้ำได้ แต่คนปลายกลับขาด
กลางปี 2539 พอโครงการที่เขาสังกัดอยู่หมดทุน จึงหันเหชีวิตไปเป็นนักข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ประจวบเหมาะกับตอนนั้นที่กลุ่มสมัชชาคนจนยึดหน้าทำเนียบอยู่นานเป็นปี ชีวิตได้คลุกคลีกับเพื่อนนักพัฒนาเหมือนชะตากำหนด
ชีวิตนกน้อยในไร่ส้มกินเวลาสั้นๆ แค่ 1 ปี แต่นั่นก็นานพอที่จะทำให้เขารู้ว่างานข่าวไม่เหมาะกับตัวเอง จึงแบกเป้กลับมาภาคอีสาน หากจุดหมายเปลี่ยนไปเป็น ขอนแก่น แต่เนื้องานยังคงวนเวียนอยู่กับการจัดการน้ำเหมือนเดิม
นำมาสู่ การทำงานกับคณะธรรมชาติยาตราแม่น้ำมูน , คณะติดตามมลพิษแม่น้ำพอง และ บุกเบิกเรื่องเหมืองแร่โปแตช ในปี 2543 เพราะรู้ข่าวระแคะระคายเรื่องการเข้ามาใสพื้นที่ของบริษัทยักษ์ใหญ่
ชายหนุ่มเลยตัดสินใจเข้าพื้นที่อย่างโดดเดี่ยว และใช้ทุนของตัวเองล้วนๆ
"ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล นอนโรงแรมจิ้งหรีดคืนละร้อย ไม่มีเงินทำงาน บางวันก็เข้าหมู่บ้านกินข้าวตามร้านอาหารเล็กๆ ในหมู่บ้าน เพื่อทำความรู้จักชาวบ้าน และเช็คสภาพพื้นที่"
ทำเช่นนั้นอยู่ราวๆ 1 ปี เขาก็ฝังตัวอยู่ในบ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด จ.อุดรธานี เสนอแนวคิดการทำงานลงฐานเกาะติดพื้นที่ โดยเสนอว่าสำนักงานระดับเล็กสุดควรอยู่ที่อำเภอ หรือหมู่บ้าน
"การฝังตัวกับชาวบ้านทำให้เห็นความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ตลอดเวลาและเป็นที่มาที่ทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้เรียกร้องสิทธิของพวกเขาเอง"
ชีวิตลำเค็ญ? เอ็นจีโอ
ตลอดชีวิตนักพัฒนาที่ผ่านมา เครื่องมือการทำงานที่สำคัญที่สุดของสุวิทย์คือ "สิทธิ"
"ผมเห็นการละเมิดสิทธิ และเห็นว่าสิทธิชุมชนเป็นเรื่องเฉพาะ" และเมื่อเข้าสู่กระบวนการทำงานเพื่อเคลื่อนไหว หัวใจสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ ข้อมูล โดยจะเน้นการวิเคราะห์วัฒนธรรมชุมชน กับ นิเวศวิทยาเป็นหลัก
หลายปีก่อน เอ็นจีโอคือ หนึ่งในอาชีพในฝันของบัณฑิตจบใหม่ผู้มีหัวใจอิสระ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุนนิยมเข้ามาเสนอทางเลือกใหม่ๆ ส่วนใหญ่ใช้ฐานเงินเดือนเป็นตัวตั้ง
ถามเขากลับไปว่า ลำบากไหม กับอาชีพนักพัฒนาอย่างนี้...
"เอ็นจีโอเป็น อาชีพได้ แต่เราต้องพัฒนาตัวเองก่อน ก่อนที่จะไปพัฒนาคนอื่น และ อย่าเอาเงินเป็นตัวตั้ง ทุกวันนี้ผมมีเงินเดือนๆ ละ 13,000 บาท แต่ต้องอยู่ให้ได้ โดยต้องเน้นประโยชน์ร่วมของชาวบ้าน ต้องคำนึงว่าชาวบ้านเดือดร้อน ต้องการแก้ไขปัญหาก่อน ที่ผ่านมาผมเจอเรื่องเยอะมาก หากคิดไม่ตก แก้ไม่ได้ คงหนีไปแล้ว เพราะถ้าคิดว่า มันไม่ใช่บ้านเรา ไม่ใช่ปัญหาเรา เราสามารถก้าวเดินให้พ้นจากพวกเขาได้ แต่เราก็ทำไม่ได้ ทิ้งไม่ได้ เพราะเริ่มมาด้วยกัน"
สิ่งหนึ่งที่เข้ามาช่วยประคับประคองสุวิทย์ได้ คือ ธรรมะ ทำให้จิตใจนิ่ง และ ใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่กินแบบแมว ตามแนวทางของท่านพุทธทาส
"พวกเราหลายคนมองเป้าหมาย มากกว่าวิธีการไปถึง แต่การศึกษาเรื่องศาสนาทำให้เราเข้าใจว่า เราไม่คาดหวังว่าจะมีอะไร เป็นอะไร แต่เราต้องทำให้ได้"
กับกรณีเหมืองแร่โปแตช เขาเอาหลักการดังกล่าวมาใช้ และ ใช้ได้ดีเสียด้วย
"ผมยอมรับว่าไม่ได้มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ แต่ต้องศึกษา หาข้อกรณี การคัดค้านโครงการเหมืองแร่ โปแตซ เราอ้างสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญ เราต้องศึกษาเรื่องกฎกระทรวง ศึกษาระเบียบปฏิบัติ ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการนั้นๆ หากชาวบ้านรู้เท่าทันกฎหมาย ชาวบ้านจะรู้ว่าเรามีพลัง และรู้ว่าราชการมีกฎหมาย ระเบียบ เป็นเครื่องมือในการทำงาน เราจะต้องรู้รายละเอียดให้มากที่สุด
"นำไปสู่การทำงานเป็นเครือข่าย แยกกันทำงานด้านนโยบาย ทำงานกับต่างประเทศ เอาประสบการณ์จากต่างประเทศมาให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงผลกระทบ จนไปสู่ประเด็นการรณรงค์เรื่องสิทธิมนุษยชน หน้าตาของสังคมไทยที่เสียไม่ได้ พูดง่ายๆ เราต้องทำงานด้านล่างควบคู่ไปกับข้างบน"
................................................................
ทุกวันนี้เขาลงหลักปักฐานที่ อำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่พยายามพึ่งตัวเองเป็นหลัก โดยมีลูกสาว 2 คน และภรรยาคอยให้กำลังใจ และ การที่เขามีลูกนี่เองทำให้เห็นความสำคัญเรื่องหนังสือสำหรับเด็ก และห้องสมุดเด็กในชุมชน ทำให้เขาทำโครงการห้องสมุดในบ้านขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ในชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้ และหยิบยืมหนังสือได้ โดยใช้บ้านของชาวบ้านในชุมชนที่มีความพร้อมเป็นห้องสมุด และให้เด็กนักเรียน ลูกเจ้าของบ้านเป็นบรรณารักษ์ คัดเลือกหนังสือ และ คอย ยืม - คืน หนังสือให้กับสมาชิก
"หน้าตาอย่างผมนี่แหละ บางวันต้องไปอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟัง ไปเล่านิทานให้เด็กฟัง ทำเสียงอ่อนเสียหวาน แสดงได้ทุกตัว ทั้งหนูน้อยหมวกแดง หมาป่า หรือ ซินเดอเรลลา และเชิญชวนพ่อแม่มาเล่านิทานให้ลูกฟัง ลูกเขาสนุก พ่อแม่ก็มีความสุขไปด้วย ทำให้ตอนนี้เรามีสังคมเล็กๆ และ ผมก็เอาการศึกษาทางเลือกเข้าไปจับด้วย ทำให้หลายคนเริ่มสนใจและหันมาร่วมมือกันมากขึ้น"
นี่คือชีวิต และคำนิยามที่ไม่หยุดนิ่งของลูกผู้ชายที่ชื่อ สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อคนอีสาน
ที่มาของรางวัล
กรณี "ลำพะเนียง" จ.หนองบัวลำภู
เขาไปร่วมกับ ชาวบ้านลุกขึ้นมารักษาสิทธิของตนเอง จนทำให้มีการฟ้องร้อง และชาวบ้านชนะไปหลายคดี ทางกรมชลประทานต้องชดเชยค่าเสียหาย เพราะการสูญเสียที่ดินจากการขุดลำพะเนียงนั้นทำให้ชาวบ้านเสียที่นา ดังนั้นควรต้องให้ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมจากราคาที่ดิน และโอกาสต่างๆ ที่สูญเสียไป
กรณีแนวสายส่งไฟฟ้าที่พาดผ่านที่ดินชาวบ้าน จ.อุดรธานี
การ ไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใช้ พรบ.ไฟฟ้า ปี พ.ศ. 2511 ซึ่งชาวบ้านเสียเปรียบ โดยเฉพาะการกำหนดราคาค่าชดเชยต้นไม้โดยไม่คำนึงถึงนิเวศวัฒนธรรม หรือไม้ท้องถิ่นเหล่านี้
ข้อเท็จจริง คือ ชาวบ้านสูญเสียผลประโยชน์เพื่อให้ทุกๆ คนมีไฟฟ้าใช้ ที่ผ่านมาสุวิทย์พยายามสู้เรื่องนี้ นำเสนอเป็นประเด็นในศาลปกครอง เสนอให้ศาลเห็นว่าแนวสายส่งไฟฟ้ามีปัญหาอย่างไร ชาวบ้านมีสิทธิอะไรบ้าง
"ในสถานการณ์ปัจจุบัน" รัฐ กำลังมีจะมีการออก พรบ.ควบคุมการชุมนุมเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว นี้เรามองว่าจะเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิฯ ของชุมชนที่จะแสดงความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร
ผู้นำส่วนใหญ่ในบ้านเรามักไม่มีคุณธรรมในการแก้ไขปัญหา มองว่าปัญหาของชุมชนมีการเมืองเบื้องหลัง และไม่แก้ไขปัญหา การชุมนุมของชาวบ้านจึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ชาวบ้านจึงใช้การปิดถนนเป็นเครื่องมือในการต่อรองปัญหา และท้ายที่สุดถูกจับติดคุก ในขณะที่ทุนใช้กระบวนการตุลาการเป็นเครื่องมือ"
สุวิทย์และเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) จึงพยายามสร้างกระบวนการทำงานให้ชาวบ้านเรียนรู้การใช้สิทธิในการชุมนุม อย่างไรไม่ผิดกฎหมาย หลังจากที่ชาวบ้านถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 1,500 คดี