สธ.เผย หวัด2009 คร่าอีก 4 ชีวิต
กระทรวงสาธารณสุขเผยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 4 ราย
เมื่อ วันที่ 13 ม.ค. นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ระหว่างวันที่ 3 - 9 ม.ค. ว่า มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย เป็นชายวัย 24 ปี ใน จ.ชัยภูมิ หญิงวัย 30 ปี ใน จ.ร้อยเอ็ด ด.ช. 4 ขวบ จ.นครราชสีมา และ ด.ช.6 ขวบ จ.เชียงใหม่ โดย ด.ช. 6 ขวบมีโรคประจำตัวคือ โรคหอบหืดและอ้วน ทั้งนี้ในรอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 55 ราย ผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2552 - 9 ม.ค. 2553 รวม 30,805 ราย เสียชีวิต 196 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เชียงใหม่ ตราด เชียงราย พะเยา และสงขลา นอกจากนี้ จากการสำรวจผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาล พบสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 10 และผู้ป่วยปอดอักเสบเพิ่มจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 10 และยังพบการระบาดเป็นกลุ่มๆ ในบางพื้นที่ เช่น ที่โรงเรียนใน จ.เชียงใหม่ เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้เกิดการระบาดได้ง่าย
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ที่น่าเป็นห่วงคือแนวโน้มพบการระบาดขยายไปสู่พื้นที่ชนบทห่างไกลมากขึ้น โดยผู้ป่วยในชนบทมักไปซื้อยาชุดแก้ไข้หวัดมากินเอง ทำให้มารับการรักษาช้า เสี่ยงเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ซึ่งยารักษาไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่มีขายในท้องตลาด มีเฉพาะในโรงพยาบาลหรือคลินิกที่ร่วมโครงการไข้หวัดใหญ่ 2009 กับกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้ ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งให้การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเป็น กรณีพิเศษ และให้คิดถึงโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ไว้ก่อน ส่วนในพื้นที่ชนบท หมู่บ้านต่างๆ ได้กำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยในพื้นที่ ให้ความรู้ คำแนะนำการป้องกัน และสำรวจผู้ป่วยในหมู่บ้านทุกวัน หากพบมีอาการไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน มีโรคประจำตัว ผู้พิการ ให้รีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ด้าน นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ใน 5 กลุ่มเสี่ยง ผลการฉีด 2 วันที่ผ่านมา คือวันที่ 11-12 ม.ค. ได้รับรายงานจาก 31 จังหวัด พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย ไม่พบผู้มีอาการแพ้วัคซีนรุนแรง พบเพียงอาการเล็กน้อย คือปวด บวม แดงที่รอยฉีดเท่านั้น โดยมีผู้ได้รับการฉีดแล้ว 3,769 ราย.