ตัวมอม คืออะไร ที่ไม่ใช่ตัวแม่-ตัวมารดา ทำไมถึงได้อยู่บนบันไดวัด

ตัวมอม คืออะไร ที่ไม่ใช่ตัวแม่-ตัวมารดา ทำไมถึงได้อยู่บนบันไดวัด

ตัวมอม คืออะไร ที่ไม่ใช่ตัวแม่-ตัวมารดา ทำไมถึงได้อยู่บนบันไดวัด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยุคนี้ถ้าหากพูดถึงการเป็น "ตัวมอม" คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าเป็นคำพ้องความหมายกับคำว่า ตัวแม่, ตัวมารดา, ตัวคลอดบุตร ที่หมายถึงคนที่มีความโดดเด่นหรือเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง

แต่ที่ภาคเหนือและภาคอีสาน คนจำนวนไม่น้อยจะนึกถึงสัตว์ในจินตนาการ ที่เกี่ยวข้องกับการปกปักรักษา

ดังน้้นจึงเห็นว่าตัวมอมมักปรากฏเป็นรูปปั้นหรือแกะสลักอยู่ในสถานที่ทางศาสนา เช่น ที่บันไดวิหารวัดบุพพาราม ต.ช้างม่อย และที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ ต.สุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ เรื่อยไปถึงหลังคาบางวัดบางแห่ง

ไม่ใช่แค่นั้น ยังพบว่าคนชาติพันธุ์ไทที่นิยมสักลาย ก็สักตัวมอมบนร่างกาย เพื่อให้แคล้วคลาดจากภยันตรายใดๆ ด้วย

ความแตกต่างของตัวมอมในแต่ละพื้นที่ก็มีอยู่บ้าง โดยที่ภาคเหนือ ตัวมอมมีลักษณะคล้ายกิ้งก่ายักษ์แต่มีหัวคล้ายสิงโต ขณะที่ภาคอีสานและในประเทศลาวมีลักษณะออกไปทางแมวผสมสิงโตมากกว่า

นอกจากนี้ ตัวมอมยังมีนัยทางการเกษตรอีกด้วย เพราะพบว่าบางสถานที่พบรูปปั้นหรือรูปแกะสลักตัวมอมอยู่ด้านหน้าหรือใต้เทวดาปัชชุนนะ ซึ่งเป็นเทวดาแห่งฝน 

เว็บไซต์สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า ในปีที่เกิดความแห้งแล้งรุนแรง ชาวบ้านในอดีตนำรูปสลักตัวมอมขึ้นเสลี่ยงเพื่อแห่ แล้วสาดน้ำเพื่อให้ตัวมอมเปียก ส่วนผู้ที่ร่วมขบวนแห่จะแสดงออกด้วยความตลกคะนอง เพื่อให้เทวดาร้อนใจ และบันดาลให้ฝนตกลงมา คล้ายกับพิธีแห่นางแมวขอฝน

ตัวมอมในวัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่Komkrit Duangmanee / Sanookตัวมอมในวัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่แต่บทความเรื่อง "'สิงห์มอม' ไม่เคยปรากฏในวัฒนธรรมล้านนาโบราณ แล้วมาจากไหน?" ของนางสาวเพ็ญสุภา สุขคตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านหริภุญชัย ที่เขียนให้กับมติชนสุดสัปดาห์ เมื่อปี 2560 แย้งว่า ล้านนารับเอาตัวมอมมาจากจีนผ่านชนเผ่าไทเขิน ไทยอง ไทลื้อ มาราว 200 ปีที่แล้วเท่านั้น

ส่วนบทความเรื่อง "ความหมายของ 'ตัวมอม' สัตว์ในจินตนาการ สู่ตำนานอันศักดิ์สิทธิ์แห่งล้านนา" ของนางสาวโชติกา นุ่นชู ที่เขียนให้กับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อปี 2566 ระบุว่า ตัวมอมถูกพูดถึงในตำนานเสาอินทขีล ซึ่งเป็นตำนานการตั้งเมืองเชียงใหม่ในสมัยพญามังราย

อย่างไรก็ตาม การที่ตัวมอมมีความสำคัญด้านคติความเชื่อของผู้คนในอดีตมากเช่นนี้ หากจะกล่าวว่า "ตัวมอม" เป็นตัวแม่ตัวหนึ่งของวงการสัตว์ในตำนานของล้านนาและลาวก็คงเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงนัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook