ดร.ธรณ์ เล่าขอบเขตทะเลลึก คนในเรือไททัน จากไปแบบแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ดร.ธรณ์ เล่าขอบเขตทะเลลึก คนในเรือไททัน จากไปแบบแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ดร.ธรณ์ เล่าขอบเขตทะเลลึก คนในเรือไททัน จากไปแบบแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดร.ธรณ์ โพสต์เล่าขอบเขตของทะเลลึก ชี้แรงดันมหาศาลทำลายเรือไททันในเสี้ยววินาที ผู้จากไปแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า คนทั้งโลกกำลังสนใจ “ทะเลลึก” จึงอยากเล่าให้เพื่อนธรณ์ทราบ ขอบเขตของทะเลลึก เริ่มจากความลึก 200 เมตร เมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เริ่มหมดไป แสงที่ความลึกนั้นเหลือไม่ถึง 1% เนื่องจากน้ำดูดกลืนแสง เมื่อลงไปถึง 1000 เมตร จะไม่มีแสงใดเหลืออยู่เลย

ทะเลลึกคือพื้นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดใหญ่กว่าแผ่นดินทั้งหมดที่มนุษย์อยู่ ผิวโลกแบ่งง่ายๆ เป็นทะเล (70.8%) แผ่นดิน (29.2%) มากกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทะเล ลึกเกิน 4,000 เมตร จุดลึกสุดของมหาสมุทร ลึกกว่าซากเรือไททานิกมาก

จุดลึกสุดของแอตแลนติก 8,480 เมตร จุดลึกสุดของโลก (แปซิฟิก) ประมาณ 11 กิโลเมตร ความลึกเฉลี่ยของแอตแลนติก 3,600 เมตร น้อยกว่าไททานิกเล็กน้อย จุดที่ไททานิกจมอยู่ จึงไม่ใช่จุดที่ลึกมากมาย เมื่อเทียบกับความลึกเฉลี่ย ความลึกเฉลี่ยของแปซิฟิกคือ 4,000 เมตร ลึกกว่าไททานิก

ทะเลแบ่งเป็น 5 โซน ทะเลลึกแบ่งเป็น 4 โซน (ดูภาพ) ไททานิกอยู่ในเขต Abyssopelagic ที่นั่นไม่มีแสง อุณหภูมิน้ำใกล้ศูนย์องศา (แต่ไม่เป็นศูนย์) ความเค็ม 35 ppt ปรกติ แต่ความดันแตกต่าง ความดันเพิ่ม 1 เท่าทุกความลึก 10 เมตร ความดันที่ไททานิกประมาณ 380 เท่าของผิวโลก แรงกดจึงมหาศาล

คิดง่ายๆ คือพื้นที่เท่ากับแสตมป์ 1 ดวง รับน้ำหนักเท่ากับช้างหนึ่งตัว ช้างกับแสตมป์เป็นเพียงตัวอย่างให้เห็นภาพ แต่ความกดระดับนั้น หากโครงสร้างยานทนไม่ได้ เกิดระเบิด จะรุนแรงมหาศาล catastrophic implosion คือคำที่ใช้สำหรับเหตุการณ์แบบนั้น แรงกดดันจะทำลายทุกอย่างในเสี้ยววินาที ผู้จากไปแทบไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าจะเกิดระเบิด เพราะแรงดัน ขอให้ดวงวิญญานของทุกคนไปสู่สุคติครับ

ทะเลไทยมีเขตทะเลลึกในอันดามัน ไม่มีในอ่าวไทย เพราะอ่าวไทยตื้นมาก ทะเลอันดามันในส่วนของประเทศไทย (EEZ) ลึกสุดประมาณ 2 พันเมตร แต่ส่วนใหญ่อยู่ในเขต 1,000 เมตร การสำรวจทะเลลึกของไทยมีน้อยมาก เรียกว่าแทบไม่มีเลย เพราะต้องใช้อุปกรณ์ราคามหาศาล เรือสำรวจ ฯลฯ มีการสำรวจอยู่บ้าง โดยเป็นโครงการร่วมมือระหว่างประเทศ ในอนาคต หากเริ่มมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพื้นทะเลอันดามัน เช่น ปิโตรเลียม เราอาจเรียนรู้เรื่องนี้มากขึ้น

เพื่อนธรณ์เรียนรู้เรื่องทะเลลึกมากกว่านี้ได้ หากลงทะเบียนเรียนวิชา man&sea มก. เทอมนี้มีนิสิตลงทะเบียนแล้วเกือบ 2 พันคน น้องๆ ไม่ว่าคณะไหนไปลงทะเบียนได้ เรากำลังจะเปิดหมู่ใหม่สำหรับนิสิตภาคปรกติ เทอมนี้จะเน้นทะเลลึกเป็นพิเศษ เปิดเทอมคอร์สแรกเริ่มวันอังคาร อาจารย์ธรณ์สอนเอง 4 หมู่ 1,200 คน แล้วจะตามไปสอนหมู่อื่นๆ จนครบ เกินวัยเรียนแล้ว ? เป็นเพื่อนธรณ์ต่อไป จะนำเรื่องดีๆ จากท้องทะเลมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook