4 มือขนขีปนาวุธร่อน จม.โวยคุกไทย! ขอ ปธน.ช่วย

4 มือขนขีปนาวุธร่อน จม.โวยคุกไทย! ขอ ปธน.ช่วย

4 มือขนขีปนาวุธร่อน จม.โวยคุกไทย! ขอ ปธน.ช่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

4 นักบินชาวคาซัคสถานผู้ต้องหาขนขีปนาวุธ 40 ตัน ส่งจดหมายถึงประธานาธิบดีให้ยื่นมือช่วยเหลือ ยันเป็นผู้บริสุทธิ์ ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่เป็นเท็จ แถมถูกละเมิดสิทธิ-เสรีภาพ เผยอยู่เรือนจำสุดทรมานต้องนอนบนพื้น ไม่มีหมอน ไม่เปิดไฟ อาหารสุดห่วยไม่เหมาะแก่การบริโภค ขณะที่พนักงานสอบสวนสรุปสำนวนส่งอัยการแล้ว

ความคืบหน้าคดีเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมผู้ต้องหาต่างชาติชาวคาซัคสถาน และชาวเบลารุส รวม 5 คน ลักลอบขนอาวุธสงครามชนิดร้ายแรงน้ำหนักรวม 40 ตัน ผ่านทางเครื่องบินลำเลียงแบบทหารสัญชาติจอร์เจีย ขณะแวะพักเติมน้ำมันที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 มกราคม สำนักข่าว อาร์ไอเอ โนวอสติ ของรัสเซีย รายงานจากกรุงอัสตานา เมื่อวันที่ 12 มกราคม ว่า ผู้ต้องหาชาวคาซัคสถานทั้ง 4 คน ซึ่งเป็นนักบิน และวิศวกรของเครื่องบินลำดังกล่าว ได้ส่งข้อความเป็นจดหมายผ่านกอง บก.หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งของคาซัคสถานถึงนายนูร์ซุลตาน นาซาร์บาเยฟ ประธานาธิบดีคาซัคสถาน เพื่อขอความช่วยเหลือ และปกป้อง โดยใจความในจดหมายระบุว่า

"เรียนประธานาธิบดีนูร์ซุลตาน อาบิเชวิช นาซาร์บาเยฟ พวกเรา ลูกเรือของเครื่องบิน ไอแอล-76, เที่ยวบิน เอดับเบิลยูจี-731/732: เส้นทางเคียฟ-บากู-ฟูไจราห์-กรุงเทพฯ-เปียงยาง-กรุงเทพฯ-โคลัมโบ-ฟูไจราห์-เคียฟ พลเมืองคาซัคสถานอันประกอบด้วย กัปตันอิลยาส อิซัคโควิช อิซัคคอฟ, นักบินที่ 2 วิตาลี ชุมคอฟ, เนวิเกเตอร์ วิคเตอร์ อับดุลลาเยฟ, วิศวกรภาคพื้นดิน อเล็กซานเดอร์ ซรึบเนฟ และพลเมืองของสาธารณรัฐเบลารุส มิคาอิล ปิตูคอฟ ได้ทำการบินตามที่ได้รับมอบหมายจากสายการบินแอร์เวสต์ จอร์เจีย และผู้เช่าเครื่องบินของสายการบินแอร์เทค จากยูเครน โดยตามสัญญาต้องขนส่งสินค้าพลเรือนทั่วไปจำนวน 35 ตัน จากเปียงยางไปยังเคียฟ เราได้ทำการบินไปยังเปียงยางด้วยความปกติ ไม่มีปัญหาใดๆ กระทั่งมาถึงในเปียงยาง เมื่อเย็นของวันที่ 10 ธันวาคม 2009 ได้ไปโรงแรมเพื่อพักผ่อน และวิศวกรภาคพื้นดิน อเล็กซานเดอร์ ซรึบเนฟ ได้อยู่ตรวจสอบสินค้าและความสมดุลของเครื่องบิน

ต่อมาในช่วงเช้าตรู่วันที่ 11 ธันวาคม 2009 เมื่อเรามาถึงที่เครื่องบินที่บรรทุกสินค้าอันได้ถูกปิดผนึกอยู่ในกล่องบรรจุซึ่งทำจากไม้และเหล็ก เราไม่สามารถตรวจสอบสินค้า โดยได้รับคำอธิบายว่า สินค้าถูกปิดผนึกและประทับตราเรียบร้อยแล้ว และตามใบกำกับนั้น สินค้าถูกจดทะเบียนว่าเป็น "ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล" แต่ในลักษณะนั้นเหมือนกับชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับขุดเจาะน้ำมัน อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ธุระของเรา หน้าที่ตรวจสอบสินค้าเป็นเรื่องของศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองของประเทศต้นทาง และด้วยความมั่นใจเต็มที่ว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าพลเรือนทั่วไปจึงนำเครื่องขึ้น หากแม้จะมีสิ่งใดที่ได้บ่งบอกถึงข้อเท็จจริงว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าทางทหาร ลูกเรือคงปฏิเสธการขนส่งนั้นเสียแล้ว

จากนั้นเมื่อวันที่ 11ธันวาคม 2009 ได้ลงจอดที่สนามบินในกรุงเทพฯ หลังจากที่เครื่องลงจอด และเปิดประตูเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทยได้มาถึง ศุลกากรสงสัยว่าเครื่องบินนี้บรรทุกสินค้าทางทหารและได้ยึดเครื่องไว้ จนวันถัดมาคือ 12 ธันวาคม 2009 ด้วยกำลังทหารจำนวนมาก สินค้าถูกนำออกจากเครื่องและขนย้ายไป เราไม่ได้อยู่ด้วยในระหว่างการเปิดหีบห่อสินค้า (เน้นโดย บก.หนังสือพิมพ์) หลังจากนั้นเราถูกแจ้งข้อหาว่าขนสินค้าทางทหารและได้ถูกจับกุม

เป็นเวลา 2 วันที่เราอยู่ในความควบคุมของตำรวจ พวกเขาได้สอบถามว่า รู้เกี่ยวกับลักษณะของสินค้าบนเครื่องหรือไม่ เราบอกว่าสินค้าพลเรือนทั่วไปและเป็นเพียงผู้ส่งสินค้าเท่านั้น ต่อมาเราถูกนำตัวไปยังศาลซึ่งออกคำสั่งควบคุมตัวเราเป็นเวลา 12 วัน และในวันเดียวกัน เราถูกส่งไปยังเรือนจำ ถูกคุมตัวในห้องขังต่างกันไป รวมกับนักโทษที่ถูกตัดสินแล้วในคดีอาชญากรรมร้ายแรง

ต่อมาตัวแทนของสาธารณรัฐคาซัคสถานในประเทศไทยและทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล แต่ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า เราเป็นชาวต่างชาติและอาจหลบหนีออกจากประเทศโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเราไม่มีแผนที่จะทำ ในส่วนคุมขังของเรามีผู้ต้องขัง 30-40 คน เรานอนบนพื้น ปูด้วยผ้าห่มที่บาง ไม่มีหมอน ไม่มีการเปิดไฟ อาหารไม่ได้ชวนรับประทาน และอาจถึงขั้นไม่เหมาะแก่การบริโภค โดยศาลสามารถยืดเวลาควบคุมตัวได้ถึง 7 ครั้ง ในระยะเวลา 12 วันต่อครั้ง (รวม 84 วัน) ในช่วงของการสอบสวน หลังจากนั้นเราจะถูกสั่งฟ้องและจะเข้าสู่กระบวนการตัดสินคดีที่อาจกินเวลาเกินกว่าปี

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของสื่อระบุว่า เราขนส่งยุทโธปกรณ์จำนวน 40 ตัน เราได้รับทราบว่า ตามกฎหมายของประเทศไทยอาจถูกตัดสินโทษตั้งแต่จำคุก 10 ปี กระทั่งประหารชีวิต นี่มันอะไรกัน เราเพียงทำการบินขนส่งสินค้าพลเรือนปกติตามที่ระบุไว้ในสัญญาและเอกสารประกอบ! ความผิดทั้งหมดควรจะอยู่ที่ฝ่ายต้นทางที่ส่ง! เราเป็นเพียงคนส่งของที่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายจ้างคือสายการบินและผู้เช่าเครื่องบินเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ การควบคุมตัวพวกตนโดยข้อหาที่เป็นเท็จคือการละเมิดสิทธิ และเสรีภาพตามที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงให้ท่านประธานาธิบดีคุ้มครอง และยื่นมือเข้าช่วยเหลืออันเปรียบเสมือนหลักประกันของการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณรัฐคาซัคสถาน และประชาชนของประเทศ ลงชื่อ: กัปตันเครื่อง อิลยาส อิซัคโควิช อิซัคคอฟ, นักบินที่ 2 วิตาลี ชุมคอฟ, เนวิเกเตอร์ วิคเตอร์ อับดุลลาเยฟ, วิศวกรภาคพื้นดิน อเล็กซานเดอร์ ซรึบเนฟ ที่ กรุงเทพฯ เรือนจำกรุงเทพฯ"

ส่วนความคืบหน้าทางคดีนั้น วันเดียวกันที่กองบังคับการกองปราบปราม พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผบก.ป. เปิดเผยว่า ขณะนี้ขั้นตอนการสอบสวนผู้ต้องหาเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยวันนี้ (13 ม.ค.) พนักงานสอบสวนได้นำสำนวนการสอบสวนส่งให้อัยการพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน จะให้การภาคเสธ แต่พนักงานสอบสวนจะส่งฟ้องสำนวนคดี และวันที่ 20 มกราคมนี้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง จะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องเพื่อสรุปความคืบหน้าทางคดีอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook