นายกฯ ไม่ส่งตีความปม 3บิ๊ก ตร.กลับรับราชการ
"อภิสิทธิ์" งัด "สุเทพ" ขวาง 3 นายพลตำรวจกลับเข้ารับราชการ ลั่นจะไม่ส่งให้ศาล รธน.ตีความ กรณี ก.ตร.ยืนมติอุ้ม "3 นายพลตำรวจ" คดีสลายม็อบ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) กลับมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (อดีต ผบ.ตร.) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาตำรวจนครบาล (อดีต ผบช.น.) ในคดีสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ในคดีผู้ชุมนุม 2 กลุ่มปะทะกัน ที่ จ.อุดรธานี โดยให้ พล.ต.ท.สุชาติ และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ กลับเข้ารับราชการ โดยระบุว่ายังไม่เห็นรายละเอียด ได้ฟังจากข่าวเท่านั้น
"เท่าที่ฟังจากข่าวเหมือนต้องการให้ ครม.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ ครม.คงจะไม่ส่ง เพราะได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ไม่มีประเด็นใดที่ต้องตีความ อย่างไรก็ตาม ผมจะดูจากที่ ก.ตร.รายงานมาอีกครั้งว่ามีเหตุผลอย่างไร แต่มติ ก.ตร.จะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้" นายกรัฐมนตรี กล่าวและว่า เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในลักษณะคล้ายกันนี้ไปแล้ว สามารถเทียบเคียงกันได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.เคยมีมติให้ไล่ออกตำรวจทั้ง 3 นายไปแล้ว การที่ ก.ตร.ทำแบบนี้คล้ายกับ ป.ป.ช.ไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ถึงจุดนั้น ต้องดูมติก่อนว่าคืออะไร ไม่ว่า ก.ตร.หรือ ผบ.ตร. ไม่สามารถทำอะไรนอกเหนือรัฐธรรมนูญได้ ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายในเดือนนี้ จะได้ ผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความเป็นไปได้
ป.ป.ช.แนะ ก.ตร.หยุดช่วยอดีตบิ๊กสีกากี
น.ส.สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช. ในวันที่ 19 ม.ค. โดยก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.เคยทำหนังสือ เพื่อขอมติอย่างเป็นทางการของที่ประชุม ก.ตร. เพื่อที่จะนำมาพิจารณาในประชุม ป.ป.ช. แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว
น.ส.สมลักษณ์ ย้ำว่า อดีตนายตำรวจทั้ง 3 คน ไม่สามารถกลับเข้ามาทำหน้าที่ได้ เนื่องจากในอดีตเคยมีคดีลักษณะดังกล่าวมาแล้ว และเมื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ ให้ยืนตามมติของ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นการทำงานภายใต้ขอบเขต พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดให้ทบทวนมติ ก.ตร.แล้ว ที่ประชุม ก.ตร. ก็น่าจะมีแนวทางเดียวกับนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อยังยืนยันตามมติเดิม ก็ไม่เป็นอะไร และไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกคนก็มีเหตุผลด้วยกันทั้งนั้น
"ดังนั้นการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการคลี่คลายปัญหาข้อกฎหมาย ที่มีความเห็นต่างระหว่าง 2 องค์กร และจะทำให้แนวทางการทำงานของ ป.ป.ช. และผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดมีความชัดเจน และใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ยืนยันว่า ป.ป.ช.จะไม่ทะเลาะกับองค์กรใด และไม่เคยมีขัดแย้งกับอดีตนายตำรวจ ที่ถูกชี้มูลความผิดมาก่อน"
น.ส.สมลักษณ์ กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยหาก ก.ตร.จะให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด แต่เห็นว่า ก.ตร. ไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ควรปล่อยให้ผู้ที่ถูกชี้มูลความผิดดำเนินการ โดยยื่นเรื่องไปยังศาลปกครอง เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาด เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และทำให้ทุกอย่างราบรื่น ไม่กลายเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างองค์กร คือ ป.ป.ช. และ ก.ตร.
พท.ติงนายกฯ อย่านำปม ตร.เป็นเกมการเมือง
ด้านนายการุณ โหสกุล ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงมติ ก.ตร.ว่า เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งเป็นประธาน ก.ตร. กลับมีมติสวนทางกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาโดยตลอด แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่ในรัฐบาล ซึ่งเป็นพรรคเดียวกันยังคุยกันไม่เข้าใจ ทำให้ประชาชนไม่สามารถหวังอะไรได้
ทั้งนี้ ขอตั้งข้อสังเกตว่า นายสุเทพกำลังซื้อใจตำรวจด้วยวิธีนี้หรือไม่ และพรรคเพื่อไทยเชื่อว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นการปูทางในการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ตัวจริง จึงขอเรียกร้องไปยังนายอภิสิทธิ์ ว่าอย่านำตำรวจทั่วประเทศมาเล่นเกมการเมือง