กรณ์ สั่งลุยภาษีทรัพย์สิน

กรณ์ สั่งลุยภาษีทรัพย์สิน

กรณ์ สั่งลุยภาษีทรัพย์สิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรณ์ วางนโยบาย ปี 2553 รื้อโครงสร้างภาษี และคลอดภาษีที่ดิน ลดความเหลื่อมล้ำทรัพย์สิน และนำรายได้ 1-2% ตั้งธนาคารที่ดิน กว้านซื้อที่ให้คนจน

ขณะ เดียวกันเศรษฐกิจดีขึ้น เก็บภาษีเกินเป้าเล็งลดเงินกู้ โครงการไทยเข้มแข็ง 1 แสนล้านบาท หันมาเน้นลงทุนผ่านงบประมาณมากขึ้น และตั้ง "กองทุนเจ้าหนี้" ต่อยอดดูแลหนี้นอกระบบ" ชี้เจ้าหนี้ขึ้นทะเบียนแล้ว 5 พันราย

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในปี 2553 เป็นการเริ่มต้นที่ "สดใส" กว่าต้นปี 2552 หลายเท่า เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจหลายด้านส่งสัญญาณที่ชัดเจน สะท้อนการฟื้นตัว ผิดจากปีที่แล้ว ที่ต้องวิตกกับวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งไทยกระทบหนักไม่แตกต่างจากประเทศอื่น สะท้อนผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ติดลบ 3%ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ปีนี้คาดการณ์กันว่าจีดีพีจะกลับมาบวกอยู่ระดับ 3-4% พร้อมๆ กับแผนการปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ ที่อาจจะเสี่ยงกับผลกระ-ทบทางการเมือง โดยเฉพาะ "ภาษีทรัพย์สิน" หรือร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ....ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี 1-2 เดือนนี้

ความสดใสแรกคงหนีไม่พ้นความภูมิใจ กับรางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลกแห่งปี 2010 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเชียแห่งปี2010 โดยนิตยสาร The Banker ของอังกฤษ ในกลุ่ม Financial Times ซึ่งเป็นรัฐมนตรีคนแรกของไทย ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติทั้งสองนี้ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2553

"เป็นผลสำรวจความคิดเห็นที่ทางนิตยสารได้รวบรวม มา และเหตุผลสำคัญ น่าจะมาจากความสำเร็จในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะทุกประเทศออกนโยบายเหมือนๆ กัน แต่หัวใจอยู่ที่การนำไปปฏิบัติ ที่สำคัญ กรณีของไทยมีอุปสรรคและข้อจำกัดด้านเสถียรภาพรัฐบาลและความขัดแย้ง แต่ก็ยังดำเนินนโยบายเชิงรุกสำเร็จไปได้"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจและเครือเนชั่น" เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา เล่าที่มาที่ไปของรางวัลอันทรงคุณค่าแก่เขาและประเทศไทย ในส่วนรางวัลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโลก เป็นการประเมินจากผู้ชนะใน 5 ทวีปประกอบด้วย นายลูอิส คาร์เรนซ่า จากประเทศเปรู ที่ได้รับรางวัลรัฐมนตรีคลังแห่งอเมริกา นายยาเซค โรสโตฟสกี้ จากประเทศโปแลนด์ ตำแหน่งรัฐมนตรีคลังแห่งยุโรป นายชาร์ส โคฟี ดีบี้ จากประเทศไอวอรี่โคสต์ รัฐมนตรีคลังแห่งแอฟริกา นายยูซุฟ บูโทรส กาลี จากประเทศอียิปต์ รัฐมนตรีคลังแห่งตะวันออกกลางและนายกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะรางวัลรัฐมนตรีคลังแห่งเอเชีย

4 ปัจจัยพระเอกพยุงเศรษฐกิจปี 2552

"ที่ผ่านมา มี 4 ปัจจัยถือว่าเป็นฮีโร่ในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาและกลไกตลาดทำงานไม่สมบูรณ์ เพราะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ให้ติดลบมากเกินไป โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่เข้ามาปล่อยกู้ในระบบในยามที่แบงก์เอกชนไม่กล้าปล่อยกู้"

ปัจจัยแรก ภาคการส่งออกปีที่ผ่านมาเลวร้ายสุดติดลบ30% แต่ช่วงปลายปีพลิกเป็นบวกได้ ช่วยกอบกู้เศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจัยที่สอง การท่องเที่ยวจากที่สถาน-การณ์ย่ำแย่มาก จากปัญหาการเมืองเศรษฐกิจ ปัญหาไข้หวัด ต่อเนื่องมาจากปิดสนามบิน แม้รัฐจะเข้าไปช่วยระดับหนึ่งแต่การช่วยเหลือกันเองของภาคเอกชน ทำให้นักท่องเที่ยวปีที่ผ่านมาอยู่ระดับ 14 ล้านคน โดยเฉพาะเดือน ธ.ค.เข้ามา 1.6 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ และการส่งสัญญาณจากรัฐบาลออกไป

ปัจจัยที่สาม มาจากความชัดเจนในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ที่เน้นรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้ประชาชนให้จ่ายเงิน ปัจจัยที่ 4 การทำหน้าที่ได้ดีของสถาบันการเงินของรัฐที่ร่วมกันปล่อยสินเชื่อเข้าระบบ กว่า 1.34 ล้านล้านบาท รวมถึงการสนองนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลทั้งการประกันรายได้เกษตรกร การปล่อยกู้ของธนาคารประชาชน

นโยบายปี 2553 เน้น 3 ด้านชูปฏิรูปภาษี

นายกรณ์ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำงานในปี 2553 ว่า หลังจากปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายระยะสั้นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งการกระตุ้นการบริโภค การจ่ายเช็คช่วยชาติ การเร่งเบิกจ่ายเงินภาครัฐให้เงินกลับเข้าระบบและถึงมือประชาชนโดยเร็ว ดูได้จากเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 ความเชื่อมั่นเริ่มกลับคืนมา การบริโภคการลงทุนเริ่มกระเตื้อง

สำหรับปีนี้นโยบายด้านมหภาครัฐบาลจะเน้น 3 ด้านดูแลภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และแนวทางของภาครัฐในส่วนการดูแลภาคประชาชน จะวางกรอบนโยบายที่นำไปสู่การให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการทำให้โครงสร้างภาษีมีความยุติธรรม อาทิเช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะนำมาใช้แทนภาษี

โรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ คาดภายใน 1-2 เดือนนี้จะเสนอครม.ได้

ในหลักการจะยกเว้นภาษีให้กลุ่มประชาชนที่มี ทรัพย์สินน้อย เบื้องต้นที่คิดไว้ คือ มูลค่ารวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท อาจจะไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งจะครอบคลุมประชาชนถึง 90%ไม่ต้องมีภาระภาษีดังกล่าว และยกเว้นให้กลุ่มเกษตรกรที่ถือครองที่ดินในระดับปานกลาง ที่สำคัญ การยกเว้นดังกล่าวทำให้รัฐเสียรายได้ไปเพียง 10% เท่านั้น แต่เป็นการลดภาระให้คนส่วนใหญ่

เขากล่าวว่า ภาษีที่ดินไม่ ได้ออกแบบมาเพื่อเป็นภาระแก่คนจน ยอมรับว่าเป็นภาษีที่ดินเป็นละเอียดอ่อน จึงต้องผลักดันให้ออกมาใช้ก่อนในเบื้องต้น โดยระยะแรกไม่ได้หวังว่าจะทำให้มีรายได้เข้ามามากขึ้น ยังมีระยะเวลาปรับตัวอีก 2 ปีกว่าภาษีจะมีผลบังคับใช้จริง มั่นใจว่าหากรัฐบาลยังอยู่จะผลักดันได้สำเร็จ เพราะต้องการ แก้ปัญหาที่มาของเม็ดเงินภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้จ่าย จากที่ผ่านมา 90% มาจากผู้มีรายได้ไม่ใช่มาจากความมั่งคั่งของทรัพย์สิน ซึ่งไม่ยุติธรรมเท่าไร

"หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วรายได้มาจาก 2 ส่วนอย่างละครึ่ง หรือค่อนไปทางภาษีทรัพย์สินมากกว่า ส่วนภาษีมรดกยังไม่ทำในปีนี้ เพราะยังไม่มั่นใจว่าภาษีจะมีผลต่อการจัดเก็บจริงและผลการศึกษาที่ออกมาก็ ชี้ไปทางปัญหาอุปสรรคและความไม่คุ้มค่าในการจัดการมากกว่าผลดีที่รัฐจะได้ รับ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อาจมีกระแส ต่อต้านมากกว่า เมื่อเป็นเรื่องใหญ่จึงควรทำทีละเรื่องและภาษีที่ดิน ดูจะยากกว่า และน่าจะเป็นผลดีทางการเมืองมากกว่า"

ตั้งธนาคารที่ดินกว้านซื้อที่แบ่งให้คนจนเช่า

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดในการนำเงินรายได้จากภาษีที่ดิน1-2% มาเป็นเงินทุนตั้งธนาคารที่ดิน เพื่อรองรับการซื้อที่ดินที่ผู้ถือครองต้องการขายออกมาเพราะไม่อยากเสียภาษี โดยจะนำมาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินในราคาถูก เพื่อให้ต่อไปมีการนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์สร้างความคุ้มค่าทาง เศรษฐกิจ ซึ่ง น่าจะเป็นผลบวกกับรัฐบาล และไม่กระทบฐานเสียง เพียงแต่ต้องชี้แจงประชาชนได้

นายกรณ์ กล่าวว่าการดูแลภาคประชาชน ยังรวมไปถึงการผลักดันตั้งกองทุนการออมเพื่อการชราภาพ (กอช.) คาดจะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้ กอช.จะเป็นกองทุนสำหรับแรงงานนอกระบบ ที่มี 25 ล้านคน อาทิเช่น เกษตรกร พ่อค้า แม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ คนขับแท็กซี่ คาดว่ารัฐจะใช้เงินจ่ายสมทบปีละ 1 หมื่นล้านบาท

นอกจากนั้น ยังต้องดูแลให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น หลังจากที่เดินหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบที่มีผู้มาลงทะเบียนแล้วทะลุ 1 ล้านราย ตามที่คาดไว้และจะปิดรับลงทะเบียนในเดือน ม.ค.นี้ ระหว่างนี้กำลังกลั่นกรองข้อมูล เพื่อเริ่มเจรจาหนี้สินกลุ่มที่เป็นหนี้ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งมีประมาณ 2 แสนราย โดยการโอนหนี้นอกระบบเข้ามาสู่ระบบของกลุ่มนี้ทำได้เร็ว ถือเป็นการช่วยเหลือประชาชนจากที่เคยเสียดอกเบี้ยเดือนละ 20-30% มาจ่ายเพียง 1% หากเทียบกับมูลหนี้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อราย ก็น่าจะใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท จะมีส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายค่อนข้างมาก

ตั้งกองทุนเจ้าหนี้ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ

สำหรับการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินนั้น ตามแผนแม่บทการเงินที่หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งไมโครไฟแนนซ์ เพื่อช่วยประชาชน15% ที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงิน จะเร่งศึกษาโครงสร้างที่มีอยู่เดิมทั้ง สัจจะออมทรัพย์ หรือกองทุนต่างๆ หรือเปิดช่องให้เจ้าหนี้นอกระบบตั้งเป็น "กองทุน" เพื่อพัฒนาเป็นไมโครไฟแนนซ์อาจมีเอเย่นต์ไปเก็บเงินกู้แทนแต่ต้องทำตามกติกา อาทิเช่น เก็บดอกเบี้ยไม่เกินกว่าเพดานที่กำหนด ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นไปได้

หาช่องให้เอกชนเข้าถึงแหล่งทุน

ในส่วนของการดูแลภาคธุรกิจว่าในส่วนที่เกี่ยว ข้องกับกระทรวงการคลัง จะเน้นถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ เพราะหากต้นทุนของเอกชนไทยสูงกว่าต่างชาติ 1-2% ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเป็นที่มาของการออกแผนพัฒนาตลาดเงินตลาดทุน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น

นอกจากนั้น จะยึดแนวทางให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ในรูปแบบ PPP (public-private partnership) เพราะที่ผ่านมา การให้สัมปทานกับเอกชนทำให้รัฐเสียประโยชน์ อาทิเช่น ได้ส่วนแบ่งน้อยกว่าความเป็นจริง หรือไม่มีอำนาจในการกำหนดราคาค่าบริการต่างๆ ได้ โดยจะเริ่มจากโครงการรถไฟฟ้าก่อน เพราะรัฐใช้เงินลงทุนเยอะมากประมาณ 90% ต่อไปจะให้เอกชนเข้ามาเป็นผู้ให้บริการเดินรถ รวมทั้งจัดซื้อรถโดยรัฐจะให้ผลตอบแน่นอน ขณะที่รัฐจะเป็นผู้กำหนดอัตราค่าโดยสารเอกชนจึงไม่ต้องห่วงว่าจะขาดทุนหรือ กำไรจากการใช้บริการของประชาชน

"สาเหตุที่รัฐต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบประมาณลงทุนมีค่อนข้างจำกัด ขณะที่งบรายจ่ายประจำและส่วนที่เป็นภาระในระยะ 5-10 ปีมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิเช่น เบี้ยยังชีพคนชรา โดยปีงบ 2554 ที่กำลังจัดทำก็จะมีงบลงทุนไม่ถึง 20% ส่วนปี 2553 ที่ถึง 20% เพราะรวมเงินนอกงบเช่นเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 4 แสนล้านบาท"

นายกรณ์ กล่าวว่าจากแนวโน้มการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ อาจส่งผลให้การกู้ยืมชดเชยขาดดุลลดลงและรัฐบาลจะลดการใช้เงินนอกงบ และหันมาใช้เงินที่มาจากรายได้มากขึ้นแทน หมายความว่า ขนาดของเม็ดเงินในโครงการไทยเข้มแข็ง ที่จะลงทุนไม่เปลี่ยนแต่ที่มาของเงินจะเปลี่ยน โดยจากเดิมที่คิดว่าจะใช้เงินงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท และกู้อีก 3 แสนล้านบาท อาจจะลดการกู้ลง 1 แสนล้านบาท แล้วมาเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในงบประมาณมากขึ้น ตามทิศทางเศรษฐ-กิจที่ฟื้นตัวและการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ทบทวนภาษีนิติบุคคล-บุคคลธรรมดา

สำหรับโครงสร้างภาษี นายกรณ์ ระบุว่า คงต้องพิจารณาทั้งระบบให้เป็นแพ็คเกจเดียวกัน ทั้งนิติบุคคล บุคคลธรรมดา และภาษีมูลเพิ่ม ยอมรับว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในระดับ 30% สูงกว่าประเทศคู่แข่ง แต่อัตรา 30% เสียจริงอาจแค่ 20% เพราะมีการให้สิทธิประโยชน์ในการหักลดหย่อนได้มาก

"จุดยืนที่เคยประกาศไว้ก็มีความเป็นไปได้ ที่จะปรับลดลงมาได้แต่ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา เช่นเดียวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็อาจปรับลดลงมา ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราเดิม10% ในหลักการควรจะเท่ากับที่เคยจัดเก็บเดิม"

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook