วงการบันเทิงโสกสิ้นม.จ.ทิพยฉัตร
อดีตผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย สิ้นชีพิตักษัยแล้ว ด้วยพระชันษา 75 ปี หลังประชวรด้วยโรคพาร์คินสันมานาน 15 ปี
ราชนิกูล อดีตผู้สร้าง-ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย สิ้นชีพิตักษัยแล้ว ด้วยพระชันษา 75 ปี หลังประชวรด้วยโรคพาร์คินสันมานาน 15 ปี หม่อมอรศรี ผู้เป็นชายา เผยพระอาการทรุดเมื่อ 5 ปีก่อน จนทรงพระดำเนินไม่ได้ บำเพ็ญกุศลพระศพที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน ด้านซูเปอร์สตาร์ เบิร์ด ธงไชย เศร้า สิ้นบุคคลสำคัญของวงการหนังไทยโรแมนติก เผยถวายของบำรุงเยี่ยมไข้ ท่านทิพย์ ตลอด จนทราบข่าวร้าย รู้สึกเสียใจมาก ขณะที่โรคหลอดเลือดหัวใจ-ไตวายคร่าชีวิตอดีตผู้ว่าฯ กทม.-ศิลปินแห่งชาติ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ด้วยวัย 78 ปี ตั้งสวดบำเพ็ญกุศลวัดเบญจมบพิตรฯ เผยผลงานออกแบบอาคารในฐานะสถาปิกสุดยิ่งใหญ่ ทั้ง สนง.ใหญ่แบงก์กรุงเทพ, ห้างมาบุญครอง, เซ็นทรัล ฯลฯ
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย หรือฉัตรชัย ได้สิ้นชีพิตักษัยอย่างสงบที่บ้านพักบุญโต 6 อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ด้วยพระชันษา 75 ปี โดยหม่อมอรศรี ฉัตรไชย ณ อยุธยา ชายาในร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร เปิดเผยว่า ร้อยตรี ม.จ.ทิพยฉัตร สิ้นชีพิตักษัยเมื่อช่วงสายของ วันที่ 13 ม.ค. หลังจากประชวรด้วยโรคพาร์คินสันเป็นระยะเวลา 15 ปี และพระอาการทรุดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทรงพระดำเนินไม่ได้ จนช่วงเช้าวันนี้เวลาประมาณ 06.00 น. ได้ถวายอาหารทางสายยางตามปกติ ก็ยังไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด จนช่วงสายจึงพบว่าท่านสิ้นชีพิตักษัยแล้ว อย่างไรก็ตามได้มีกำหนดตั้งพระศพบำเพ็ญกุศล วันที่ 14 ม.ค.นี้ ที่ศาลา 8/2 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน
ด้านนักร้องซูเปอร์สตาร์ เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ กล่าวถึงความรู้สึกที่มี ต่อ ท่านทิพย์ ว่า ท่านเป็นผู้มีพระคุณ สำหรับเบิร์ด เพราะเบิร์ดเล่นหนังของท่านเป็นเรื่องที่ 2 ของชีวิต เบิร์ดทราบข่าวว่าท่านประชวร และก็ติดตามข่าวโดยตลอด เบิร์ดเอาใจช่วยท่านตลอดมา และได้ฝากของบำรุงเยี่ยมถวาย พอทราบว่าท่านหลับไปแล้ว เบิร์ด รู้สึกเสียใจมาก เพราะว่าเราสูญเสียบุคคลสำคัญของวงการหนังไทยที่โรแมนติกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นฉากรัก หรือฉากเสียใจ ดูแล้วมีแต่รอยยิ้มกับความรักตลอดเวลา ท่านทิพย์เป็นศิลปินมาก ๆ อารมณ์ของท่านสวยงามตลอดเวลา ท่านเป็นเจ้านายที่ทรงเมตตากับทุกคน ขอให้ท่านได้พักผ่อนอย่างสบาย ท่านทิพย์จะอยู่ในความทรงจำของเบิร์ดตลอดไป
อดีตพระเอกหนุ่มชื่อดัง บิณฑ์ บรรลือ ฤทธิ์ กล่าวว่า รู้สึกเสียใจมากที่ไม่มีโอกาสไปกราบท่านตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่จริง ๆ ตั้งแต่ท่านป่วย ตั้งใจจะไปเยี่ยมท่านหลายครั้งแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีนักแสดงหลายคนไปเยี่ยมท่าน แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เจอท่านแต่อย่างใด เพราะท่านไม่อยากให้เห็นตอนที่ท่านประชวร ตอนนี้ท่านก็สิ้นแล้ว ตั้งใจว่าจะไปกราบพระศพของท่านอย่างแน่นอน ที่ผ่านมาตนมีโอกาสร่วมงานกับท่านในภาพยนตร์เรื่อง จงรัก และ ด้วยรักและคิดถึง ท่านน่ารักมาก ไม่ถือพระองค์เลย เวลาพูดคุยกันไม่จำเป็นต้องใช้ราชาศัพท์ และไม่ว่าท่านเสวยอะไรนักแสดงและทีมงานก็กินเหมือนท่าน ท่านทำงานแบบเป็นธรรมชาติทำให้ตนและนักแสดงคนอื่นไม่เกร็ง
ขณะที่นักแสดงรุ่นใหญ่มากฝีมือ อ้อย-กาญจนา จินดาวัฒน์ กล่าวว่า ไม่มีใครอยากให้ท่านจากไป แต่อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ต่อไปนี้คงจะไม่มีโอกาสได้เห็นท่านอีกแล้ว แต่ตนเชื่อว่าภาพของท่านจะยังคงอยู่ในใจของทุกคนเสมอ ที่ผ่านมาท่านป่วยมานาน พวกเราก็ไม่สามารถช่วยท่านได้ ตอนนี้ท่านหมดทุกข์แล้ว ขอให้ท่านหลับให้สบาย ตนมีโอกาสได้ร่วมงานกับท่านในภาพยนตร์เรื่อง ด้วยรักและผูกพัน และ หากจะรักใครสักคน ท่าน เป็นผู้กำกับที่เก่งมาก จะคอยสังเกตดูว่านักแสดงแต่ละคนเป็นอย่างไร แล้วจะให้เล่นตามสไตล์ของแต่ละคนให้เป็นธรรมชาติ เป็นอารมณ์ของมนุษย์ปุถุชนจริง ๆ เป็นสาเหตุให้คนชื่นชอบผลงานของท่าน เพราะท่านสร้างงานได้เข้าถึงอารมณ์ผู้ชม ดูกี่ครั้งก็ไม่รู้เบื่อ
สำหรับ ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย ระบุ ชื่อในเครดิตภาพยนตร์ว่า ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ประสูติเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2477 เป็นพระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุร ฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ประสูติแต่หม่อมเอื้อม อรุณทัต เสกสมรสกับนางจารุศรี รัตนวราหะ และมีหม่อมอีก 2 คน คือ มัณฑนา บุนนาค และอรศรี ลีนะวัต ผลงาน ม.จ.ทิพยฉัตร ฉัตรไชย ทรงมีผลงานกำกับภาพยนตร์ และเขียนบทภาพยนตร์มากมาย ช่วงแรก ๆ เน้นแนวบู๊ ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นแนวรักโรแมนติกของหนุ่มสาว ทุกเรื่องจะเน้นทิวทัศน์สวยงาม และมีเพลงประกอบที่มีความไพเราะ อาทิ รักนี้เราจอง, แล้วเราก็รักกัน, ด้วยรักคือรัก, อีกครั้ง, ด้วยรักและผูกพัน, หากคุณรักใครสักคน, จงรัก, ด้วยรักและคิดถึง, ด้วยรักไม่รู้จบ ฯลฯ ระยะหลัง ม.จ.ทิพยฉัตร ทรงหันไปทำงานเบื้องหลัง เป็นนักแปลบทภาพยนตร์ต่างประเทศ และทรงทำร้านอาหารเพื่อสุขภาพมังสวิรัติ ชื่อ บ้านสีม่วง กับหม่อมอรศรี พระชายา
อีกด้านหนึ่ง นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา อายุ 49 ปี บุตรชายของ ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เปิดเผยว่า บิดาถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค. เวลา 18.36 น. ที่โรงพยาบาลศิริราช ท่านมีโรคประจำตัวคือหลอดเลือดหัวใจ เข้ารับการรักษา และผ่าตัดครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2552 แต่อาการไม่ดีขึ้น และอยู่รักษาต่อเนื่องเรื่อยมา จนล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน คุณพ่อมีอาการไตวายเข้ามาแทรกซ้อน ทำให้ร่างกายติดเชื้อ ส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายต่ำลง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยจะตั้งศพบำเพ็ญกุศลที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ในฐานะปลัดกทม.รู้สึกเสียใจกับการจากไปของ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา ท่านเคยเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ 19 เม.ย. 2535 ถึง 18 เม.ย. 2539 ก่อนหน้านั้นเคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.สมัยพล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.มาก่อน ด้วยความที่ท่านเคยเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างคุณูปการต่อกทม.และมีผลงานโดดเด่นให้กับกทม.มากมาย เช่น การจัดทำร่างกฎหมายผังเมืองกทม.เป็นครั้งแรก การก่อสร้างโครงการด้านกายภาพต่าง ๆ เช่น การสานต่อและผลักดันโครงการรถไฟฟ้าสายแรกที่บีทีเอสได้รับสัมปทานอยู่ การก่อสร้างศาลาว่าการกทม.2 การก่อสร้างเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น
ท่านถือเป็นผู้มีวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองที่ยอดเยี่ยม การจากไปของท่านเป็นการสูญเสียบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ผมทราบข่าวว่าท่านเข้าโรงพยาบาล เพราะลื่นล้มในห้องน้ำเมื่อเดือนที่แล้ว ขณะนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. มอบหมายให้ผมไปเยี่ยมที่โรงพยาบาลทันทีในวันแรก จากนั้นผ่านมา 1 เดือน จึงทราบข่าวการเสียชีวิต อย่างไรก็ตามทางสำนักปลัดกทม.ประสานไปทางครอบครัวเพื่อให้กทม. เป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรมศพ 1 คืน
สำหรับประวัติ ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา เป็นชาวกรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 9 ม.ค.2475 สิริอายุ 78 ปี เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2503-2532) และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็น อดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม อดีตอุปนายกสภาสถาปนิกเอเซีย (ARCASIA), อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.ฝ่ายโยธา (พ.ศ. 2533-2535) และผู้ว่าฯ กทม.โดยการสนับสนุนของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าฯ กทม.คนก่อน ได้รับปริญญา สถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) ประจำปี พ.ศ. 2550 เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2551 จากการเสนอของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
ศ.กิตติคุณ ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา มีผลงานด้านสถาปัตยกรรมมากมาย ปฏิบัติงานในหน้าที่สถาปนิก และประธานกรรมการบริษัท คาซ่า จำกัด โดยผลงานสำคัญ อาทิ ต่อเติมพระราชฐานในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, สำนักงานใหญ่ธนาคารกรุงเทพ ถนนสีลม,ห้างสรรพสินค้ามาบุญครองเซ็นเตอร์ สี่แยกปทุมวัน, ห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล, ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้ สี่พระยา, อาคารสินธร ถนนวิทยุ, อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ ถนนพระรามที่ 4, อาคารใหม่สวนอัมพร, อาคารสำนักงานใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต, อาคารคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ.