มาร์ค แจงสื่อเทศ! เขายายเที่ยง-แดงแรงพันยึดทรัพย์
"มาร์ค" แจงสื่อต่างประเทศ ชี้เขายายเที่ยงผิดว่าไปตามผิด ย้ำแก้ไขรธน.ต้องทำประชามติ แฉเสื้อแดงแรงขึ้นเพราะคดียึดทรัพย์ ยัน พบ "ป๋าเปรม" แค่อวยพรปีใหม่ ฮึ่มทหารแก่ซบเพื่อไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ถกเขายายเที่ยงนัดแรก "ป่าไม้" ตั้งอนุย่อยตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงถือครองที่ดินรวม 401 แปลงกำหนดแล้วเสร็จ 15 วัน
เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 14 ม.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย (FCCT) ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลตอนหนึ่งว่า ข้อสงสัยบนความขัดแย้งในสังคมไทยเรื่องสถานการณ์การเมืองนั้น เราจะไม่ทำให้ข้อขัดแย้งมาจำกัดการบริหารของรัฐบาล รัฐบาลเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็นในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ไม่ว่าเสื้อสีใดก็ตาม แต่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย หากจะมีการเอาใจผู้ประท้วงมันไม่ใช่ประเด็น เพราะตนยืนอยู่บนความถูกต้อง
"เช่น กรณีเขายายเที่ยง ผมก็ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบข้อร้องเรียนหากใครผิดก็ว่าไปตามผิด แต่ต้องไม่เสียอนาคตของประเทศหรือเสียประชาธิปไตยไทยเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง" นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตนมีความยืดหยุ่นและอดทนต่อข้อเรียกร้อง ที่ผ่านมีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนก็ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม แต่ตนเรียกร้องอย่างเดียวคือต้องมีการทำประชามติ แต่เรื่องนี้ล่มไปเพราะมีการแทรกแซงจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่วนกลุ่มที่เรียกร้องความเป็นธรรมในตอนนี้ ไม่ได้เรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่เรียกร้องตามความต้องการของคนคนเดียว วิธีนี้ไม่ได้อยู่ในประชาธิปไตยและไม่ส่งผลดีกับประเทศ อย่างไรก็ตามตนไม่ขัดข้องหากยุบสภา แต่ขอให้กติกาชัดและทุกฝ่ายมีสิทธิหาเสียง
"ปีนี้ไม่แน่ใจอนาคตทางการเมืองว่าจะเป็นเช่นใด แต่ผมยืนยันในหลักการของผมคือประเทศต้องมั่นคงและสามัคคีตามหลักการที่ผมวางไว้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากนั้นนายกฯเปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้ซักถาม โดยสื่อต่างประเทศถามว่า หากมีการเลือกตั้งแล้วทุกฝ่ายยอมรับกติกา รวมทั้งมีการทำประชามติจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้มีการเสนอแก้ไขมาตรา 190 และเรื่องเขตเดียวเบอร์เดียว แต่ยังมีอีกหลายมาตราที่เสนอแก้ไขและตนเห็นด้วย เช่น อำนาจของนักการเมือง หรือกฎหมายนิรโทษกรรมที่ควรปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่ว่าจะแก้ไขมาตราใดคนที่เห็นด้วยก็เห็นด้วย แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็ประท้วง ฉะนั้นการทำประชามติดีที่สุด เพราะเมื่อเดือน ก.พ. 2549 ทุกพรรคเห็นพ้องให้แก้รธน. 40 ที่มีช่องโหว่ ฉะนั้นการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องมีประชามติเพื่ออุดช่องโหว่
เมื่อถามถึงคดียึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณในวันที่ 26 ก.พ. มีมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยประเทศอย่างไร นายกฯ ตอบว่า ก่อนตัดสินคดีเชื่อว่าฝ่ายสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณจะสร้างกระแสกดดันและเคลื่อนไหวหนักขึ้น แต่ไม่ว่าก่อนหรือหลังการตัดสินคดีไม่ว่าคดีจะออกมาทางใด คนที่ออกมากดดันไม่มีความสำคัญเท่ากับการรับมือสถานการณ์ให้เกิดความเรียบร้อยในสังคม ไม่ว่ารัฐบาลจะประกาศพ.ร.บ มั่นคงหรือไม่ก็ตาม และตนยืนยันว่าไม่เคยมีใครเสียชีวิตจากกฎหมายฉบับนี้
เมื่อถามว่า เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เพื่ออะไรเพราะมีข่าวจากสื่อภาษาอังกฤษในไทยว่าพ.ต.ท.ทักษิณไปกู้เงินจากรัสเซียมาสู้คดี นายกฯ ตอบว่า ตนไปอวยพรปีใหม่ ส่วนเรื่องพ.ต.ท.ทักษิณตนไม่รู้ต้องไปถามสื่อเอง
เมื่อถามว่าบทบทของพล.อ.เปรมในรอบหลายปีมีบทบาทต่อการวางนโยบายของประเทศหรือไม นายกฯ กล่าวว่า พล.อ.เปรมเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตนยืนยันว่าปีที่แล้วตนไปพบพล.อ.เปรม สองครั้งคือช่วงปีใหม่และวันเกิดของพล.อ.เปรม และการพบเมื่อวาน (13 ม.ค.) ก็ไปอวยพรปีใหม่เท่านั้น
เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาภาคใต้ดูเหมือนไม่มีเอกภาพและทหารไม่เห็นด้วยและอาจเกิดการปฏิวัติ นายกฯ ตอบว่า การแก้ปัญหาจะไม่ใช้วิธีควบคุมหรือใช้อาวุธแต่จะใช้การพัฒนา ซึ่งเราเห็นในแนวทางเดียวกัน และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิวัติเลย เมื่อถามว่าทหารเกษียณตอนนี้ไปอยู่พรรคเพื่อไทยและมีลูกน้องหลายคน นายกฯ กล่าวว่า ไม่ว่าอยู่ฝ่ายใดก็เป็นสิทธิ์ แต่ผบ.ทบ.พูดชัดว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วพรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมในปัจจุบันจะชนะพรรคเพื่อไทยได้ นายกฯ กล่าวเพียงว่า มั่นใจว่าทำในสิ่งที่ดีกว่าเดิม แต่ไม่ว่าผลออกมาเช่นใดต้องเคารพการตัดสินของประชาชน เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณชอบพูดว่ารัฐบาลห้ามกลับประเทศ นายกฯ หัวเราะและตอบว่า เราอยากให้กลับ เพื่ดำเนินคดีทางกฎหมาย
ถกเขายายเที่ยงนัดแรก"ป่าไม้"ตั้งอนุย่อยตรวจสอบ
นายชลธิศ สุรัสวดี รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขและบรรเทาการบุกรุกพื้นที่เขายายเที่ยง อ . สีคิ้ว จ . นครราชสีมา เผยภายหลังประชุมคณะทำงานนัดแรก นานกว่าชั่วโมงครึ่งว่า ตามอำ นาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจาก ทส.คือให้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินบนเขายายเที่ยงทุกรายในระยะเวลา 60 วัน ซึ่งหากเริ่มต้นตั้งแต่ 14 ม.ค.นี้ ก็จะสิ้นสุดในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ดังนั้นที่ประชุมสรุปว่าจะตั้งคณะทำงานย่อย เพื่อเข้าไปตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงที่ดินทำกินนับตั้งแต่ช่วงปี 2520 เพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าทั้ง 401 รายมีการเปลี่ยนแปลงการถือครอง รายชื่อ คุณสมบัติ และรูปแบบของผังแปลนที่ได้รับการจัดสรรไปอย่างไรภายในระยะเวลา 15 วัน
นายชลธิศ กล่าวอีกว่า สำหรับคณะทำงานย่อยชุดนี้มีนายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผู้อำนวย การสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 จ.นครราชสีมา เป็นประธานร่วมกับทางจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 7 คน มีระยะเวลาตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าว 15 วัน พร้อมกันนี้คณะทำงานชุดใหญ่ก็เตรียมจะลงพื้นที่ในวันที่ 21 ม.ค.นี้ โดยจะตรวจสภาพข้อเท็จ จริงบนเขายายเที่ยงและประชุมร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อให้ได้ข้อมูลประกอบการพิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่าระยะเวลา 60 วันจะเพียงพอต่อการตรวจสอบหรือไม่ เพราะนายอภิสิทธิ์ มองว่าอาจจะมากไป นายชลธิศ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือต้องตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ ดินบนเขายายเที่ยงที่มีการถือครองทำกินและที่อยู่อาศัยทั้ง 401 แปลง และต้องหามาตรการเพื่อใช้เป็นแนวทางของทั้งประเทศ
" ยอมรับว่าการที่ต้องตามข้อมูลแปลงที่มีจัดผังให้กับชาวบ้านที่มีสิทธิทั้ง 401 รายในช่วงปี 2520 อาจต้องใช้เวลาบ้างกว่าจะหาให้ได้ครบทั้งหมด แม้ว่าในช่วงปี 2543 จะเคยมีการเข้าไปรังวัดแปลงที่ดินบนเขายายเที่ยงไว้บ้างแล้วก็ตาม ทั้งนี้คณะทำงานฯ ต้องตามดูทั้งตัวบุคคลตั้ง แต่คนแรกที่ได้รับมอบที่ดินที่มีการจัดผังมติครม.วันที่ 29 เม.ย.2518 ให้มีการจัดสรรที่ดินบริเวณเขายายเที่ยงที่มีสภาพเสื่อมโทรมภายใต้โครงการหมู่บ้านป่าไม้ รวม 401 แปลง และจะตามไปจนถึงบุคคลสุด ท้ายที่อาจจะเข้าไปถือครองในปัจจุบัน " รองอธิบดีกรมป่าไม้ ระบุและว่า ส่วนภายหลังตรวจสอบแล้วจะเปิดเผยรายชือว่าใน 401 รายมีชื่อใครอยู่บ้างนั้นจะส่งมอบให้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีทส.เป็นผู้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่ตรวจพบว่าที่ดินที่จัดสรรไปมีการเปลี่ยนแปลงการถือครองไปให้ กับบุคคลอื่น โดยขัดต่อมติครม. 29 เม.ย.18 กรมป่าไม้จะดำเนินคดีกับบุคคลนั้น ได้ทันทีหรือไม่ ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาฯ กล่าวว่า ขอให้คณะทำงานชุดนี้ได้ทำงานก่อน ทั้งนี้ยอมรับว่า ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงและหามาตรการที่กำลังจะออกมาที่จะนำไปใช้ กับพื้นที่อื่นด้วย ส่วนกรณีคำถามที่ว่าหากอดีตนายกรัฐมนตรี คืนพื้นที่แล้วจะมีผลต่อทางคดีหรือมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่นั้น ขณะนี้กรมป่าไม้ ยังรอสำนวนคดีฉบับเต็มจากอัยการอยู่ และถ้าได้รับแล้วก็อาจจะมีตั้งคณะทำงานดูสำนวนจากอัยการที่ส่งมาอีกครั้งหนึ่ง