อัปเดต “สมรสเท่าเทียม” และกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ไทยกับ “ครูธัญ ก้าวไกล”
Highlight
- ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ไม่ใช่เป็นการเขียนกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการร่างเพื่อ “แก้ไข” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระสำคัญในการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการสมรส เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแก่บุคคลทุกเพศ
- แม้ว่าร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม จะถูกนำมาพิจารณาวาระ 2 ไม่ทันก่อนมีการยุบสภา แต่ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ยืนยันว่าสถานะของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็น “กฎหมายค้างพิจารณา” และพร้อมที่จะดึงกลับมา เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่
- นอกจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว พรรคก้าวไกลยังพร้อมที่จะผลักดันกฎหมายรับรองเพศ คำนำหน้านามตามสมัครใจ กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล กฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศ กฎหมาย Sex worker และการศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียน
- หากกฎหมายเพื่อ LGBTQ+ เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย จะเอื้อประโยชน์ให้หลายฝ่าย ทั้งเรื่องความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ สร้างเศรษฐกิจที่ดี นานาชาติให้การยอมรับประเทศไทย และเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
เดือนมิถุนายนหวนกลับมาอีกครั้ง พร้อมกับความเคลื่อนไหวของ “กฎหมาย” เพื่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ไทย ที่ขยับเข้าใกล้ “เส้นชัย” เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกคนอีกนิด ถึงแม้ว่ารัฐสภาจะหมดสมัยไปก่อนที่กฎหมาย “สมรสเท่าเทียม” จะผ่านวาระที่ 2 แต่ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ หรือ “ครูธัญ” ว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ก็ไม่ยอมแพ้ และพร้อมเกินร้อยที่จะผลักดันร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เข้าสู่สภาทันทีที่มีการเปิดสมัยประชุม เช่นเดียวกับร่างกฎหมายอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของ LGBTQ+ ทุกคนในประเทศ
ในโอกาสเดือนไพรด์แห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ Sanook พูดคุยและอัปเดตความเคลื่อนไหวของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม รวมไปถึงกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่ครูธัญจะนำเข้าสู่สภา และหวังว่าจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของทุกคนให้ดีขึ้น
สมรสเท่าเทียมอยู่ตรงไหนแล้ว?
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่…) พ.ศ. … หรือ “ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม” ถูกนำเสนอสู่รัฐสภาโดยครูธัญ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 โดยไม่ใช่เป็นการเขียนกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการร่างเพื่อ “แก้ไข” ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ โดยเฉพาะ “บรรพ 5 ครอบครัว” ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2519 มีสาระสำคัญในการแก้กฎหมายเกี่ยวกับ “การสมรส” เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแก่ “บุคคลทุกเพศ” ซึ่งกฎหมายที่ใช้กันในปัจจุบันยังจำกัดว่า การสมรสทำได้เฉพาะกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเป็น “ชายและหญิง”
“สมรสเท่าเทียมยื่นเข้าสู่สภาครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ หลังจากนั้นก็บรรจุเป็นวาระ รอมาจนถึงปี 2565 ได้อภิปรายเป็นครั้งแรกตอนเดือนกุมภาพันธ์ ช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ช่วงนั้นก็มีการเบรกของคณะรัฐมนตรี ที่เอาร่างสมรสเท่าเทียมไปพิจารณาศึกษา 60 วัน แล้วก็กลับเข้าสภาอีกครั้ง ตอนเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ผ่านวาระ 1 พอดี”
“มีการทำงานในคณะกรรมาธิการจากทุกพรรค จากกฤษฎีกา จากรัฐมนตรีที่มานั่งเป็นประธาน แล้วก็จากหน่วยงานรัฐ เสร็จออกมา และบรรจุวาระที่จะเข้าพิจารณาวาระที่ 2 แต่ตอนนั้นมีกฎหมายกัญชากัญชงขวางอยู่ สมรสเท่าเทียมจึงอยู่ในสถานะที่ไปต่อไม่ได้ จนกระทั่งยุบสภา แต่สถานะของกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็น “กฎหมายค้างพิจารณา” และพร้อมที่จะดึงกลับมา เมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่”
กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
ไม่ใช่แค่ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม เท่านั้นที่ทางพรรคก้าวไกลจะผลักดันเข้าสู่รัฐสภา แต่ครูธัญระบุว่ายังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอีกหลายตัวที่จะช่วย “ยกระดับ” ชีวิตของคนไทยให้ดีกว่าเดิม
“กฎหมายรับรองเพศ คำนำหน้านามตามสมัครใจ ก็เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่พรรคก้าวไกลจะผลักดันเข้าสู่สภาแน่นอน หลักการของมันจะพลิกมุมคิดเลย เพราะปกติเวลาเราเกิดมา รัฐจะบอกว่าเธอคือเพศชาย เธอคือเพศหญิง แต่กฎหมายนี้ครูเอามาจากแนวคิดของมอลตา อาร์เจนตินา ที่ว่าด้วย “เพศคือเจตจำนง” เราคือคนบอกเพศของตัวเราเอง ไม่ใช่รัฐ”
กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เป็นกฎหมายที่ยื่นโดยภาคประชาชนในสภาชุดที่แล้ว จะถูกนำมาผลักดันเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการพิจารณาบังคับใช้ โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เช่นเดียวกับกฎหมายต่อต้านความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิงและ LGBTQ+ ก็จะถูกนำมาพิจารณาใหม่ เพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยกับคนทุกเพศ
“อีกประเด็นที่สำคัญก็คือเรื่อง sex worker หรืออาชีพบริการทางเพศ เพราะสถานการณ์ของ sex worker ถูกรีดไถ ถูกเอาเปรียบ ไม่ได้รับความเป็นธรรม และที่สำคัญไม่มีกฎหมายคุ้มครองเขา อันนี้ต้องผลักดันแน่นอน รวมไปถึงการศึกษาเรื่องเพศ ที่เราจะเริ่มจากหน่วยงานรัฐก่อน คือเราต้องพยายามเปลี่ยนแปลงหลักสูตรแกนกลางด้วย เพราะสิ่งที่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก จะทำให้เรามีความเกลียดกลัวโดยไม่รู้ตัว และจะแก้ไขได้ก็คือต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่หลักสูตรการศึกษา”
แรงเสียดทานของกฎหมายเรื่องเพศ
ในขณะที่ประชาชนหลายกลุ่มออกมาแสดงความยินดีและเห็นด้วยกับการผลักดันร่างกฎหมายเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่แสดงความไม่พอใจ และไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา หรือถูกบังคับใช้จริง ซึ่งครูธัญถือเป็น “แรงเสียดทาน” ที่ทุกการเปลี่ยนแปลงต้องพบเจอ
“ครูคิดว่าสมรสเท่าเทียมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย เพราะมันเป็นเรื่องของความรักที่เกิดขึ้นกับทุกคน สมรสเท่าเทียมจึงเป็นประเด็นที่ต้องบอกว่าไม่ได้เป็นเรื่องหนักใจในการขับเคลื่อน หรือสร้างความเข้าใจสู่สังคม แต่เรื่องรับรองเพศ คำนำหน้านามตามสมัครใจ มันจะมีชุดความคิดที่แบบว่า กลัวกะเทยหลอก อันนี้เป็นสิ่งที่คลาสสิกมากเลย แล้วคนที่ถามก็จะเป็นผู้ชาย หรืออย่างเช่นจะเกิดความสับสน ทำให้เกิดอาชญากรตามตัวไม่ได้ เกิดความไม่ปลอดภัยในสังคม ต่าง ๆ เหล่านี้”
“เราอยู่ในประเทศที่มีการเรียนเรื่องสองเพศ และระบบสองเพศมันแข็งตัวมากๆ เพราะฉะนั้น เขาจึงมีความกังวล ความกลัว มันก็เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย ครูคิดว่าเรื่องนี้สื่อต้องเริ่มพูดเยอะ เริ่มต้องให้ความสำคัญเยอะ เริ่มต้องทำเวทีถกเถียงกัน ได้เปิดประเด็น เพราะว่าครูมีคำตอบหมด แต่บางครั้งเวลาคนเขามีความกลัวแล้ว เขาก็ไม่ฟัง ซึ่งเราก็อยากให้ลองมองกลับกัน เพศเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน คือทุกคนควรกำหนดเพศตัวเองได้”
รัฐสวัสดิการเรื่องเพศ
ก่อนหน้านี้ เกิดประเด็นถกเถียงบนโลกออนไลน์ถึงประเด็นเรื่องสวัสดิการการเปลี่ยนเพศ ที่ประชาชนบางกลุ่มมองว่าควรถูกจัดเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องเข้ามาดูแล ในขณะที่อีกกลุ่มก็ให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ที่รัฐไม่ควรใช้เงินของประเทศมาช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ครูธัญก็แสดงความคิดเห็นว่าเรื่องนี้อาจจะต้องมีการพูดคุยกันกับอีกหลายภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่การเปลี่ยนเพศถือเป็น “สิ่งสำคัญ” สำหรับปัจเจก และไม่ควรถูกมองข้าม
“เรื่องสุขภาพเพศหรือสวัสดิการการเปลี่ยนเพศ ทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายรับรองเพศที่กำลังจะยื่นเข้าสู่สภา กฎหมายรับรองเพศไม่ใช่แค่เปลี่ยนคำนำหน้า แต่มันจะเปลี่ยนประชากรศาสตร์ ข้อมูลประชากรศาสตร์ ว่าเรามีผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน มี LGBTQ+ กี่คน เพื่อจะออกแบบที่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเพศ พูดถึงในเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรืออื่น ๆ เราต้องประมาณงบประมาณให้ถูก”
“ถ้าถามถึงสวัสดิการเรื่องการเปลี่ยนเพศ มันเป็นเรื่องดราม่าอยู่แล้ว เพราะมันจะมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มองว่าการข้ามเพศ คุณเลือกเอง เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง แต่ในมุมของ transgender เขาบอกว่าเขาไม่ได้เลือก เขาเป็นเขา นั่นหมายถึงว่าเมื่ออัตลักษณ์ของเขาเป็นผู้หญิง เขาจำเป็นต้องเปลี่ยนร่างกายเพื่อให้ตรงกับอัตลักษณ์ของเขา มันเหมือนเวลาที่เราตื่นขึ้นมา แล้วเราใส่รองเท้ากลับข้าง ออกนอกบ้าน เราจะรู้สึกว่าเราไม่เป็นตัวเอง หรือเหมือนเราออกนอกบ้าน แล้วใส่เสื้อกลับด้าน เราก็จะรู้สึกไม่เป็นตัวเอง นั่นคือความรู้สึกของ transgender เขาไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นตัวเขาเอง เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนเพศจึงไม่ได้ทำเพื่อความสวยงาม จึงต้องมีการพูดคุยกันหลายฝ่ายว่าทางออกไหนจะดีที่สุด”
สร้างประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน
หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 พรรคก้าวไกลกลายเป็น “ผู้ชนะ” การเลือกตั้ง และได้สิทธิ์ในการจัดตั้งรัฐบาล จากบทบาทฝ่ายค้านสู่การเป็นฝ่ายรัฐบาลที่ต้องกำหนดกฎหมายเพื่อประชาชน แม้จะดูเป็นเส้นทางที่ยากลำบากอยู่บ้าง แต่ครูธัญก็ยืนยันว่าจะทำงานหนักอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันร่างกฎหมายที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศและทุกคน
“มีหลายเรื่องที่ครูอยากสร้างสรรค์ขึ้น ครูก็จะใช้สภาเป็นพื้นที่ในการทำให้เกิดขึ้น ถามว่าครูเครียดอะไรไหม ครูไม่เครียดนะ เพราะครูตรงไปตรงมา ประชาชนเลือกเราเข้ามาทำงาน เราก็จงทำงาน แล้วครูคิดว่าคนที่ไม่ตรงไปตรงมาต่างหากที่จะเป็นปัญหา”
“ถ้ากฎหมาย LGBTQ+ สมรสเท่าเทียม หรือรับรองเพศเกิดขึ้น มันจะเอื้อประโยชน์ให้หลายฝ่าย ง่าย ๆ คือในโรงเรียน เด็กที่เป็นกะเทยจะไม่โดนล้ออีกแล้ว เพราะมีกฎหมายรองรับ บทเรียนในโรงเรียนก็ต้องเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้น ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายเรื่องเพศจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในรั้วโรงเรียน ต่างชาติจะยอมรับเราในฐานะที่เราเคารพสิทธิมนุษยชน ประเทศเราก็จะเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ หรือจะเกิดเศรษฐกิจที่ดี คนสร้างครอบครัว คนทำประกันชีวิตให้กันได้ เกิดการท่องเที่ยว LGBTQ+ Destination จริง ๆ ครูคิดว่ามันมีแต่บวกๆ เพราะฉะนั้นมันต้องดีอยู่แล้ว” ครูธัญกล่าวปิดท้าย
อัลบั้มภาพ 16 ภาพ